คิดเห็นแชร์ : อยู่ในตลาดการเงินร้อนยังกับ F.I.R.E.

ย้อนกลับไปต้นปี นักลงทุนแทบทั้งตลาดหวังว่าปี 2022 นี้จะเป็นปีแห่งการก้าวผ่านโควิด Lockdown เศรษฐกิจฟื้นตัว มีนโยบายการเงินผ่อนคลายช่วยหนุน นำไปสู่การลงทุนที่สดใส

แต่สิ่งที่พบกลับไม่ได้เป็นไปตามนั้น

5 เดือนที่ผ่านมา เราเจอทั้งความเสี่ยงสงคราม เงินเฟ้อสูง Lockdown ในจีน และนโยบายการเงินที่เข้มงวด สินทรัพย์หลักเกือบทุกอย่างปรับตัวลงอย่างหนัก

เหตุการณ์นี้นอกจากจะย้ำเตือนว่าไม่ควรประมาท ก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ตลาดกำลังสอนเราว่า การวิเคราะห์และเตรียมกลยุทธ์รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับนักลงทุนทุกคน

Advertisement

เพื่อให้เราพร้อมรับกับ 7 เดือนที่เหลือของปีนี้ ผมจึงขอร่วมคิดและแชร์กลยุทธ์การลงทุน ให้เราใช้เป็นไอเดียวิเคราะห์และสามารถปรับพอร์ตพร้อมรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากนี้

สำหรับผม ประเด็นสำคัญมีด้วยกัน 4 เรื่องคือ

Fed, Inflation, Recession และ Election รวมเรียกว่า F.I.R.E.

Advertisement

เรียงลำดับตามเหตุและผลจะเริ่มต้นที่ Inflation

ถ้าเงินเฟ้อในสหรัฐไม่ลดลง สินทรัพย์การเงินจะอยู่ยากแน่

เพราะเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อการลงทุนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น รายได้ที่ลดลง บริษัทหยุดลงทุนหันไปจ่ายคืนหนี้ ไปจนถึงดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น

ย้อนกลับไปตั้งแต่ทศวรรษ 1970 หุ้นสหรัฐให้ผลตอบแทนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 8% ต่อปี ในช่วงที่เงินเฟ้อสูงเกิน 2% ขณะที่ราคาบอนด์ก็มักปรับตัวลงพร้อมกันทำให้สินทรัพย์การเงินไม่มีที่ปลอดภัย

นอกจากนั้น เงินเฟ้อสูงอาจนำไปสู่ประเด็นที่สองของปีนี้คือ Election

ความผันผวนจาก Mid-term ปลายปีนี้เป็นสิ่งที่ต้องวางกลยุทธ์รับมือ เพราะคะแนนความนิยมของ Joe Biden กำลังเคลื่อนไหวสวนทางกับเงินเฟ้อ

ถ้าคุมเงินเฟ้อไม่ได้ เลือกตั้งแพ้ เสียสภาให้กับ Republican อาจมีข้อดี คือนโยบายภาษีที่ Biden อยากเก็บเพิ่มจากบริษัทใหญ่อาจไม่เกิดขึ้น แต่ข้อเสียชัดเจนว่านโยบาย
ด้านพลังงานสะอาดหรือการเงินอาจหมดแรงสนับสนุน

ในทางกลับกัน ถ้าแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ ชนะเลือกตั้ง ได้คุมสภาต่อ ก็มีความเป็นไปได้ที่นโยบายกระตุ้นทางการคลังต่างๆ จะกลับมา ตลาดหุ้นมีโอกาสฟื้นตัว

ผลการเลือกตั้งจึงเป็นเหตุการณ์ที่จะชี้ว่า อุตสาหกรรมไหนจะได้ไปต่อ โดยความหวังของ Biden ฝากไว้กับประเด็นสำคัญที่สามนั่นคือ Fed

นโยบายหลักของเฟดในปีนี้คือการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเคยใช้คุมเงินเฟ้อสำเร็จมาก่อน

แม้ดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนแล้ว แต่ยังมีเรื่องที่ต้องระวังอยู่ไม่น้อย

เช่น เป้าหมายดอกเบี้ยนโยบายที่ยังไม่แน่นอน

สิ่งที่ตลาดคิดตอนนี้ คือเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่เกิน 3% ถ้าดอกเบี้ยสูงกว่านั้นก็อาจมีความเสี่ยงที่หุ้นจะถูกขายปรับสัดส่วนไปถือบอนด์ที่ผลตอบแทนแน่นอนกว่า

นอกจากนั้น ถ้าเฟดต้องการคุมเงินเฟ้อให้ได้จริง ในอดีตมักจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปจนกว่าจะสูงกว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่ไม่น่าจะลดลงต่ำกว่า 3.5%) เพื่อให้ปริมาณการบริโภคลดลง ราคาสินค้าจึงจะหยุดขึ้น

หมายความว่า ถ้าเฟดต้องการคุมเงินเฟ้อให้ได้อย่างที่ Biden ต้องการ แต่เงินเฟ้อไม่ลดลงเร็ว เรื่องราวทั้งหมดนี้จะไม่จบจนกว่าจะเกิดเหตุการณ์พิเศษอย่าง U.S. Recession

สำหรับตลาดการเงิน Recession เป็นความเสี่ยงที่หนักที่สุด เพราะรายได้และมุมมองอนาคตอาจเปลี่ยนไปถาวร

ย้อนกลับไปตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ไม่มีปีเศรษฐกิจถดถอยใดเลยที่รายได้ของบริษัทจดทะเบียนใน S&P500 จะปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยเฉลี่ยหดตัวลงถึง 13% และตั้งแต่ปี 1980 P/E Multiple ของตลาดก็ลดลงโดยเฉลี่ยถึง 21% จากระดับสูงสุดไปต่ำสุด

เมื่อ Recession เกิดขึ้นก็จะได้วนกลับขึ้นไปถามว่า Inflation ลดลงแล้วหรือไม่ วนเป็นวงจรอีกรอบ

เข้าใจ F.I.R.E. แล้ว ก็ถึงเวลาจัดชุดเหตุการณ์หรือ scenario เพื่อวางกลยุทธ์การลงทุนให้พร้อม

Best case คือ “ไฟดับพอดีอาหารสุก”

เงินเฟ้อลงเหลือ 3% เฟดไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเกิน 2% เศรษฐกิจไม่ถดถอย ด้วยความสำเร็จเหล่านี้ สภาของ Biden จะอยู่ครบ การลงทุนในหุ้นจะฟื้นตัว โดยมี Clean Energy, Small-cap Innovators และอุตสาหกรรมในประเทศเป็นธีมเด่น

Base case คือ “ไฟอ่อนต้มเปื่อย”

เฟดขึ้นดอกเบี้ยจบระดับ 2-3% เงินเฟ้อลดลงเหลือ 4% เศรษฐกิจเข้าช่วง Late Expansion ส่อแวว Recession ในปี 2024 ส่งผลให้ Democrat เสียสภา กรณีนี้ บอนด์จะกลับมาเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หุ้นซื้อขายในกรอบกว้างบนธีมอดทน เช่น Large-cap, Low Volatility, หรือปันผลสูง

Worst case คือ “ไฟไม่ดับและหม้อไหม้”

เงินเฟ้อไม่ลด เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยถึง 3% เศรษฐกิจถดถอย Republican ครองทุกสภา นักลงทุนต้องหนีไป Real Asset ส่วนหุ้นจะเหลือแค่ธีมพลังงาน การแพทย์ หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคที่ปรับตัวลงน้อยกว่าตลาด

ด้วยความผันผวนที่สูงมากในปีนี้ นักลงทุนอาจใช้กลยุทธ์ทยอยลงทุนในสินทรัพย์เด่นของแต่ละ case ด้วยสัดสวนที่เท่ากัน และจับตาการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินเพื่อปรับปริมาณให้เหมาะสมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

สำหรับผม แม้ตลาดการเงินช่วงนี้จะคาดเดายาก แต่ถ้าเราเลือกจับตาประเด็นสำคัญได้ถูก และวางแผนรับมือไว้บ้าง ต่อให้ F.I.R.E. มา ก็ไม่ต่างกับว่าเราเห็นตั้งแต่ควัน และเตรียมเครื่องดับเพลิงไว้พร้อมแล้วนะครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์
และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนสายพัฒนาธุรกิจ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image