บางขุนเทียน เริ่มแล้ว เด้งรับนโยบายชัชชาติ แจกผ้าอนามัยฟรี ให้นักเรียนในพื้นที่ 2,000 คน

เขตบางขุนเทียน เริ่มแล้ว เด้งรับนโยบายชัชชาติ แจกผ้าอนามัยฟรี ให้นักเรียนในพื้นที่ 2,000 คน

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเขตบางขุนเทียน ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ได้จับมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จัดหาผ้าอนามัยฟรีให้กับนักเรียน ตามนโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรี โดยระบุว่า

“เชื่อหรือไม่ มีเด็กต้องขาดเรียน
…เพราะไม่มีผ้าอนามัย

จากการศึกษาในบางประเทศ และการลงพื้นที่พบว่า การขาดแคลนผ้าอนามัยส่งผลต่อการขาดเรียนหรือขาดงาน รวมถึงการเปลี่ยนผ้าอนามัยน้อยครั้ง หรือใช้วัสดุอื่นที่ไม่เหมาะสมแทน อาจเสี่ยงติดเชื้อและมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้
.
สำนักงานเขตบางขุนเทียน จึงได้จับมือ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ประกอบด้วย เซ็นทรัล พระราม 2, ชมรมรักบางขุนเทียน, สโมสรกีฬาบางขุนเทียน สโมสรโรตารี กรุงเทพ บางขุนเทียน และเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม. นำร่องจัดหาผ้าอนามัยฟรีให้กับนักเรียน ตามนโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรี (เศรษฐกิจดี, สุขภาพดี) จำนวนกว่า 20,000 ชิ้น เพื่อลดภาระผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. 16 โรงเรียน ที่มีนักเรียนหญิงประมาณ 2,000 คน โดยจะนำผ้าอนามัยไปจัดวางในห้องน้ำของโรงเรียน ห้องพยาบาล เพื่อให้เข้าถึงได้สะดวก”

ซึ่งสำนักงานเขตได้ระบุด้วยว่า มีคนเตรียมบริจาคเยอะมาก

Advertisement

ทั้งนี้ นโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรี เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายในด้าน เศรษฐกิจดีและสุขภาพดี ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพื่อลดภาระผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. รวมถึงแก้ปัญหาความจนประจำเดือน ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและสุขภาพอนามัยของผู้มีประจำเดือน

พร้อมให้รายละเอียดว่า “ผ้าอนามัยคือปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน ในแต่ละเดือนผู้มีประจำเดือนมีค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยอยู่ที่ราว 80-150 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นจำนวนผ้าอนามัยประมาณ 20 แผ่นต่อเดือน ภาระในการจัดหาผ้าอนามัยจำนวนนี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า ความจนประจำเดือน หรือ Period Poverty ขึ้นได้

Advertisement

Period poverty หมายถึง ความไม่สามารถในการเข้าถึงผ้าอนามัย เช่น ไม่สามารถซื้อได้ เข้าถึงได้แต่ไม่เพียงพอ ไปจนถึงการใช้งานอย่างไม่เหมาะสม เช่น เปลี่ยนผ้าอนามัยน้อยครั้ง หรือใช้วัสดุอื่นที่ไม่เหมาะสมแทน จึงอาจเสี่ยงติดเชื้อและมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้

นอกจากนี้การศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับ period poverty หลายชิ้นสะท้อนว่า การขาดแคลนผ้าอนามัยส่งผลต่อการขาดเรียนหรือขาดงานด้วย ด้านผลการสำรวจของ BMC Women’s Health ที่ทำการศึกษากับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ที่ประสบปัญหา period poverty มีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลางจนถึงรุนแรงมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยประสบปัญหาเลย

เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้มีประจำเดือนและครอบครัวและลดความเสี่ยงของปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมา กทม.จะนำร่องจัดหาผ้าอนามัยให้กับนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.

โดยจะจัดจุดจัดวางในห้องน้ำของโรงเรียนหรือไว้ที่ห้องพยาบาลเพื่อให้เข้าถึงได้สะดวกและสอดคล้องกับความจำเป็น โดยจะประเมินประสิทธิภาพถึงวิธีการแจกและตัวเลือกผ้าอนามัยที่ตอบสนองต่อผู้ใช้งาน ก่อนจะพิจารณาขยายผลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้มีประจำเดือนต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image