อ่าน อ่าน อ่าน! 3 เล่ม ‘(ฉันรัก)ประวัติศาสตร์’ ขึ้นไทม์แมชชีนจาก ‘บาวบุ๊ค’ ใกล้บ้าน

“ผมไม่มีวันนี้หรอก ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือ”

คือคำกล่าวตอนหนึ่งของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ เมื่อครั้งพูดคุยผ่านโปรแกรม Zoom ในเวทีพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย ในหัวข้อ ‘นโยบายการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย ด้วยหนังสือและการอ่านจากพลังท้องถิ่น’ ที่ห้องภาณุรังษี โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

เพียงประโยคสั้นๆ ก็สะท้อนถึง ‘ประวัติศาสตร์ของชีวิต’ ตลอด 56 ปีที่ถูกหล่อหลอม กล่อมเกลาและรายล้อมด้วยเรื่องราวจากตัวหนังสือ

ผู้ว่าฯกทม.เผยว่า การอ่านช่วยเพิ่ม ‘จุดในชีวิต ในสมอง’ แล้วนำมาเชื่อมต่อเป็นคำตอบได้ พร้อมเน้นว่าเด็กปฐมวัยอายุ 0-8 ปี มีพัฒนาการเร็วมาก

Advertisement

“ลงทุนช่วงนี้ไม่ต้องใช้เงินเยอะ แต่ได้ผลก้าวหน้ามหาศาล การที่พ่อแม่ฝึกให้มีหนังสืออยู่ในบ้าน ค่าหนังสือถูกมาก ไม่ต้องแพงมาก ถ้าเด็กมีพัฒนาการที่ดีช่วงนี้ได้จะเป็นรากฐานที่สำคัญของพวกเขาในอนาคต”

ย้อนไปในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาก่อนนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯไม่กี่อึดใจ ชัชชาติ แวะบูธ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ เล่าว่าเมื่อครั้งยังเด็ก “ผมอ่านพล นิกร กิมหงวนเป็นร้อยๆ เล่ม” พ่อแม่เน้นให้อ่าน โดยไม่ได้เริ่มต้นจากหนังสือเรียน หากแต่เป็น ‘ต่วยตูน’ ประวัติศาสตร์แสนสนุกในความทรงจำเจ้าของสโลแกน ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’

Advertisement

“ก่อนหน้านี้ได้คุยกับน้องๆ หลายคน เขาอ่านการ์ตูน ผมบอกว่าอ่านไปเถอะ อ่านสิ่งที่รัก จนกระทั่งรักการอ่าน” ชัชชาติแนะ

แนวคิดข้างต้น สอดคล้องกับมุมมองของ เครือมติชน และ ‘คาราบาว กรุ๊ป’ ซึ่งจับมือเปิดตัว ‘บาวบุ๊ค’ พร้อมกัน 20 สาขาใน ร้านซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต เมี่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในหลายจังหวัด มุ่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เข้าถึงชุมชน ภายใต้แนวคิด “แผงหนังสือคู่ชุมชน” หวังเป็นสะพานส่งต่อความรู้ ภายใต้ความเชื่อมั่นว่าการอ่านหนังสือจะช่วยพัฒนาความคิด และสติปัญญาไม่สิ้นสุด ปัจจุบันขยายเพิ่มเป็น 60 สาขาทั่วไทย

คัดสรรหนังสือหลากหลายทั้งเล่มออกใหม่ ปกขายดี นวนิยายดัง ฮาวทูสร้างกำลังใจ การเมือง ศิลปวัฒนธรรม เกษตร อาชีพ และอีกมากมาย โดยหนึ่งในหมวดขายดี คือ ‘หนังสือเด็ก’ อาทิ ‘สีเทาเจ้าตัวจิ๋ว’ หนังสืออ่านนอกเวลาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และหนังสือส่งเสริมพัฒนาการในรูปแบบลากเส้นระบายสี

ล่าสุด ‘มติชน’ ผสานจุดแข็งด้าน ‘ประวัติศาสตร์’ กับความต้องการของชุมชน สร้างสรรค์หนังสือเด็กชุด M YOUNG ที่อ่านได้ตั้งแต่วัยประถมไปจนถึงผู้ใหญ่ในชุด ‘ฉันรักประวัติศาสตร์’ รวม 3 เล่ม เนื้อหาจัดเต็ม แต่อ่านสนุก อ่านง่าย ปลุกใจด้วยข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์สำคัญในวันวานที่ต้องหยิบมาเล่าขานอีกครั้งผ่านเนื้อหากระชับ พร้อมภาพประกอบสีสันสดใส แทรกการ์ตูนชวนเพลิดเพลินและจดจำง่าย ภายใต้ตัวเลขกิมมิคอย่าง 50 ได้แก่ 50 เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย, 50 คนดังนอกตำรา และ 50 สิ่งแรกในเมืองไทย

ปักหมุด ‘จุดเกิดเหตุ’ ย้อนเกร็ด

‘50 เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย’

เริ่มเล่มแรกที่ภาพกว้างทางประวัติศาสตร์ จากสยามสู่ไทยแลนด์ จากอดีตกาลสู่ยุคร่วมสมัย กับผลงานของ ปภาณิน เกษตรทัต ที่ชวนน้องๆ หนูๆ ไป ‘ทำความเข้าใจ’ หาใช่เพียงจดจำในเรื่องราวและเรื่องเล่าจากวันวานผ่านการ์ตูนสุดน่ารักในหนังสือ ‘50 เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์’ ซึ่งได้รับเกียรติจาก
นักประวัติศาสตร์ชื่อดังๆลำดับต้นๆ ของไทยอย่าง รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ รับหน้าที่บรรณาธิการวิชาการ การันตีความเป๊ะของข้อมูล ความเข้มข้นของเนื้อหา ทว่า สนุกสนานไม่หนักสมองชวนคิ้วขมวด

รวบรวมเหตุการณ์เด่นในหน้าประวัติศาสตร์ไทยถึงครึ่งร้อย ครบถ้วนทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครอง สังคม ศิลปวัฒนธรรมซึ่งไม่ได้สำคัญเพียงราชอาณาจักรสยาม หากแต่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอันเป็นสิ่งที่การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยในห้องเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าที่ควรจะเป็น

ลองเปิดชิมน้ำจิ้มรสดีที่ชวนให้เด็กๆ ดวงตาเป็นประกาย ด้วยภาพการ์ตูนบุคคลในคอสตูมย้อนยุคปลุกต่อมแห่งการเรียนรู้ พร้อมปักหมุดไทม์ไลน์สำคัญ อาทิ พ.ศ.2310 พระยาตากกู้เอกราช และสถาปนากรุงธนบุรี, 2311 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ชำระพระไตรปิฎก, 2328 สงครามเก้าทัพ, 2325 พระยาจักรีปราบดาภิเษก, 2369 ไทยลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นี, 2369-2371 สงครามเจ้าอนุวงศ์ เป็นต้น

หรือจะกระโดดมาอ่านเรื่องราวอันเกี่ยวโยงกับการเมืองไทยร่วมสมัยย้อนไปใน พ.ศ.2454 กบฏ ร.ศ.130 กลุ่มนายทหารที่เรียกตัวเองว่าคณะ ร.ศ.130 นำโดย ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ ก่อการปฏิวัติซึ่งสุดท้ายล้มเหลว แต่กลายเป็นโมเดลและบทเรียนให้ ‘คณะราษฎร 2475’นำพาประชาธิปไตยมาสู่ประชาชนจนถึงวันนี้

‘50 คนดังนอกตำรา’

ใครเป็นใคร? ในไทม์ไลน์แห่งสยาม

จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ มาทำความรู้จักกับผู้คนบนเส้นทางของกาลเวลาที่ ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้เคยฝากผลงานไว้ในหลายเล่มขายดี มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวในเวอร์ชั่นที่เด็กอ่านดี พ่อแม่พี่น้องอ่านได้ โดยมี ปรามินทร์ เครือทอง นักค้นคว้าชั้นแนวหน้าการันตีความถูกต้องของข้อมูลในฐานะบรรณาธิการวิชาการ

ชวนน้องๆ ให้เปิดหน้ากระดาษไปพูดคุยกับเหล่าคนดังในอดีตผ่านตัวอักษร ย้อนวีรกรรมที่ส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นในประวัติศาสตร์ชาติไทย ทว่า กลับอยู่ ‘นอกตำรา’ เนื้อหาครอบคลุมบุคคลทุกชนชั้น ตั้งแต่ชนชั้นสูง จนถึงไพร่ทาส

อ่านสนุก เข้าใจง่าย มากมายด้วยอารมณ์ขัน อาทิ ‘อำแดงเหมือน’ และ ‘อำแดงจั่น’ ผู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ทำให้สตรีไทยเสมือน ‘หญิงเป็นควาย ชายเป็นคน’ โดยเป็นคดีความที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ชวนน้องๆ นั่งไทม์แมชชีนไปรับฟังความเจ็บปวดของผู้หญิงในยุคที่ต้องเรียกร้องผ่านการถวายฎีกา เพื่อต่อสู้กับกฎหมายที่เต็มไปด้วยปัญหาและความเอนเอียง ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตเป็นของตัวเอง

รายละเอียดเป็นอย่างไร พลิกอ่านได้ในเล่มนี้

ไหนจะเส้นทางชีวิตน่าทึ่งของ ฌัง-บัพติสท์ ปาลเลกัวซ์ บาทหลวงผู้ริเริ่มสร้างอาสนวิหารอัสสัมชัญ ทั้งยังเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ที่นำกล้องเข้ามาในสยาม และผู้เขียน ‘พจนานุกรม’ 4 ภาษาเล่มแรกของไทย

ส่วนอีก 48 คนดังที่เหลือคือใคร ขอท้าให้น้องๆ หนูๆ สำรวจในหนังสือด้วยตัวเอง

50 สิ่งแรกในเมืองไทย

ความเป็นมาของสรรพสิ่งรอบกาย ‘เมื่อวานนี้’

ปิดท้ายด้วยสิ่งละอันพันละน้อยที่ชวนให้ร้องว้าว! เมื่อทราบที่มา นันทลักษณ์ คีรีมา รวบรวมสิ่งแรกในสยามถึงครึ่งร้อยไอเท็มให้เติมเต็มความรู้ โดยมี เอนก นาวิกมูล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราววันวานนั่งเก้าอี้บรรณาธิการวิชาการ ชวนเยาวชนร่วมกันหมุนเข็มนาฬิกาลูกตุ้มย้อนไปในอดีต ชม 50 สิ่งละลานตาเมื่อเข้ามาในไทยเป็นครั้งแรก รวมถึงกิจการน่าสนใจ อาทิ บริษัทจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของ ‘นายแฉล้ม’ เมื่อ พ.ศ.2440 ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยขอเช่าที่ดินจากวัดราชบูรณะราชวรวิหาร หรือวัดเลียบ ฝั่งพระนคร เปิดโรงงานติดตั้งเครื่องจักรผลิตไฟฟ้า จ่ายไฟให้ ‘ท้องสนามหลวง’ สถานที่ราชการ รวมถึงชาวบ้านซึ่งเรียกติดปากว่า ‘โรงไฟฟ้าวัดเลียบ’

น่าเสียดายที่ต่อมาประสบปัญหาขาดทุน จึงโอนกิจการให้บริษัทไฟฟ้าสยาม จำกัด ของชาวเดนมาร์ก

นอกจากนี้ ยังเล่าที่มาของวัตถุ สินค้า อาหารการกินที่มีประวัติศาสตร์ยาวไกลจากต่างแดนสู่แผ่นดินไทย อาทิ ‘ขนมปัง’ ที่เดินทางมาถึงในยุคสมเด็จพระนารายณ์พร้อมชาวต่างชาติต่างภาษาที่หลั่งไหลเข้ามาในครั้งกระโน้น รวมถึงเรื่องราวของ ‘ลอตเตอรี่’ ที่สายเสี่ยงโชคลุ้นตัวโก่งทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน จากนวัตกรรมต่างชาติ สู่ ‘หวย’ แบบไทยๆ ในวันนี้

นับเป็น 3 เล่มประวัติศาสตร์อ่านง่ายที่หาได้จาก ‘บาวบุ๊ค’ ใกล้บ้านพาย้อนคืนวันสู่อดีตกาลเพียงเปิดอ่านอักษรตัวแรก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image