ตื่นเต้น! ชาวบ้านชม“ฐานรากพระบรมธาตุนครฯ”กรมศิลป์เผย พบภาชนะคาดเก่ากว่าสุโขทัย ปัดฟันธงอายุ แนะรอผลวิทยาศาสตร์จากอิฐ

ภาพเล็ก-ภาชนะดินเผาเนื้อขาว บาง สันนิษฐานว่าเป็นภาชนะจากเตาปะโอ เมืองสทิงพระ สงขลา เก่ากว่าเครื่องถ้วยสมัยสุโขทัย (ภาพจากสำนักศิลปากรทที่ 14 นครศรีธรรมราช)

คืบหน้ากรณีสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีพระบรมธาตุ (ภายในวิหารทับเกษตร) ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช  ระหว่างวันศุกร์ที่ 28 –เสาร์ที่ 29 ตุลาคม  ก่อนจะดำเนินการกลบหลุมดังกล่าว หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นอย่างละเอียดเพื่อนำไปกำหนดอายุสมัยทางวิทยาศาสตร์ และศึกษาวิเคราะห์ต่อไปตามที่นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดีชำนาญการได้เปิดเผยข้อมูลว่ามีการพบอิฐที่เรียงตัวกันเป็นฐานรากของพระบรมธาตุ นอกจากนี้ ยังมีการฝังภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกรอบฐานพระบรมธาตุ โดยมีทั้งเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน และสมัยสุโขทัยในยุคต้นๆ ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มเรียกว่า เตาเชลียง มีลักษณะเป็นภาชนะเคลือบสีน้ำตาล อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากเครื่องถ้วยจีนราชวงศ์หยวนและเครื่องถ้วยสุโขทัยยุคต้นซึ่งพบในหลุมขุดค้นที่วิหารทับเกษตรแล้ว ในหลุมขุดค้นอื่นๆ บริเวณวัด ยังมีการพบเครื่องปั้นดินเผาซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแบบ “เตาปะโอ” ซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ที่เมืองสทิงพระ จังหวัดสงขลาในปัจจุบัน โดยเป็นภาชนะที่มีความเก่าแก่กว่าสมัยสุโขทัย อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดอายุต้องไม่ลืมตัวแปรอื่น เช่น อาจเป็นการนำภาชนะรุ่นเก่ามาใช้ใหม่ ดังนั้น จึงขอนำอายุสมัยจากอิฐมาเทียบเคียง โดยจะส่งตรวจสอบอายุโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป  สำหรับการกลบหลุมขุดค้น คาดว่าจะทำได้ในวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคมนี้ เนื่องจากในวันที่ 30 ตุลาคม นักโบราณคดีจะเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมก่อน  ส่วนขั้นตอนต่อไปคือ การวิเคราะห์โบราณวัตถุ

“หลังกลบหลุมจะมีการวิเคราะห์โบราณวัตถุซึ่งมีหลายสมัย ที่น่าสนใจคือ ภาชนะที่สันนิษฐานว่าเป็นแบบเตาปะโอ จากสทิงพระ สงขลา เป็นภาชนะรุ่นเก่า ก่อนหน้านี้เราพบภาชนะราชวงศ์หยวนซึ่งร่วมสมัยกับสุโขทัย แต่เตาปะโอ เก่ากว่า อย่างไรก็ตามอาจจะมีตัวแปรบางอย่างเช่นการเอาภาชนะรุ่นเก่ามาใช้ จึงต้องขอดูอายุอิฐมาเทียบเคียงก่อน โดยมีการเก็บตัวอย่างแต่ละส่วนไปหลาย 10 ตัวอย่าง เผื่อความแกว่งตัวของค่าอายุที่ได้ จึงใช้ตัวอย่างจำนวนมาก การขุดค้นครั้งนี้เป็นการเปิดหลักฐานที่ทำให้เห็น ร่องรอยอาคารจากใต้ดินซึ่งมีความแตกต่างกัน เช่น วิหารธรรมศาลา ใต้ดินคล้ายมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ส่วนอาคารบางแห่งมีฐานลงไปข้างล่างอีกหลายชั้น  สำหรับองค์พระธาตุนั้น อิฐที่เปิดดูจากผิวนอกสุดด้านบนที่เราเห็น มีขนาดไม่ใหญ่เท่าด้านล่าง ดังนั้น น่าจะเป็นการซ่อมแซมในรุ่นหลังๆ แต่ต้องดูอายุทางวิทยาศาสตร์อีกครั้ง” นายอาณัติ กล่าว

จากขวา-ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช , อาณัติ บำรุงวงศ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช
จากขวา-ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ  , อาณัติ บำรุงวงศ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช

นายอาณัติ ยังระบุด้วยว่า ในระดับสุดท้ายที่ขุดลงไป มีน้ำใต้ดินจำนวนมาก เหมือนที่มีการกล่าวกันว่าพระธาตุสร้างอยู่ในน้ำซึ่งตนมองว่า ในอดีตคงมีการขุดสันทรายลงไปเตรียมรากฐาน จากนั้นจึงกลบแล้วก่อพระธาตุขึ้นมา โดยฐานบางส่วนอยู่ข้างล่างนั่นเอง  อย่างไรก็ตาม  ข้อมูลต่างๆที่ได้จากการขุดค้นครั้งนี้ ในเบื้องต้นจะใช้เป็นหลักฐานประกอบรายงานเชิดชูคุณค่าพระบรมธาตุสู่มรดกโลกก่อน ส่วนประเด็นอื่นๆ นักโบราณคดีค่อยๆปะติดปะต่ออีกครั้ง

Advertisement
ภาชนะซึ่งคาดว่ามาจากแหล่งเตาปะโอ
ภาชนะซึ่งคาดว่ามาจากแหล่งเตาปะโอ

ทั้งนี้ สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ได้ทำการขุดค้นพื้นที่บริเวณพระบรมธาตุ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเปิดหลุมขุดค้นจำนวน 8 หลุม หลุมที่สำคัญที่สุดคือหลุมภายในวิหารทับเกษตร มีความลึกราว 2 เมตร ซึ่งพบหลักฐานสำคัญ เช่น อิฐที่เรียงตัวกันเป็นฐานรากของพระบรมธาตุ นอกจากนี้ ยังมีการฝังภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกรอบฐานพระบรมธาตุ โดยมีทั้งเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน และสมัยสุโขทัยในยุคต้นๆ ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มเรียกว่า เตาเชลียง มีลักษณะเป็นภาชนะเคลือบสีน้ำตาล อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นต้น

สภาพภายในหลุมขุดค้นที่วิหหารทับเกษตร ซึ่งมีความลึกราว 2 เมตร
สภาพภายในหลุมขุดค้นที่วิหารทับเกษตร ซึ่งมีความลึกราว 2 เมตร

ขอบคุณภาพถ่ายจาก สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image