สุจิตต์ วงษ์เทศ : จีนโบราณในไทย พบหลักฐานเก่าสุด 2,000 ปีมาแล้ว

เครื่องมือสำริด เช่น กาน้ำและมีด เป็นสิ่งของในวัฒนธรรมจีนฮั่น อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว พบที่ม่อนวัดเกษมจิตตาราม อ. เมือง จ. อุตรดิตถ์ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

จีนรู้จักดินแดนอุษาคเนย์ทั้งแผ่นดินใหญ่ และหมู่เกาะราว 2,000 ปีมาแล้ว
เพราะอุษาคเนย์เป็นทางผ่าน (ทั้งทางบกและทางทะเล) หรือสะพานแผ่นดินข้ามคาบสมุทร เชื่อมระหว่างโลกตะวันตก (ทางมหาสมุทรอินเดีย) กับโลกตะวันออก (ทางมหาสมุทรแปซิฟิก)
ดินแดนที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ หรือแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ จีนก็น่าจะรู้จักในคราวเดียวกันด้วย ราว 2,000ปีมาแล้ว ไม่ใช่แค่ 200 ปี อย่างที่เข้าใจ

ยุคนั้นยังไม่เรียกดินแดนนี้ว่าประเทศไทย และยังไม่เรียกคนในดินแดนนี้ว่าคนไทย แต่คนยุคนั้นนับเป็นบรรพชนคนไทย [ที่ถูกจีนฮั่นเรียกคนไม่ใช่ฮั่นเหมือนกันหมดว่า ฮวน (แปลว่า เหี้ย, ป่าเถื่อน) หรือ หมาน (แปลอย่างเดียวกับฮวน)]

บรรพชนคนไทยยุคนั้นบางพวกซึ่งเป็นคนชั้นนำระดับหัวหน้าเผ่าพันธุ์ น่าจะรู้จักจีนโดยผ่านคำบอกเล่าหรืออะไรก็ตาม เพราะพบหลักฐานเก่าสุดราว 2,000 ปีมาแล้ว ที่ม่อน*วัดเกษมจิตตาราม บริเวณลุ่มน้ำน่าน (อ. เมือง จ. อุตรดิตถ์) เป็นเครื่องใช้ (ในวัฒนธรรมฮั่น) ทำด้วยทองสำริด เช่น กาน้ำมีพวยกา, มีด ฯลฯ

อุตรดิตถ์ เป็นชายขอบบริเวณเหนือสุดของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ตอนบน (ไม่ใช่ภาคเหนือ ตอนล่าง เพราะต่อจากอุตรดิตถ์ขึ้นไปเป็นภาคเหนือ มีทิวเขาสลับซับซ้อน)
ที่สำคัญคืออยู่บนเส้นทางคมนาคมภายในภูมิภาค ระหว่างอ่าวตังเกี๋ย (เวียดนาม) ทางตะวันออก กับอ่าวเมาะตะมะ (พม่า) ทางตะวันตก โดยมีลุ่มน้ำโขงและอีสานอยู่ตรงกลาง
ผ่านลุ่มน้ำยม-น่าน (อุตรดิตถ์-พิษณุโลก-สุโขทัย) ไปลุ่มน้ำปิง (ตาก-กำแพงเพชร)ที่ต่อไปข้างหน้าจะมีพัฒนาการเป็นบ้านเมือง แล้วเป็นรัฐสุโขทัย โดยการสนับสนุนของรัฐ อโยธยา-ละโว้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตอนล่าง

Advertisement

หมายเหตุ *ม่อน เป็นภาษาถิ่นเหนือ หมายถึง ภูเขาลูกเล็กๆ หรือเนินเขา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image