กทม.จ่อปรับแนวทางสอบบรรจุขรก.ให้สอดรับตำแหน่ง-ตรงความต้องการมากขึ้น เล็งปรับวิธีสอบ

กทม.จ่อปรับแนวทางสอบบรรจุ ขรก.สอดรับตำแหน่ง-ตรงความต้องการมากขึ้น

วันนี้ (18 มิ.ย. 65) น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปตรวจเยี่ยมการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักพัฒนาสังคม ครั้งที่ 1/2565 ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เขตดุสิต โดยมี นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงาน ก.ก. และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

น.ส.ทวิดา เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า วันนี้ตั้งใจมาดูวิธีการสอบ ระบบการจัดการ รวมถึงสภาพแวดล้อม ซึ่งภาพรวมเป็นไปด้วยดี แต่มีบางจุดที่อาจจะต้องมีการเพิ่มเติมในการสอบครั้งต่อไป เช่น ก้าวอี้นั่งสอบสำหรับผู้เข้าสอบที่ถนัดมือซ้าย การอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการที่เข้าสอบในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าสอบเพิ่มเติม อาทิ การจัดส่งแผนผังห้องสอบให้ผู้เข้าสอบ จัดทำระบบตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าสอบที่ง่ายขึ้น นอกจากนี้เบื้องต้นได้หารือถึงแนวทางการจัดการสอบที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไป อาจต้องดูในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบรวมไปถึงข้อสอบด้วย เพราะบางตำแหน่งหรือบางสาขาวิชาที่ครูต้องใช้ทักษะการสอนที่แตกต่างอาจต้องมีการปรับวิธีการสอบที่ตรงมากขึ้นและเพื่อให้ได้ครูที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น ซึ่งการสอบไม่จำเป็นต้องเป็นการสอบแบบเขียน หรือตัวเลือกเสมอไป ครั้งต่อไปในการสอบบางตำแหน่งอาจมีการปรับให้มีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการมากขึ้น แต่ต้องมีความโปร่งใสในกระบวนการสอบด้วยเพราะมีหลายฝ่ายดูอยู่ และเมื่อได้ครูเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แล้วก็มีระบบติดตามดูว่าถ้าปรับวิธีการสอบให้สามารถรับครูได้ตรงกับความต้องการแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ที่สำคัญอีกอย่างคือการดูแลความเป็นอยู่ของครูให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ในอนาคตครูอาจไม่ทำหน้าที่เฉพาะตามสังกัดอาจมีการปรับให้สามารถทำงานให้เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับการทำงานในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นครูเพิ่มเติมได้ซึ่งเป็นการเพิ่มเสน่ห์ของครู

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการป้องกันการทุจริตในการสอบนั้น เท่าที่ดูวันนี้มีเจ้าหน้าที่จำนวนมากในการดำเนินการ ระบบที่มองเห็นได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน มีการตรวจความเรียบร้อยของผู้เข้าสอบก่อนเข้าห้องสอบ กำหนดเวลาให้เข้าสอบสายได้ในเวลาปกติตามที่สถาบันการศึกษากำหนดคือ 30 นาที ในแง่ของระบบกำกับควบคุมที่ทำได้ถือว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่จริง ๆ แล้วโดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะมาดูความพร้อมล่วงหน้า 2-3 วัน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หลังจากการสอบเสร็จเรียบร้อยแล้วอาจมีการประเมินผลและหารือแนวทางเพิ่มเติมเพื่อนำไปปรับใช้ในการสอบครั้งต่อไปเพื่อให้การจัดสอบในครั้งต่อไปมีความเหมาะสมและดีขึ้น

Advertisement

“สำหรับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักพัฒนาสังคม ครั้งที่ 1/2565 มีจำนวน 6 กลุ่มวิชา อัตราว่าง 35 อัตรา โดยมีผู้สมัครสอบรวมทั้งสิ้น 2,292 คน ดังนี้ 1. คอมพิวเตอร์ธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ ว่าง 12 อัตรา สมัครสอบ 1,581 ราย 2. ช่างไฟฟ้ากำลัง ว่าง 5 ตำแหน่ง สมัครสอบ 166 ราย 3. ช่างยนต์ ว่าง 5 ตำแหน่ง สมัครสอบ 191 ราย 4. ช่างอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีโทรคมนาคม ว่าง 7 ตำแหน่ง สมัครสอบ 190 ราย 5. ผ้าและเครื่องแต่งกาย ว่าง 2 ตำแหน่ง สมัครสอบ 14 ราย และ 6. อาหารและโภชนาการ ว่าง 4 ตำแหน่ง สมัครสอบ 150 ราย โดยมีผู้พิการสมัครสอบ จำนวน 4 คน แบ่งเป็นประเภทของความพิการ ดังนี้ 1. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 2 ราย 2. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 1 ราย และ 3. ความพิการทางการเห็น 1 ราย โดยกำหนดสอบข้อเขียน จำนวน 2 วัน วันที่ 18 มิ.ย. 65 สอบภาค ก. วิชาความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู วันที่19 มิ.ย. 65 สอบภาค ข. วิชาความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาการศึกษา และความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาเอก และ สอบภาค ค.1 ความเหมาะสมกับตำแหน่ง ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยคนพิการสอบอาคาร 1 ห้อง 1108 และห้อง 1109 เมื่อดำเนินการสอบข้อเขียนเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรุงเทพมหานครจะประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านการสอบข้อเขียน ภายในวันที่ 27 มิ.ย. 65 กำหนดสอบสัมภาษณ์ประมาณวันที่ 21-22 ก.ค. 65 และประกาศผลสอบแข่งขันฯ ภายในวันที่ 27 ก.ค. 65” น.ส.ทวิดา กล่าว

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดย สำนักงาน ก.ก. ได้จัดการสอบตามมาตรการในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในการคัดกรอง ผู้เข้าสอบต้องเข้ารับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าบริเวณสถานที่สอบ โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของสถานที่สอบ และต้องนำเอกสารแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนการสอบ โดยวิธี RT-PCR หรือ การใช้ชุดตรวจ ATK (Antigen test kit) จากสถานพยาบาลหรือสถานที่ตรวจ หรือเอกสารแสดงการได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างน้อย 2 เข็ม หากไม่มีเอกสารดังกล่าวมาแสดง จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องสอบ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image