สถานีคิดเลขที่ 12 : สู้กันด้วยสาระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : สู้กันด้วยสาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี

สถานีคิดเลขที่ 12 : สู้กันด้วยสาระ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในครั้งสุดท้าย ตามญัตติฯที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นอภิปรายต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา

นับตั้งแต่การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ การเมืองก็ร้อนระอุขึ้นมาทันที หลังจากรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายเพิ่มจาก 10 เป็น 11 ชื่อ

ร้อนถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะ ส.ส.ชลบุรี และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดหน้าออกมาตอบโต้ พร้อมกับยื่นเรื่องให้ประธานสภาตรวจสอบญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าเป็นญัตติเถื่อน ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ และกฎหมาย รวมทั้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีข้อพิรุธถึงการเพิ่มรายชื่อผู้ถูกอภิปรายจาก 10 เป็น 11 ชื่อ โดย ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติฯ ไม่รู้ถึงกระบวนการเพิ่มรายชื่อดังกล่าว และอาจส่งผลให้ตัวญัตติฯมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ

Advertisement

สุดท้ายแล้ว ประเด็นการตรวจสอบญัตติฯว่าเถื่อนหรือไม่ คงไม่ถึงขั้นให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องสะดุด หยุดลง เพราะการออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบประเด็นการยื่นญัตติฯว่ามีความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ อาจจะเชื่อมโยงกับการเล่นเกมการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ที่หวังผลให้ส่งผลกระทบต่อเก้าอี้ของรัฐมนตรีบางกระทรวง

แต่สิ่งที่ประชาชนและสังคมเฝ้ารอการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯและรัฐมนตรี รวม 11 คน ครั้งนี้

หากมองข้ามการเล่นเกมการเมืองของแต่ละฝ่าย คือ เป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบตามหลักการประชาธิปไตย ผ่านการอภิปราย และชี้แจงข้อกล่าวหา

Advertisement

อย่างมีสาระจับต้องได้ ผ่านทั้งตัวข้อมูล หลักฐานและข้อเท็จจริง ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ก้าวข้ามการเสียดสี เรื่องส่วนตัว และการเอาคืนกันทางการเมือง

ยิ่งทั้งสองฝ่ายออกมาเกทับ บลั๊ฟกัน พร้อมกับฉายหนังตัวอย่างก่อนการอภิปรายว่า จะเปิดหน้าลุยกันอย่างเต็มที่ แบบจัดหนัก ใส่เต็ม ให้ถึงขั้นเจ็บหนัก หากไม่ตายกลางสภา ก็อาจจะต้องตายในช่วงการเลือกตั้งครั้งหน้า ให้สมกับเป็นการอภิปรายไม่ไว้ว้างใจครั้งสุดท้าย แต่สิ่งที่ผู้ติดตามการเมืองอยากเห็นคือ การอภิปรายอย่างสร้างสรรค์

สู้กันด้วยข้อมูล หลักฐาน ผ่านเนื้อหาสาระ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องพลังงาน ค่าครองชีพ ปัญหาปากท้อง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

ทั้งสองฝ่ายจะมีวิธีการนำเสนอ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น และรู้สึกว่าจับต้องได้ในการทำหน้าที่ของฝ่ายไหนได้มากกว่ากัน

ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน ผ่านการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอนว่า ฝ่ายไหนจะได้รับโอกาสให้เข้ามาทำหน้าที่ “ฝ่ายค้าน” หรือ “รัฐบาล”

ผ่านฉันทามติของประชาชน

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image