เปิดสาระจากวงเสวนา สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand

เปิดสาระจากวงเสวนา สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand

เปิดสาระจากวงเสวนา
สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand

หมายเหตุ – เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์มติชน จัดเสวนา หัวข้อ ‘สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand’ ได้รับเกียรติจากนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand’ และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อโอกาสใหม่’ มีรายละเอียด ดังนี้

 

‘สภาพัฒน์’มั่นใจศก.โต3%
แรงหนุนจาก‘ส่งออก-ท่องเที่ยว’

Advertisement

ดนุชา พิชยนันท์
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

หลังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤตซับซ้อนมากขึ้น สามารถเกิดขึ้นและเป็นปัญหาที่คาดการณ์ได้ยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว

ช่วง 2 ปีที่เกิดโควิดระบาดเราได้มีการบริหารจัดการ 3 เรื่องหลัก คือ 1.การรักษาชีวิตของประชาชนผ่านการรักษาพยาบาล จัดหาวัคซีนป้องกันโรค และระดมฉีดได้มากที่สุด 2.การเยียวยาประชาชน ช่วงแรกช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ ต่อมาช่วยเหลือกลุ่มเจาะจงมากขึ้น และใช้มาตรการดึงผู้มีอาชีพอิสระเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม หรือมาตรา 40 มากขึ้น และ 3.กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม หลัง 2 ปีเครื่องยนต์เศรษฐกิจมีจำกัด ต้องใช้ทรัพยากรภายในประเทศพยุงเศรษฐกิจ แก้ปัญหาหนี้สิน และเอสเอ็มอี ผ่านการออกมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรการของรัฐ ซึ่งสามารถบรรเทาประชาชนและพยุงเศรษฐกิจได้ช่วงระยะหนึ่ง มาถึงปี 2564 การส่งออกปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาโควิดระบาดหนักอีก 2 ครั้งในช่วงต้นปี และไตรมาส 3/2564 ทำให้เศรษฐกิจติดลบ

Advertisement

สำหรับสถานการณ์ปี 2565 เมื่อต้นปีเศรษฐกิจเผชิญกับปัญหาการระบาดโอมิครอน แต่อาการไม่รุนแรงมากนัก การแพทย์ของไทยยังสามารถรับมือได้ โดยได้ประกาศตัวเลขว่าเศรษฐกิจจะสามารถไปต่อได้ แต่ต่อมาประเทศไทยเผชิญกับปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ต้องปรับประมาณการตัวเลขลงอีก หลังมีปัจจัยการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาน้ำมันขยับขึ้นเรื่อยๆ

สะท้อนให้เห็นว่าช่วงต่อจากนี้ ถึงระยะข้างหน้าโลกจะมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบทาง Geopolitics ภูมิศาสตร์การเมืองโลกจะรุนแรงขึ้น เกิดการแบ่งขั้วอำนาจมากขึ้น จึงเป็นจุดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปต้องวางตำแหน่งให้ดี ประสานทุกประเทศได้

ด้านเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% แน่ๆ เพราะการส่งออกยังมีอานิสงส์ แม้สงครามรัสเซียกับยูเครนจะเป็นความเสี่ยง แต่ก็เป็นโอกาสด้านการส่งออกอาหาร

ขณะที่การท่องเที่ยวหลังได้เปิดประเทศ 5 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วประมาณ 2 ล้านคน คาดว่าช่วงหลังปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 7-10 ล้านคน ทำให้ภาคท่องเที่ยวเกิดการฟื้นตัวได้มากขึ้น อีกทั้งรัฐได้มีการต่อมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน คาดว่าจะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางได้ต่อเนื่อง

ด้านการบริโภคภาคเอกชนก็เติบโตขึ้นมากถึง 8% สะท้อนว่ากิจกรรมในประเทศกระเตื้องขึ้น และการลงทุนยังสามารถไปได้อยู่ ส่วนที่เป็นปัญหาคาดว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เงินเฟ้อจากราคาพลังงานปรับตัวสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ และพยายามแก้ปัญหาโดยการนำมาตรการเข้าไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น และปรับตัวดีต่อเนื่องในปี 2566 ซึ่งปีนี้คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัว 3% ปีหน้าคาดการณ์อยู่ที่ 3.7% มีปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ การส่งออกยังขยายตัวโดยปี 2564 โตถึง 18% การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว แต่ยังมีข้อจำกัดเป็นความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สงครามรัสเซียกับยูเครน เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมเงินเฟ้อสูง 7.1% มาจากราคาพลังงานและอาหาร ก็ขอบคุณผู้ผลิตที่ยังไม่ส่งผ่านต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคมากนัก แต่บางสินค้าก็ต้องปล่อยปรับราคา เพราะต้นทุนแพงเกินกว่าผู้ผลิตจะแบกรับไหว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการมาช่วยบรรเทาภาระประชาชนบ้างแล้วและมีอีก 8 มาตรการได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่รัฐจะจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชน เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เงินไปแล้ว ด้านของการช่วยเหลือค่าก๊าซแอลพีจีกับภาคครัวเรือน ช่วยเหลืออุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อให้ราคาไม่สูงเกิน หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันราคาน้ำมันของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เช่น สิงคโปร์ น้ำมันดีเซลราคาลิตรละ 65 บาท เพราะใช้ราคาน้ำมันจริงตามกลไกตลาด เป็นต้น ดังนั้น การที่รัฐออกมาตรการด้านพลังงานออกมา เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบน้อยลง

ผู้ที่จะเข้ามาดูแลก็คือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปัจจุบันภาระที่เกิดขึ้นกองทุนน้ำมันติดลบกว่า 9 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือนมิถุนายนนี้อาจติดลบถึง 1 แสนล้านบาท จากราคาน้ำมันแพงก็พยายามให้หลายหน่วยงานเข้ามาพูดคุย และบริหารจัดการราคาพลังงานในประเทศให้ดีที่สุด และหลังเดือนกันยายนจะเข้าไปดูต่อไปว่ามีส่วนใดที่จะต่อมาตรการออกไปได้อีก แต่ขอความร่วมมือประชาชนปรับตัวช่วยกันใช้พลังงานอย่างประหยัด

จากปัจจัยที่เกิดขึ้น ภาคธุรกิจของไทยมีเงินให้กู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจมากขึ้น โดยสินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน และสินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขยายตัวนับตั้งแต่มีการระบาดโควิด ส่วนหนี้สินภาคธุรกิจที่เป็นหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ในภาพรวมยังทรงตัว และยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ในความรู้สึกยังคิดว่าเศรษฐกิจยังไม่ปรับตัวมากนัก เพราะเศรษฐกิจจะค่อยๆ ขยายตัวในภาพใหญ่มากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ในปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาด้านภูมิศาสตร์ด้านการเมืองมากขึ้น ซึ่งไทยต้องยืนในจุดที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ จะอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ต้องปรับตัวให้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ระยะถัดไปเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไทยต้องปรับตัวรอบด้าน และสร้างจุดขายใหม่ๆ มากขึ้น โดยทิศทางที่ได้หารือกับคณะรัฐมนตรี และได้เห็นชอบแล้วในแผนพัฒนาฉบับที่ 13 กำหนด 13 จุดมุ่งหมายสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งแผนพัฒนาสามารถทำได้บนโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว เช่น นักท่องเที่ยวจะให้ได้ 40 ล้านคนเหมือนเดิมคงยาก ต้องมาเน้นนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและปรับไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น รวมถึงได้วางแผนระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค เพื่อสร้างจุดเด่น ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น

สำหรับแนวทางในแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ใน 13 จุดมุ่งหมายมุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืนแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่1 เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลให้มากขึ้น, เปิดประตูการค้าการลงทุนโลจิสติกส์กับหลายประเทศ, พัฒนาการแพทย์แบบครบวงจร, ผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า, พัฒนาการท่องเที่ยวและเกษตรและเกษตรแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าจากการผลิตที่มีคุณภาพ

กลุ่มที่ 2 สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค ประกอบด้วย เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคมเติบโตต่อเนื่อง, เมืองมีความทันสมัย, ประชาชนมีความยากจนลดลงและความคุ้มครองทางสังคมเพียงพอ กลุ่มที่ 3 วิถีชีวิตที่ยั่งยืน ประกอบด้วย การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ, ลดความเสี่ยงภัยเกิดจากธรรมชาติ และกลุ่มที่4 ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย กำลังคนมีสมรรถนะสูง, ภาครัฐมีสมรรถนะสูง

สำหรับแง่เศรษฐกิจจะเติบโตมากขึ้นจากฐานโครงสร้างที่ดี แม้แผนจะยังไม่บังคับใช้ แต่ได้มีการจัดเตรียมความพร้อมในหลายเรื่องแล้ว เพื่อเป็นโอกาสในการเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจจะเดินต่อไปข้างหน้า

ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ จะประกอบด้วย 1.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำพูน และลำปาง จะยกระดับเป็นพื้นที่ลงทุนและพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักอย่างยั่งยืน 2.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย จะลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เชื่อมโยงห่วงโซ่การเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ

3.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมไฮเทคสู่มาตรฐานสากล เชื่อมโยงกรุงเทพฯ โดยรอบและอีอีซี และ 4.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชื่มโยงการค้าและโลจิสติกส์กับเศรษฐกิจหลักของประเทศและภูมิภาค สร้างพื้นที่เกษตรแปรรูป และการท่องเที่ยวหลัก รวมถึงการพูดคุยกับนักลงทุนด้านการลงทุนยานยนต์อีวีเข้ามาที่ประเทศไทยมากขึ้น

รัฐทำคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในบ้านเรา ขอให้ช่วยลดความขัดแย้งเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปข้างหน้ามากขึ้น และเพื่อให้เราก้าวหน้าไปข้างหน้าด้วยกัน

สอท.เร่งช่วยอุตสาหกรรม
ปรับตัวสู้‘ดิสรัปชั่น’

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

จากการสะท้อนเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจ ในมุมมองของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ทำให้เห็นถึงความท้าทายมากมายในทุกด้าน ซึ่งเห็นพ้องกันทั้งเรื่องอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ รวมถึงจากการฉายภาพของสภาพัฒน์ ทำให้เห็นถึงเรื่องการเมือง แต่ในภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ สิ่งที่เรามองเห็นเป็นความท้าทาย สิ่งที่เห็นชัดๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือผลกระทบจากวูก้า (VUCA) เป็นโลกในยุคปัจจุบัน คือ V-Volatility ความผันผวน, U-Uncertainty ความไม่แน่นอน, C-Complexity ความซับซ้อน, A-Ambiguity ความคลุมเครือ ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น และแก้ปัญหาได้อย่างไร ทั้งนี้ นอกจากเกิดวูก้าแล้ว ไทยยังอยู่ในช่วงที่พายุทางเศรษฐกิจกำลังก่อตัว แต่เราจะหลุดพ้นสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร

เมื่อมาดูผลกระทบจาก VUCA เมื่อแยกออกมาทีละตัว V คือเรื่องผลกระทบจากดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดกระแสดิสรัปชั่น ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบทั้งหมด อยู่ที่ว่าอุตสาหกรรมใดจะได้รับเกียรติโดนก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากคนเปลี่ยนแนวทางการเสพสื่อใหม่ ดังนั้น ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวอย่างยิ่ง ใน ส.อ.ท. มีทั้งหมด 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์การผลิต ทุกกลุ่มกำลังหนีตายกันอยู่ ส.อ.ท.จึงได้ออกโปรแกรม industry transformation ทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ทุกอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวให้แข็งแกร่งขึ้น และมีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น เพื่อให้ทุกอุตสาหกรรมไปถึง 4.0 เพราะตอนนี้ที่หลายอุตสาหกรรมยังอยู่ที่ 2.0-2.5 จากกระแสดิสรัปชั่นที่ยังรุนแรง ส่งผลให้ ส.อ.ท.มีการจัดตั้งแผนทั้งระยะกลางและระยะยาว เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ให้หนีจากการไล่ล่าของ
ดิสรัปชั่นอยู่ตลอดเวลา

ส่วนตัว U หรือความไม่แน่นอน จะเห็นได้ว่าจากนั้นไม่นาน เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ (เทรดวอร์) เป็นประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ หากนึกภาพตามจะเห็นได้ว่าไทยเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางเขาควาย และทั้ง 2 ประเทศ เป็นประเทศคู่ค้าที่มีความสำคัญกับประเทศไทย ในทุกๆ ปี ไทยค้าขายกับจีน และสหรัฐ เป็นอันดับ 1 และ 2 สลับกันไป ทั้งนี้ แม้ในบางปีไทยมีการค้ากับจีนเป็นจำนวนมาก แต่ไทยยังขาดดุลจีนมหาศาล แต่กลับกันเราอาจไม่ชอบสหรัฐเล็กน้อย แต่เราค้าขายกับสหรัฐไทยได้บวกถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือเป็นอันดับที่ 12-13 ของโลกที่มีการค้ากับสหรัฐ และถูกจับตาเรื่องค่าเงินว่าไทยมีการแทรกแซงค่าเงินทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงหรือไม่

แต่ปัจจุบันกลายเป็นโลกโลกาภิวัตน์ จีนกับสหรัฐ แตกกันเป็น 2 ฝั่ง สาเหตุคือสหรัฐมีจำนวนผู้บริโภคเป็นอันดับ 1 ของโลก การนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกรวมถึงจีนส่งผลให้ขาดดุลทางการค้ากว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นั่นคือต้นเหตุของสงครามการค้า จึงทำให้สหรัฐตั้งภาคการนำเข้าสินค้าจากจีนในทุกไอเท็ม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตอนที่เกิดเทรดวอร์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม และมีทั้งบวกและลบ อาทิ อุตสาหกรรมที่เป็นห่วงโซ่ในการส่งชิ้นส่วนอะไหล่ให้กับประเทศจีน และส่งออกไปยังสหรัฐ สินค้าเหล่านั้น ติดลบทั้งหมด แต่ในทางกลับกันสินค้าที่ส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐ อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าเพิ่มมหาศาล แต่ดีใจได้แค่ไม่นาน อะไหล่ในการผลิตขาดสต๊อก จึงเป็นแนวทางของการแก้ไขในอนาคตว่าโลกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว และมีการแยกค่ายแยกขั้วกันชัดเจน

ทางญี่ปุ่นมองว่าจีนแข็งแกร่ง ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ต้องกลายเป็นเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกแน่นอน เพราะเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เราคิดผิดไม่คิดว่าจีนจะก้าวทันหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย แต่ในที่สุดจีนก็แซงทุกประเทศไป และกลายเป็นโรงงานของโลกที่สมบูรณ์แบบที่สุด วิธีเดียวที่จะทำให้จีนอ่อนแอได้คือต้องกระชากซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งออกจากจีนให้หมด จึงทำให้เกิดการย้านฐานการผลิตอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นการย้ายอุตสาหกรรมไฮเทคกลับให้หมด ส่วนอุตสาหกรรมใดที่ต้องใช้แรงงาน ให้หาแรงงานใหม่ในภูมิภาคเอเชียแทนจีน หนึ่งในนั้น คือ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม กระแสนี้ยังอยู่และเราจะต้องร่วมกันทำให้ได้

ส่วนตัว C คือความซับซ้อน ไทยและทั่วโลกต้องเผชิญคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย 100 ปีจะมีหนึ่งหน ไทยเผชิญกับวิกฤตนี้มา 2 ปีแล้ว ที่สร้างความเสียหายให้ทั่วโลก ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ในปี 2562 ติดลบถึง 6.1% เพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจาก 40 ล้านคนต่อปี สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของจีดีพี รวมทั้งมีรายได้จากไทยเที่ยวไทย กว่า 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของจีดีพี รวมกันเป็น 18% ของจีดีพี หายวับไปกับตา แต่ในตอนนั้นยังเหลือเครื่องยนต์หนึ่งตัวที่ทำงานอย่างซื่อสัตย์ และแข็งแรง คือ ภาคการส่งออก ซึ่ง 70-80% มาจากภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้จีดีพีในปี 2564 กลับมาเป็นบวกที่ 1.4%

แต่ในปี 2565 ก็ได้รับของแถมจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เข้ามาในช่วงที่ทุกอย่างฟื้นตัวแต่ยังอ่อนแออยู่ ถือเป็นตัว A คือ ความคลุมเครือ ที่เหมือนกับโลกโดนทุบอีกดอกหนึ่ง แต่ปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาคือเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน อาทิ น้ำมัน ก๊าซ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือซัพพลายดิสรัปชั่น เพราะยูเครน เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่ผลิตขนมปังให้กับคนยุโรป และยังมีสินค้าพาราเดียม รวมทั้งปุ๋ยเคมี วันนี้สะบั้นหมด และปัญหาที่จะตามมาคาดว่าในสิ้นปี 2565 จะเกิดการขาดแคลนอาหารในทั่วโลก ประชากรหลายพันล้านคนในทวีปแอฟริกา หรือประเทศยากจนอาจจะขาดแคลนอาหาร

จากปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาใหญ่ที่ผมในฐานะประธาน ส.อ.ท.จะเข้ามาหาแนวทางป้องกันและแก้ไข โดยใช้ธีมที่สำคัญ 1FTI ขึ้นมา ประกอบด้วย 1VISION คือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม ตรงกับธีมที่ได้มาพูดครั้งนี้ คือ Stronger Thailand นอกจากนี้ ทาง ส.อ.ท.ยังมี 1team คือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ปัจจุบันเรามีสมาชิก 1.4 หมื่นบริษัททั่วประเทศ ภาคการผลิตอยู่ที่เราทั้งหมด โจทย์คือทำอย่างไรให้เราเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเชื่อมโยงกับภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ไปหารือร่วมกันที่ ส.อ.ท. ถึงเรื่องความร่วมมือ เช่น การเชื่อมโยงกับภาคการศึกษา เพื่อผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และลดปัญหาจบมาไม่มีงานทำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวของ อาทิ หอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมท่องเที่ยว สมาพันธ์เอสเอ็มอี และต่างประเทศ เป็น 1team ในการร่วมกันทำงาน ท้ายที่สุดต้องมี 1GOAL เป้าหมายที่ชัดเจน ตั้งมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ สิ่งเหล่านี้เป็นภาพรวมอุตสาหกรรมที่เราจะไปในอนาคต ส่วนในอุตสาหกรรมดั้งเดิม เราต้องเสริมทำอย่างไรให้อยู่รอด โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ไม่ว่าอย่างไรต้องทำให้กลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นการซื้อเวลาในการปรับตัว แต่อาจจะไม่ได้รอดเลย ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เพื่อทำให้ประเทศไทยหลุดจากการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง หากเราย้อนดูจีดีพี ย้อนหลังไป 10 ปี จะเห็นได้ว่าอยู่ที่ประมาณ 3% หากเราจะเติบโตด้วยโมเดลเดิมๆ เช่นนี้ กว่าเราจะหลุดออกจากการเป็นประเทศที่มีกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่รายได้สูง อาจจะต้องใช้เวลากว่า 30 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่เราจะสามารถไปสู่จุดนั้นได้เร็วคือเราต้องเปลี่ยนโมเดล และยุทธศาสตร์ประเทศใหม่

อีกส่วนที่สำคัญคือ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ขณะนี้ รัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้ว รัฐบาลตั้งเป้าว่าส่วนนี้จะเข้ามาเพิ่มการเติบโตกว่า 24% ของจีดีพี หรือช่วยเพิ่มเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า 4.4 ล้านล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ในมุมมองของนักอุตสาหกรรม เศรษฐกิจชีวภาพ เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เป็นอนาคต เป็นโอกาสของไทย แต่เราไม่ทำวิธีเดิมๆ ต้องดูว่าเราจะทำอย่างไรเพิ่มให้เศรษฐกิจชีวภาพ เกิดขึ้นจริง ส่วนเศรษฐกิจสีเขียว เป็นเรื่องที่ ส.อ.ท.ให้ความใส่ใจในเรื่องนี้มาก เพราะถ้าเราไม่เปลี่ยนไทยจะถูกกีดกันและจะส่งออกไม่ได้ในอนาคต

ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่กว่าคลื่นที่ผ่านมา หากเราปล่อยให้ทุกคนทำเหมือนเดิมอุณหภูมิของโลกจะเปลี่ยนแปลง และอาจส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย นั่นคือหายนะที่แท้จริง ทั้งนี้ จากผลการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2564 หรือ COP26 ผู้นำหลายประเทศได้แสดงวิสัยทัศน์และแสดงความุ่งมั่นที่จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือลดการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล หันไปใช้พลังงานสะอาดทดแทน ซึ่งจะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เปลี่ยนแปลง 1.5 องศาเซลเซียล หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ป็นเรื่องที่มีความท้าทายโดย นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศบนเวที COP26 ว่าในปี 2030 ไทยจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซน์ 40% ส่วนในปี 2050 เราจะเป็นความเป็นกลางของคาร์บอน และในปี 2065 เราจะเป็นประเทศ ซีโร่ คาร์บอน เหล่านี้เป็นสิ่งท้าทาย เพราะสหภาพยุโรปหรืออียู เอาเรื่องนี้เป็นหมัดเด็ด ในการกีดกันทางการค้าอีกรูปแบบหนึ่ง โดยจัดตั้งมาตรฐาน ซีแบม หรือการเรียกเก็บภาษีจากทุกอุตสาหกรรมในโลก ประเทศไทยไม่ทำไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนระบบการจัดเก็บคาร์บอร์น ไทยต้องทำเพราะเราพึ่งพาการส่งออก กว่า 70% ของจีดีพี ซึ่งสิ่งนี้คือโอกาสใหม่

ส่วนเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ที่ผ่านมาไทยส่งออกยานยนต์เป็นอันดับ 11-12 ของโลกมาตลอด เรามีการผลิตรถยนต์เพิ่มส่งออกประมาณ 2-2.2 ล้านคันต่อปี จากกำลังการผลิตทั้งหมด 3 ล้านคันต่อปี ปัจจุบันมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 7 แสนคน แต่จากกระแสรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่กำลังมา ทำให้ไทยกำลังโดนดิสรัปชั่น การส่งออกยายนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ไทยครองที่ 1 มาโดยตลอด ถ้าอุตสาหกรรมนี้โดนดิสรัปชั่นแล้ว ส่งผลให้แรงงานต้องหายจะระบบครึ่งหนึ่งจะทำอย่างไร ดังนั้น เวลานี้รัฐบาลจึงได้เร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์อีวี แต่เราต้องเข้าว่าไทยมีคู่แข่งที่หนักสุด คือ อินโดนีเซีย ปัจจุบันเรากำลังจีบเทสล่าแข่งกับอินโดนีเซีย โดยประธานธิบดีของอินโดนีเซียบินไปคุยกับอีลอน มัสก์ ด้วยตัวเอง

ดังนั้น ไทยจะทำอย่างไรหากเทสล่าไปตั้งฐานการผลิตที่อินโดนีเซีย เพราะหลายปีที่ผ่านมาโตโยต้าญี่ปุ่นได้เดินทางมาที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีการประชุมที่ท่าอากาศอู่ตะเภา จ.ระยอง เพื่อเชิญชวนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ แต่ตอนนั้นเอกชนยังไม่ให้ความสนใจ โดยตั้งเงื่อนไขว่าไทยจะต้องเป็นไฮบริดก่อน ยังไม่ใช่อีวีสมบูรณ์ อีก 20 ปีค่อยมาคุยกัน แต่ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ว่าโตโยต้าประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจลงทุน โรงงานผลิตรถยนต์อีวี วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ในอินโดนีเซีย สิ่งหนึ่งที่ไทยจะสู้ได้อย่างเดียวคือการมีดีมานด์เรื่องแบตเตอรี่มากกว่า เรามียอดสั่งจองรถยนต์อีวี 10,000 คันต่อปี ขณะที่ อินโดฯ มียอดสั่งจองไม่กี่ร้อยคัน ดังนั้น เราตั้งเร่งมือก่อนที่จะถูกดิสรัปชั่น

นอกจากนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ใหญ่สุดในโลก ในช่วงโควิด-19 มียอดการสั่งซื้อแซงหน้ารถยนต์ไปแล้ว แต่ตอนนี้กำลังโดนดิสรัปชั่น เพราะหลังจากนี้นิวเทคโนโลยีคือโซลิดสเตต หรือวงจรที่ไม่มีหลอดสุญญากาศ กำลังมา หากมาจริงจะทำให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์หายไปกว่า 1 แสนคน เรื่องนี้เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งหาแนวทางรับมือ ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรและชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูป มีการเกี่ยวเนื่องกัน ปัจจุบันแม้ไทยจะเป็นครัวของโลก แต่เรามีการส่งอาหารซ้ำ ไม่มีมูลค่าเท่าไหร่ ดังนั้น หลังจากนี้เราต้องเป็นฟู้ดฟอร์เดอะฟิวเจอร์

นอกจากนี้ เราเร่งสร้างเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industrial:SAI) มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเกษตรของไทย จากเดิมที่อะไรเป็นที่นิยมก็แห่ไปปลูก อาทิ ทุเรียน โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีการโค่นสวนยางพาราเพื่อปลูกทุเรียน เพราะสามารถส่งออกได้กว่า 1 แสนล้าน แต่ประเทศหลักที่มีการส่งออกกว่า 90% ส่งไปที่จีน และฮ่องกง ข้อกังวลคือหากประเทศต้นทางอย่างจีนไม่รับซื้อทุกรายที่หันมาปลูกก็เจ๊งหมด ดังนั้น จากนี้ไปทุกฝ่ายต้องมีการพูดคุยกันว่าต่อไปจะมีการปลูกอะไรบ้าง ปริมาณขนาดไหน ความต้องการจองตลาดโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมมีเท่าไหร่ เพื่อให้มีดีมานด์เพียงพอกับความต้องการ และจะสนับสนุนการใช้ไบโอ เป็นสารตั้งต้นและจับกับอุตสาหกรรม โดยได้เริ่มแล้วโดยใช้ชื่อ SAI in the city ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยผลิตโปรตีนทางพืชแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก โดยใช้พื้นที่ 2-3 ไร่ และมีอุตสาหกรรมต่างๆ มาช่วยกันคิดและทำ

ก่อนหน้านี้ ได้มีโอกาสหารือกับผู้ว่าฯกทม. ถึงการขอใช้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพฯ ที่ต้องเสียภาษีมากมาย แต่ทำได้แค่ปลูกกล้วย ปลูกมะนาว นำมาให้ ส.อ.ท.พัฒนาพื้นที่เป็นโรงเพาะเห็ด ที่พัฒนาเป็นหนังเทียมได้ เพื่อสร้างงาน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ให้กับประชาชน หากทางแสนสิริมีที่ดินนำมาให้ ส.อ.ท.พิจารณาได้

ในส่วนของยุทธศาสตร์ของ ส.อ.ท. ปัจจุบันได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. เรียบร้อยแล้ว เป็นโครงการที่ภาครัฐลงทุน 1 พันล้านบาท เอกชนลงทุน 1 พันล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้ ส.อ.ท.ได้รับมอบหมายในการดูแลโครงการ เพื่อนำมาต่อเติมให้กับอุตสาหกรรมทั้ง 45 กลุ่มของเรา นอกจากนี้ ต้องเน้นเรื่องการรีสกิล และอัพสกิล โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่บอบช้ำมากในช่วงที่ผ่านมา จะต้องผลักดันให้กลุ่มนี้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี

ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นโอกาสใหม่ของประเทศและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เราจะไป เป็นการตอกย้ำแนวทางนี้ ส.อ.ท.ได้เตรียมจัดงานเอ็กซ์โป ที่ชื่อว่า FTI EXPO 2022 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 29 มิถุนายน-3 กรกฎาคมนี้ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดจะนำไปจัดแสดงในงานนี้ และเหตุผลที่เลือกจัดงานที่เชียงใหม่ เพราะ ณ ตอนนี้ ต้องการให้เป็นการรีสตาร์ตประเทศ ตามนโยบาย BCG

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image