คิดเห็นแชร์ : ค้นหาI.D.E.A.ลงทุนหลังตลาดปรับฐานใหญ่

ค้นหาI.D.E.A.ลงทุนหลังตลาดปรับฐานใหญ่

ค้นหาI.D.E.A.ลงทุนหลังตลาดปรับฐานใหญ่

ในจังหวะการปรับฐานของหุ้นสหรัฐที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1962 นักลงทุนส่วนมากกำลังกังวลกับเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น หรือความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาวอย่าง Thematic Investor มักเห็นตรงกันว่า จังหวะที่ราคาสินทรัพย์ทางการเงินปรับตัวลงนี้ เป็นหนึ่งในช่วงที่ดี ที่จะมองหาไอเดียการลงทุนใหม่เพื่ออนาคต

Advertisement

ล่าสุด ทีมงาน Goldman Sachs (GS) นำโดย Peter Oppenheimer เลือก 4 กลุ่มการลงทุนประกอบด้วย Innovators, Disruptors, Enablers และ Adaptors รวมตัวย่อเป็น I.D.E.A. ที่นักลงทุนควรรู้จักสำหรับทศวรรษ 2030

ผมจึงนำ I.D.E.A. มาวิเคราะห์ มองจุดอ่อนจุดแข็ง และหาโอกาสการลงทุนให้นักลงทุนไทยได้เข้าใจไปพร้อมกัน

Innovator ธีมลงทุนที่เน้นสร้างผลิตภัณฑ์และตลาดใหม่

Advertisement

บริษัทกลุ่ม Innovator จะเน้นลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างส่วนแบ่งตลาดก่อน เห็นได้ชัดเจนที่สุดในกลุ่มเทคโนโลยี เช่น Alphabet, Facebook อุตสาหกรรม เช่น TSMC หรือสาธารณสุขอย่าง Roche Holding, Nova Nordisk

Innovator มีความโดดเด่นในช่วงที่ตลาดมองหาการเติบโตในอนาคตมากกว่ากำไรในปัจจุบัน แต่มีความเสี่ยงหลักคือเป็นกลุ่มที่ถูกคาดหวังสูงขณะที่รายได้ยังไม่เกิด Valuation จึงมักสูงผิดปกติ

Disruptor ธีมลงทุนที่เน้นใช้เทคโนโลยีในการแย่งส่วนแบ่งตลาด

มีความคล้ายกับ Innovator เพราะทุก Disruptor จะต้องเป็น Innovator ไปด้วย (แต่ Innovator อาจไม่ใช่ Disruptor เสมอไป)

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือธุรกิจค้าปลีก เช่น Amazon.com, JD.com, Mercado Libre หรือธุรกิจบันเทิงอย่าง Match Group, Kakao, Roblox

บริษัทกลุ่ม Disruptor เน้นไปที่การเติบโตจากส่วนแบ่งตลาดทั้งภายในและภายนอกอุตสาหกรรม มักโดดเด่นในช่วงที่เศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ มีจุดอ่อนเหมือน Innovator คือ Valuation ที่สูงกว่าตลาด

Enabler ธีมตั้งรับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พร้อมกับนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง

Enabler มักเป็นบริษัทที่มีพันธกิจเฉพาะตัว เช่น บริษัทที่ตั้งใจรับมือกับปัญหา สภาพแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อน สังคมทำงานรูปแบบใหม่ หรือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

มักเป็นบริษัทที่สร้างเครื่องมือหรือ Platform ให้บริษัทอื่นสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ เช่น Apple, Dell Technologies, NVDIA, AMD กลุ่มพลังงานอย่าง Exxon Mobil, Chevron และสาธารณูปโภค เช่น NextEra Energy, Enel, Deutsche Telekom

Enabler ไม่ได้เน้นการเติบโตโดยตรง แต่จะเน้นไปที่การสนับสนุนให้เกิดการเติบโต จึงมักเป็นจุดด้อยเมื่อตลาดมองหาบริษัทเติบโตสูง แลกมาด้วยความคาดหวังที่ต่ำและ Valuation ไม่แพง

Adaptor ธีมลงทุนในธุรกิจที่ผ่านช่วงเติบโตสูงไปแล้วแต่กำลังปรับตัวเพื่อหารายได้ในรูปแบบใหม่

Adaptor มักเป็นกลุ่มที่นักลงทุนมองข้ามเพราะไม่ได้มีการเติบโตที่โดดเด่นและเน้นการรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนให้ได้ก่อน

ปัจจุบัน Adaptor มักอยู่รวมกับในธุรกิจที่มีกฎเกณฑ์แน่นหนาอย่างการเงิน เช่น JPMorgan Chase, BlackRock, AIA Group กลุ่มพลังงานอย่าง BP, Total Energies, Reliance Industries

ข้อเด่นของธีมลงทุนนี้แน่นอนว่าคือการสร้างรายได้และความสามารถในการอยู่รอดในระยะยาว แต่ก็แลกมาด้วยการเติบโตที่ต่ำบนต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงกว่าปกติ เปรียบเทียบเป็นเหมือนทีมฟุตบอล Disruptor จะเป็นกลุ่มที่เน้นทำประตู แต่ Adaptor จะเป็นกลุ่มที่เน้นป้องกันการเสียประตู

เมื่อเข้าใจ I.D.E.A. แล้วก็ต้องประกอบเข้ากับมุมมองเศรษฐกิจและนโยบายการเงินในอนาคต หยิบเอาจุดแข็งจุดอ่อนมาลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม

ดอกเบี้ยสูงคือสิ่งที่ต้องคิดถึงเป็นเรื่องแรก ไม่ดีสำหรับ Innovator และ Disruptor แต่ Adaptor มีโอกาสรอด

เพราะดอกเบี้ยจะทำให้ส่วนที่เปราะบางที่สุดของตลาดอย่าง Valuation มีการปรับตัวลงมาอย่างแน่นอน

แม้ตลาดจะผ่านการปรับฐานที่รุนแรงมาแล้ว ล่าสุด GS ประเมินว่าทั้ง Innovator และ Disruptor ยังคงมีระดับ P/E (EPS เฉลี่ยสองปีข้างหน้า) สูงถึง 23-28x แพงกว่า MSCI All Country World Index ที่ 16x อยู่กว่า 40%

ขณะที่กลุ่ม Adaptor มี P/E เพียง 13x แถมมีปันผลให้ราว 3% อีก ไม่เพียงจะทำให้โอกาสปรับฐานน้อยกว่าแล้ว ในเชิงกลยุทธ์ก็อาจมีนักลงทุนที่พลิกกลับมาให้ความสนใจการลงทุนแนวตั้งรับแบบนี้มากขึ้นถ้าดอกเบี้ยไม่ปรับตัวลงเร็ว

ต่อมาคือเรื่องมุมมองเศรษฐกิจ ถ้าโลกต้องอยู่ในภาวะเงินเฟ้อสูงและเสี่ยงถดถอย สัดส่วนอุตสาหกรรมจะหนุน Enabler และ Adaptor มากกว่า

จากข้อมูลของ GS สองธีมนี้มีสัดส่วนในธุรกิจสาธารณูปโภคถึงกว่า 15-22% ขณะเดียวกันก็มีสัดส่วนในกลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและพลังงาน 5-12% ด้วย

ระยะสั้นกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มักสามารถส่งผ่านต้นทุนเงินเฟ้อไปให้ผู้บริโภคได้ แรงกดดันจากเศรษฐกิจจึงคาดว่าจะน้อยกว่า Innovator และ Disruptor ที่มักเน้นหนักไปทางเทคโนโลยีและการวิจัยด้านสาธารณสุข

สุดท้ายคือเปรียบเทียบโอกาสเติบโตกับมูลค่าในปัจจุบัน Disruptor คุ้มค่ามากที่สุด

ถ้าเรายังมองว่าเงินเฟ้อและดอกเบี้ยต้องลดในอนาคต ธีมการลงทุนที่เน้นเติบโตสูง (Growth) จะคงอยู่ ก็แค่ต้องมองหากลุ่มเติบโตที่คุ้มกับราคาที่ต้องจ่าย

ปัจจุบัน GS มองว่า Disruptor ยังมีโอกาสสร้างการเติบโตในเชิงรายได้ถึง 27% ต่อปีไปอย่างน้อย 2 ปีข้างหน้า รองลงมาคือ Innovator และ Enabler ที่ 13% ต่อปี

สำหรับโอกาสต่อความเสี่ยง ถ้าการปรับฐานจบตรงนี้ ผมเชื่อว่ากลุ่ม Disruptor น่าสนใจมากที่สุด แต่ถ้าเกิดตลาดร่วงลงไปอีก 10-15% ก็คุ้มที่จะสะสมทุก I.D.E.A. เพื่อลงทุนในระยะยาวครับ

จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image