ที่เห็นและเป็นไป : ‘นิมิตหมาย’ที่ดีงาม โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

คําพูดในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรของ นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าด้วย “เกียรติของสภา” ที่ “นายกรัฐมนตรี” ต้องให้

พร้อมกับสั่งสอนด้วยคำแรงจากบัลลังก์ประธานที่ประชุมสภาผู้แทนฯ โดยมี ส.ส.และรัฐมนตรีบางคนร่วมรับรู้ คงไม่ใช่แค่พูดไปเรื่อยเปื่อย

เพราะเป็นประเด็นที่สะท้อนถึงจิตสำนึกในศักดิ์ศรี “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

“อยากฝากรัฐมนตรีไปถึงนายกฯ ว่า ขอให้พูดที่ประชุม ครม. เตือนนายกฯกันหน่อยว่า สภามีข้อบังคับข้อที่ 151 ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน นายกฯควรมาตอบเอง” รองสุชาติกล่าว และสั่งสอนว่า นายกฯ หากติดภารกิจต้องมอบหมายบุคคลใดที่สามารถมาตอบได้ แต่การมอบหมายอย่าสั่งเหมือนทหาร คือ สั่งไปแล้ว ถือว่า จบกัน นั่นไม่ใช่ แต่ขอให้สั่งเหมือนนักการเมืองหน่อย สอบถามกันหน่อยว่า ว่างหรือไม่ มาตอบได้หรือไม่ แบบนี้ถึงเรียกว่า มอบหมาย แต่มอบหมายแล้วไม่มีคนมาตอบถือว่า ไม่ได้มอบหมาย

Advertisement

บทบาทที่รองสุชาติแสดงรอบนี้ มีความหมายสำคัญยิ่ง

ย่อมเป็นที่รับรู้กันดีว่า การเมืองประเทศไทยเรา เป็นการช่วงชิงความชอบธรรมในอำนาจของ “2 กลุ่ม” คือ “นักการเมืองฝ่ายอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน” กับ “นักการเมืองที่อำนาจมาจากการได้รับเลือกจากประชาชน”

ความยุ่งยากของการบริหารจัดการประเทศเกิดจาก ไม่สามารถจะตัดสินได้เด็ดขาดว่าจะปกครองด้วยระบอบใด ระหว่างประชาธิปไตยที่อำนาจทั้งหมดมาจากประชาชน กับ “เผด็จการที่การมีอำนาจไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน”

Advertisement

ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ หรือว่าไปแทบทั้งหมดของการเมืองไทยอยู่ภายใต้การควบคุมจัดการด้วยอำนาจแบบเผด็จการ และประชาธิปไตยผสมเผด็จการที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

แทบไม่มีหรือมีก็น้อยมากที่จะประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์จะมีบทบาทในการนำพาประเทศ

แต่ทั้งที่มีโอกาสมากกว่า “เผด็จการ” กลับรักษาอำนาจไว้ไม่ได้ จำเป็นต้องหาทางออกด้วยการสร้างภาพลวงมาเป็นประชาธิปไตยเพื่อซ่อนอำนาจเผด็จการไว้

“ประชาธิปไตยที่ถูกควบคุมโดยเผด็จการ” สลับเข้ามามีบทบาทแทนเมื่อ “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” ไปไม่ไหว

เพราะเผด็จการไร้ความสามารถที่จะบริหารจัดการประเทศให้เจริญรุ่งเรือง แก้สร้างความอยู่ดีกินดี ร่มเย็นเป็นสุข สร้างความหวังในอนาคตที่ดีกว่าต่อประชาชนได้ การต่อสู้เพื่อให้ตัวเองเกิดความชอบธรรมจึงคือการ “ทำลายนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ให้ดูไร้ประสิทธิภาพ และเลวทรามต่ำช้าในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน

และเมื่อครองอำนาจต่อเนื่องมายาวนาน จึงสามารถควบคุมกลไกอำนาจที่จะจัดการสร้างค่านิยมให้ประชาชนไว้เป็นส่วนใหญ่

เรื่องราวความเลวร้าย และไร้ความรู้ความสามารถของ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” จึงถูกทำให้เป็นภาพในความทรงจำ อยู่ในความเกลียดชัง และหมิ่นแคลนของประชาชน

“นักการเมืองจากอำนาจ” ประชาชนต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อผูกใจประชาชน ทั้งงานในสภาอันเป็นหน้าที่โดยตรง และลงดูแลช่วยเหลือในพื้นที่อันเป็นหน้าที่ของข้าราชการหรือกลไกรัฐ

แต่ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” ยังยากจะฝ่าด่านการเมืองเชิงจิตวิทยาที่กลไกสร้างภาพที่เลวร้ายให้ โดยเลือกเอาภาพในเชิงลบมาโฟกัส ขณะที่พยายามปิดหูปิดตาให้เห็นแค่คุณงามความดีของ “อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน”

และเมื่อการเล่นการเมือง คือการหาโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ ทำให้ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง” หรือจะว่าไปเป็น “ส่วนใหญ่” ยอมที่จะเดินร่วมอยู่ในความหมิ่นแคลน กินน้ำใต้ศอกเพื่อเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมในอำนาจ

พากันปิดปากตัวเองเงียบจากประเด็น “ภาพลักษณ์นักการเมืองของประชาชนถูกทำให้มัวหมอง”

โดยเฉพาะ “พวกที่ได้เสวยวาสนาจากผู้มีอำนาจเจือจานให้”

ปล่อยให้หน้าที่รักษาปกป้องเกียรติยศชื่อเสียงของสภาผู้แทนราษฎร เป็นของ “ฝ่ายค้านบางคน”

ในฝ่ายรัฐบาลแทบจะยกย่องการยอมจำนนที่จะปิดปากตัวเองจากการปกป้อง “เกียรติยศของผู้แทนราษฎร” ขึ้นเป็นระดับ “จริยธรรม” ที่จะต้องกระทำ และ “มารยาท” ที่จะต้องรักษาไว้

เมื่อวันนี้ สุชาติ ตันเจริญ ในฐานะสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ฝ่าการยอมจำนนนั้นออกมาสั่งสอนผู้นำประเทศ ให้รู้จักให้เกียรติ “สภาผู้แทนราษฎร”

ย่อมแสดงถึงนิมิตหมายบางอย่าง

ไม่ว่าความองอาจในศักดิ์ศรีของผู้ที่มาจากอำนาจประชาชนที่ “สุชาติ ตันเจริญ” จะมาจากอะไร

นิมิตหมายที่เกิดขึ้นล้วนน่ายินดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image