สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อโอมิครอน กลับมาอาละวาด โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อโอมิครอน กลับมาอาละวาด โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ทั่วโลกเพิ่งหายใจคล่องขึ้นมาเล็กน้อยหลังจากการระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สร่างซาลงไป แต่แล้วก็ปรากฏ “เทรนด์” ใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อจำนวน
ผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหราชอาณาจักร (ยูเค) และสหรัฐอเมริกา

เชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่อาละวาดหลังสุด คือ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อยบีเอ.2 ในขณะที่เชื้อโอมิครอนที่เป็นต้นเหตุให้ปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญระลอกใหม่นี้ คือ สายพันธุ์ย่อยบีเอ.4 และบีเอ.5

นักวิทยาศาสตร์พบบีเอ.4 และ 5 ครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้นี่เอง ทีแรกเข้าใจกันว่าเป็นสายพันธุ์ย่อยที่แยกออกมาจากเชื้อโอมิครอน บีเอ.1 ซึ่งแพร่หนักทั่วโลกในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่เมื่อตรวจสอบพันธุกรรมกันจริงๆ ผู้เชี่ยวชาญกลับเชื่อว่า บีเอ.4 และ 5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่แยกออกมาจาก
บีเอ.2 ที่ระบาดเร็วมากจนเข้ามาแทนที่บีเอ.1 ในที่สุด

เบตต์ คอร์เบอร์ กับวิลเลียม ฟิชเชอร์ สองนักวิจัยอเมริกันจากห้องปฏิบัติการทดลองแห่งชาติ ลอส อลามอส ในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ตรวจสอบพบเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า แม้บีเอ.4 และ 5 จะมีคุณลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับบีเอ.2 อย่างมาก แต่ก็มีการกลายพันธุ์บางจุดที่เป็นของตัวเอง แตกต่างออกไปจากสายพันธุ์ย่อยที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลายพันธุ์ในบริเวณโปรตีนหนาม ซึ่งไวรัสโควิด-19 ใช้ในการจับเกาะกับเซลล์ในร่างกายคนเราเพื่อแพร่เชื้อ

Advertisement

การกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญดังกล่าวคือการกลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลำดับพันธุกรรมที่เรียกว่า L452R กับ F486V บนโปรตีนหนาม

การเปลี่ยนแปลงตรงจุดนี้นี่เองที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ทำให้ความสามารถในการจับเกาะเข้ากับเซลล์ในร่างกายมนุษย์เปลี่ยนไปในทางที่ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น และเป็นเหตุให้มันหลีกเลี่ยงการตรวจจับของภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราได้ดีขึ้น

พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้มันสามารถแพร่ไปในหมู่คนได้มากขึ้น และเร็วขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา จนเป็นเหตุให้ยอดผู้ติดเชื้อในหลายประเทศทั่วโลกกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

Advertisement

คริสเตียน อัลท์เฮาส์ นักระบาดวิทยาผู้เชี่ยวชาญในการจำลองการระบาดด้วยแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเบิร์น ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ความสามารถในการแพร่ในตัวคนที่มีภูมิคุ้มกันอยู่ก่อนแล้ว ทั้งจากการที่เคยติดเชื้อโอมิครอนก่อนหน้านี้หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาแล้วนี่เองที่ทำให้มันสามารถแพร่ได้เร็วมาก มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากทั่วโลกได้

จำนวนผู้ติดเชื้อบีเอ.4 และบีเอ.5 จะลดลงก็ต่อเมื่อมีผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อมากถึงระดับหนึ่งแล้วนั่นเอง

ผู้เชี่ยวชาญอย่างอัลท์เฮาส์ชี้ว่า โอมิครอนบีเอ.4 และบีเอ.5 จะระบาดมากแค่ไหนจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ บางประเทศอาจมีผู้ติดเชื้อนี้ได้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่อีกหลายประเทศอาจสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับคุณลักษณะเชิงภูมิคุ้มกันของประเทศนั้นๆ เพราะลักษณะภูมิคุ้มกันของแต่ละประเทศในเวลานี้ แตกต่างกันมาก เนื่องจากระดับการฉีดวัคซีนและระดับที่เคยมีการติดเชื้อก่อนหน้านี้มากน้อยแตกต่างกันออกไป

วาซิลา แจสแซท ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติในแอฟริกาใต้ ระบุว่า อัตราส่วนของผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจากการติดเชื้อ บีเอ.4 และ 5 ก็น่าจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศอีกด้วย

ในแอฟริกาใต้เอง แม้จะมีการระบาดจนจำนวนผู้ติดเชื้อมีสูงมาก แต่จำนวนผู้ที่มีอาการหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกลับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนอัตราการเสียชีวิตกลับต่ำลงจากระลอกการระบาดของโอมิครอนบีเอ.2 ก่อนหน้านี้

แต่ทั้งอัตราส่วนของผู้ป่วยครองเตียงกับผู้เสียชีวิตจากโอมิครอนทั้งบีเอ.2 กับบีเอ.4 และ 5 กลับต่ำลงมากจากระดับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อสายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาด

ในทางตรงกันข้าม ที่ประเทศโปรตุเกส อัตราส่วนของผู้ครองเตียงและผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อบีเอ.4 และ 5 กลับไม่แตกต่างจากอัตราเดียวกันของผู้ติดเชื้อโอมิครอนก่อนหน้านี้

อัลท์เฮาส์และแจสแซทเห็นตรงกันว่า ความแตกต่างในเชิงประชากรของทั้งสองประเทศ คือสาเหตุที่ก่อให้เกิดความแตกต่างดังกล่าว

นั่นคือ ยิ่งเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนของประชากรสูงอายุมาก ความร้ายแรงของโรคก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

วัคซีนที่เคยใช้ได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อบีเอ.1 และบีเอ.2 ก่อนหน้านี้ ไม่เพียงใช้ไม่ได้ผลในการป้องกันบีเอ.4 และ 5 เท่านั้น ยังก่อให้เกิดภาวะย่ามใจ ไม่ระมัดระวังและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

นี่คือข้อควรระวัง แม้ว่าอาการที่บีเอ.4 และ 5 ก่อให้เกิดขึ้นกับประชากรทั่วไป ไม่รุนแรงและก่อให้เกิดการเสียชีวิตมากเท่ากับ บีเอ.1 และ 2 ที่ระบาดมาก่อนหน้านี้ก็ตามที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image