‘สปสช.’ ยัน! เคสผู้บริหาร ‘รพ.มงกุฎวัฒนะ’ โพสต์ขอคืนผู้ป่วยบัตรทอง-ผู้ประกันตน ทำไม่ได้

‘สปสช.’ ยัน! เคสผู้บริหาร ‘รพ.มงกุฎวัฒนะ’ โพสต์ขอคืนผู้ป่วยบัตรทอง สปส. ยันทำสัญญาแล้วคืนผู้ประกันตนไม่ได้

จากกรณีที่ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) มงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เพื่อการลดความแออัดของผู้ใช้บริการโรงพยาบาลจึงจำเป็นจะต้องคืนผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ขึ้นทะเบียนปฐมภูมิ ให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 70,000 คน และผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคม อีก 60,000 คน

Facebook: เหรียญทอง แน่นหนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: รพ.มงกุฎวัฒนะ ส่งคืนสิทธิผู้ป่วยบัตรทอง-ประกันสังคม มากกว่า 2 แสนราย อ้างลดภาระ

ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (5 สิงหาคม 2565) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า ยังไม่เห็นหนังสือจาก รพ.มงกุฎวัฒนะ ในกรณีดังกล่าว แต่เชื่อว่ามีการหารือกันผ่านคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) กรุงเทพมหานคร ที่มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน ทั้งนี้ ตามระบบบริการปฐมภูมิของ สปสช. นั้น หน่วยบริการหลักที่ดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองในระดับปฐมภูมิจะเป็นคลินิกและศูนย์บริการสาธารณสุข

“แต่ที่ผ่านมา มีการคืนสิทธิจากคลินิกและศูนย์บริการฯ จึงต้องไปขอความร่วมมือกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ให้รับผู้ป่วยในระดับปฐมภูมิให้ด้วย ซึ่งท่านก็กรุณา ตอนนี้ก็จะต้องมีการหารือกันเพื่อหาคลินิกและศูนย์บริการ มารองรับ” นพ.จเด็จ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามปกติการคืนหรือเพิ่มสิทธิของบัตรทองในแต่ละหน่วยบริการต้องแจ้งที่มา สปสช. หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า จะต้องแจ้งกับ อปสข.ก่อน แล้วส่งหนังสือมาถึง สปสช.อีกครั้ง

“เข้าใจว่าเป็นการจัดลดหรือเพิ่มประจำปี ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าท่านหมายถึงช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งการลดความแออัดใน รพ. เป็นนโยบายของ อปสข.ตั้งแต่แรกที่อยากให้มีการคืนผู้มีสิทธิบัตรทองให้กับระบบบริการปฐมภูมิ คือ คลินิก ซึ่ง รพ. ก็จะมีหน้าที่รับส่งต่อ ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ แสดงว่าท่านก็สนับสนุนในนโยบายดังกล่าว” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตามนโยบายคือการให้ประชาชนไปขึ้นทะเบียนกับคลินิกและศูนย์บริการ เพราะตอนนี้คนไปขึ้นทะเบียนกับ รพ.ขนาดใหญ่ ก็อาจจะเกิดความแออัดได้

Advertisement

ทางด้าน น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า จากการตรวจสอบภายในหน่วยงาน สปส. ไม่พบว่ามีข้อมูลดังกล่าว และยังไม่ได้รับการแจ้งประสานอย่างเป็นทางการกับผู้บริหารของ รพ.มงกุฎวัฒนะ แต่อย่างใด

“อย่างไรก็ตาม ในการเปลี่ยนแปลงหรือบอกเลิกสัญญาใดๆ กับ สปส. คู่สัญญาจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสัญญาระหว่าง สปส. กับ รพ.มงกุฎวัฒนะ พบว่าในปี 2565 รพ.ได้ลงนามความร่วมมือกับ สปส. ดูแลผู้ป่วยประกันสังคมแล้ว ดังนั้นจะบอกเลิกหรือเปลี่ยนสัญญากลางคันไม่ได้ ส่วนของปี 2566 ก็ได้มีหนังสือแจ้งว่าจะดำเนินการต่อแล้ว โดยดูแลผู้ประกันตน 1 แสนคน ดังนั้น กรณีที่ปรากฏในข่าวจึงเป็นไปไม่ได้แน่นอน” น.ส.ลัดดา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image