เดินหน้าชน : เกมของพรรคใหญ่ โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

ดูเหมือนว่า ถนนการเมืองของพรรคใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” และ “พลังประชารัฐ” กำลังมุ่งหน้าสู่เส้นทางคำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 กันอีกครั้ง คู่ขนานไปกับแผนโรดโชว์ของสองพรรคใหญ่ในการพบปะพี่น้องประชาชนไปทั่วภูมิภาค ที่สามารถกำหนดทิศทางการปราศรัยในการแย่งชิงฐานเสียงมวลชนกันได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น

หลังมีการส่งซิกพลิกเกมในการประชุมรัฐสภาร่วมจนล่มกลางคัน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขยับไปไม่ถึงไหน บีบเวลาให้ถกกันหนสุดท้ายในวันที่ 10 สิงหาคม

ในวันนั้นจะเหลือเวลาให้พิจารณากันก็คงจะน้อยเต็มที เพราะจะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม วาระสองในมาตราที่ค้างให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ช่วงนี้ก็จะมีการเผาเวลาให้มากที่สุด จึงจะถกกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.

หากพิจารณากฎหมายลูกไม่แล้วเสร็จ เมื่อนับต่อไปอีก 5 วัน ก็จะชนกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ภายใน 180 วัน หรือวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาให้ถือว่ารัฐสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอทันที พลิกกลับมาเป็นสูตรหาร 100

Advertisement

ดับฝันพรรคเล็กอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ก่อนหน้ารอเสิร์ฟสูตรหาร 500 ขึ้นเป็นกฎหมายที่อยู่เพียงแค่เอื้อมเท่านั้น

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ก็ยื้อสุดกำลังหวังว่าจะเกิดปาฏิหาริย์ในวันที่ 10 สิงหาคม ถึงกับลั่นว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร เพราะวิธีการที่เขาทำเรียกว่า ต้อนให้หมาจนตรอก ทั้งนี้ ยังมีด่านสำคัญ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และด่านศาลรัฐธรรมนูญ”

สำหรับพรรคเพื่อไทยกับพลังประชารัฐก็ถือว่าได้ใช้กติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้นอกลู่นอกทาง เพียงแต่ไม่มีความสง่างาม หากเทียบกับเมื่อคราวพิจารณามาตรา 23 ที่มีการแก้ไขตามการสงวนคำแปรญัตติของ นพ.ระวี กมธ.เสียงข้างน้อย ต่างโหวตเพื่อใช้สูตรหาร 500 ครั้งนั้นมีเสียงของพรรคพลังประชารัฐร่วมหนุนด้วย ก็ถูกวิจารณ์กันพอสมควร เพราะมองยังไงก็ขัดรัฐธรรมนูญอย่างหนัก ก่อนที่พลังประชารัฐจะกลับลำหันมาใช้สูตรหาร 100 ตามที่สมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ของพรรค ทักไว้ ดังนั้น หากยก 2 เหตุการณ์มาเทียบกัน ก็ถือว่าแรงพอๆ กัน

Advertisement

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ยอมรับตรงไปตรงมาว่าถึงการประชุมร่วมรัฐสภาจะล่มกลางคันว่า มีนัยยะทางการเมือง เพื่อต้องการใช้มาตรา 132 ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า กฎหมายลูกกำหนดระยะเวลาพิจารณาภายใน 180 วัน ถ้าไม่แล้วเสร็จ ให้นำกฎหมายที่เสนอในวาระแรกนำมาบังคับใช้

ส่วนพรรคเพื่อไทยที่เคยออกข่าวเตรียมให้ฝ่ายกฎหมายยกร่างคำร้องส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้พิจารณากรณีการปรับแก้ในมาตรา 23 ที่ระบุว่า จงใจฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อาจจะดำเนินการต่อไป

แต่ก็ต้องยอมรับว่าการที่ปล่อยให้สภาล่ม ก็เหมือนกับสมาชิกรัฐสภาร่วมไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมศักดิ์ศรี ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเช่นกัน

ขณะนี้เกมต่อสู้กันทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สุดท้าย ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง เมื่อถึงวันเลือกตั้งทั่วประเทศ นอกจากการกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสภา จนถึงนโยบายการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง รวมถึงความนิยมชมชอบนักการเมืองและพรรคการเมืองในสายตาพี่น้องประชาชน

ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และเป็นโฆษกพรรคภูมิใจไทย ก็เคยให้ความเห็น พูดไว้ให้คิด ในเรื่องสูตรหาร 500 ก่อนหน้านี้ว่า

“ส่วนตัวคิดว่าไม่มีแบบไหนสะดวก ประชาชนจะตัดสินเอง ไม่ว่าวิธีการจะยาก ง่าย สลับซับซ้อนอย่างไร ชาวบ้านเขาไม่โง่ เขาต้องเลือกคนที่มาเป็นตัวแทนของเขา เขาจะเลือกอย่างไร”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image