อัตตาติดล้อ : คอลัมน์คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง โดย กล้า สมุทวณิช

มีข้อสังเกตว่า “ดราม่า” ที่เกิดขึ้นในสังคมเราในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น เกินกว่าครึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “รถยนต์”

ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถโดยประมาทไปชนชาวบ้านถึงเจ็บถึงตาย เกเรขับรถไล่ชนท้ายชาวบ้านเล่น คนจอดรถแย่งที่คนพิการ ขับรถปาดกันไปมาแล้วลงมาวางท่านักเลงหน้ากล้อง และอีกหลายกรณีที่คงพอนึกกันได้ไม่หวาดไม่ไหว หรือล่าสุดที่เพิ่งจบไปก็เรื่อง “กราบรถกู”

ผู้ขับขี่บนท้องถนนในชีวิตประจำวัน ก็อาจจะเคยมีเรื่องมีราวกับผู้ร่วมถนนคันอื่น ด้วยเรื่องขับรถปาดหน้าหรือขอทางกันแล้วไม่ให้เข้า อย่างเบาๆ ก็มีบีบแตรใส่หรือเปิดกระจกรถด่ากันก็คงเป็นประสบการณ์ร่วมกันที่น่าจะเคยเจอกันมาทุกคน

ในสังคมไทยและหลายวัฒนธรรมแล้ว รถยนต์เป็นทรัพย์สินที่มีความพิเศษและเชื่อมโยงกับเจ้าของมากกว่าข้าวของอย่างอื่น และถูกใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงสถานะในสังคม หรือแม้แต่เป็นเครื่องมือในการชี้วัดความสำเร็จส่วนบุคคลด้วยในบางบริบท

Advertisement

หากใครเคยอ่านนวนิยายยุคก่อนๆ คงจะนึกออกว่าการมีรถเก๋งส่วนตัวสักคันหนึ่งนั้นเป็นการบ่งบอกสถานะความเป็น “ผู้ดี” ของผู้เป็นเจ้าของ จนกลายมาเป็นภาพเปรียบเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงชนชั้นในนิยายหลายเรื่อง ในเพลงลูกทุ่งลูกกรุงก็หลายเพลงที่ใช้ “รถยนต์” เป็นเครื่องแสดงถึง “สถานะ” อันแตกต่างกันของผู้คน

แม้ในปัจจุบัน รถยนต์จะไม่ได้ถูกจำกัดไว้เฉพาะผู้ดีมีฐานะอีกแล้ว แต่ก็ยังถือเป็นทรัพย์สินราคาสูงอยู่ดี เพราะอย่างน้อยๆ ต้องมีเงินหลักแสนถึงจะได้ครอบครอง หรือข้ามไปสู่หลักล้านก็ขึ้นกับชื่อชั้นยี่ห้อและรุ่นของรถ

และนั่นเองทำให้รถยนต์ถูกใช้เป็น “ตัวชี้วัด” ในการประสบความสำเร็จในชีวิตได้ประการหนึ่ง คงจะนึกกันออกหรือมีประสบการณ์ร่วมกันว่า สำหรับคนหนุ่มสาววัยทำงานเมื่อเริ่มตั้งเนื้อตั้งตัวพอจะมีเงินเก็บบ้างแล้ว ทรัพย์สินชิ้นแรกๆ ที่จะต้องหาต้องมีไว้ คือรถยนต์สักคัน จะมือหนึ่งหรือมือสองก็ได้ และพอฐานะเป็นปึกแผ่นมั่นคงมากขึ้น หลายคนก็ใช้การขยับเปลี่ยนรุ่นเปลี่ยนรถนี่เองเป็นหมุดหมายแสดงความก้าวหน้าในชีวิต เช่นตั้งเป้าหมายว่าทำงานกี่ปีจะซื้อรถญี่ปุ่นระดับ D Segment มาขับ แล้วจากนั้นอีกกี่ปีจะอัพเกรดไปเป็นรถยุโรปในระดับสูงขึ้น

Advertisement

รถยนต์ในสังคมเราจึงเป็นตัวแสดงถึงสถานะของคน โดยสะท้อนรายได้ หรือสถานะพิเศษอื่นๆ เช่นการขับรถยุโรปรุ่นกลางหรือรุ่นใหญ่นั้นบ่งบอกสถานะว่า ถ้าไม่ใช่เพราะคุณสามารถจ่ายเงินตั้งแต่สามถึงเป็นสิบๆ ล้านบาทสำหรับรถยนต์แล้ว ก็แปลว่าคุณน่าจะมี “สถานะ” บางประการในสังคมเพียงพอที่จะได้ครอบครองมัน เช่นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพนักงานเอกชนระดับสูงพอที่จะมีรถประจำตำแหน่งในระดับเดียวกับผู้มีรายได้เช่นนั้น

เช่นคำพูดที่หลุดออกมาจากปากของหนุ่มเจ้าของรถมินิสีเหลืองผู้ก่อกระแส “กราบรถกู” อันลือลั่นเมื่อต้นสัปดาห์ ที่ว่ารถคันที่ประสบเหตุนั้นเป็น “ความฝัน” ของเขา นั้นจริงๆ ก็เหมือนการพูดแทนทรรศนะที่ถือว่ารถยนต์เป็นตัวแทนของความสำเร็จและสถานะในสังคมของตัวเขานั่นเอง

อีกเพราะการที่มนุษย์นั้นเป็นผู้ “ขับเคลื่อน” ให้รถยนต์แล่นไปไหนต่อไหนได้ดังใจก็ทำให้รถยนต์นั้นกลายเป็น “อวตาร” ของเจ้าของหรือผู้ครอบครองในการเดินทางไปมาบนท้องถนน หรือไปปรากฏต่อสายตาของผู้อื่น แตกต่างจากทรัพย์สินอื่นๆ ที่อาจจะมีมูลค่าหรือประโยชน์ใช้สอยมากกว่า เช่นบ้านช่องที่อยู่อาศัย แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ยินดีซื้อรถยนต์ที่ราคาแพงกว่าบ้านที่ตัวเองอยู่อาศัยเสียอีกเพราะบ้านนั้นก็คือบ้าน ไม่พาใครมาก็ไม่มีใครเห็น แต่รถยนต์นั้นเราขับได้ไปทั่วติดตัวเราไปทุกที่ที่มีถนนตัดผ่าน

นอกจากนี้ “สังคม” ของเราก็ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อ “รถยนต์” ไม่เท่ากันอีกตามแต่ “ระดับ” ของรถนั้น เช่นมิตรสหายที่ขับขี่รถจักรยานยนต์คงจะพบว่าได้รับการปฏิบัติจากผู้คนแตกต่างไปจากผู้ขับรถยนต์ หรือในบรรดาคนขับรถยนต์ด้วยกันก็จะพบว่า รถคันใหญ่กว่า หรือรุ่นยี่ห้อราคาแพงก็จะมีโอกาสได้รับการปฏิบัติที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งถ้าคุณขับรถระดับซุปเปอร์คาร์หรือรถนำเข้าจากดีลเลอร์บางเจ้าแล้ว ในห้างสรรพสินค้าบางแห่งถึงขนาดสำรองที่จอดรถพิเศษไว้ให้เลยก็มี

หากเราจะแปลอย่างสวิงสวายว่า คำว่า Automobile ที่แปลว่ารถยนต์นั้นมาจากคำว่า Auto ที่แปลว่า “อัตตะ” หรือ “ตัวตน” กับ “Mobile” ที่แปลว่า “เคลื่อนไหว” เจ้ารถยนต์หรือ Automobile นี้ก็เหมือนตัวตนที่วิ่งไปวิ่งมาบนท้องถนน เป็นเหมือนอวตารของผู้ขับขี่ครอบครอง ตัวตนของเจ้าของจึงขยายถ่ายทอดไปในนอตทุกตัวเหล็กทุกชิ้นและเครื่องอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นรถยนต์ นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมสำหรับบางคนแล้วการที่รถเฉี่ยวชนกันจึงไม่จบง่ายๆ แม้ว่าจะมีประกันกันทั้งคู่ หรือไม่เหมือนใครเตะฟุตบอลมาโดนกระจกหน้าต่างที่บ้านแตก

เพราะสำหรับผู้ที่อัตตาควบรวมเข้าไปกับรถยนต์แล้ว การถูกชนไฟท้ายแตกนั้นเจ็บปวดไม่ต่างจากโดนชกที่เบ้าตา (ยิ่งถ้าเป็นกรณีชนแล้วหนีคงให้ความรู้สึกเหมือนถูกนักเลงดีย่องมาตบหัวแล้ววิ่งหายไป) การถูกปาดหน้าไม่ต่างจากการถูกผลัก หรือการขอทางแล้วไม่ให้ก็เหมือนถูกเบียดถอง บางครั้งบางคนยังปกป้องเจ้า “อัตตา” ของรถยนต์มากกว่าตัวตนเนื้อหนังของเขาเสียอีก เช่นคนส่วนหนึ่งจะเงียบเมื่อถูกแซงคิว แต่คนเหล่านั้นเองที่จะกดแตรใส่หรือพยายามกันทางกับรถที่หมายแทรกเบียดเข้าคอสะพาน

และเมื่อรถยนต์ราคาแพงใช้ความเร็วสูงเข้าชนกับรถเก๋งขนาดกลาง ก็เป็นภาพแทนของคนมีเงินที่ไม่ยินแยแสในกฎหมายหรือกบิลเมืองเอาชีวิตของคนอย่างเราๆ ท่านๆ (ผู้ขับรถยนต์ระดับเดียวกันนั้น) เกิดเป็นความรู้สึกเสมือนเป็นผู้เสียหายร่วมอย่างช่วยไม่ได้ ยิ่งเมื่อปรากฏว่าในทางคดีแล้วกระบวนยุติธรรมออกจะปรานีเป็นพิเศษต่อรถคู่กรณีฝ่ายที่มีราคาแพงกว่า เช่นคดีขาดอายุความไปเฉยๆ หรือได้รับโทษไม่สมสัดส่วนต่อความรุนแรง เรื่องจึงเกิดเป็นความเดือดดาลสาธารณะเอาได้

“ดราม่า” ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ในทุกครั้ง จึงเป็นภาพแทนของอัตตาของเราๆ ท่านๆ ที่อวตารไปเป็นเหล็กเป็นล้อ หรือถูกเปรียบเทียบไปเป็นข้อพิพาททางชนชั้นโดยมีรถยนต์เป็นตัวแทนนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image