ฟันธง 8 ปี ‘บิ๊กตู่’ ปฏิรูปการศึกษาเหลว ‘นักการเมือง’ หงอ ขรก.-ไม่ยึดประโยชน์ น.ร.

ฟันธง 8 ปี ‘บิ๊กตู่’ ปฏิรูปการศึกษาเหลว ‘นักการเมือง’ หงอ ขรก.-ไม่ยึดประโยชน์ น.ร. ‘สมพงษ์’ แฉยุค ‘ข้าราชการระดับสูง-ครู’ ได้ดี

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เราได้บทเรียนมาจำนวนมาก เพราะผ่านมา 8 ปี การปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว ซึ่งถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของรัฐบาล นักการเมือง และนักปฏิรูป ที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีความพยายาม มีคำมั่นสัญญา มีผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ทำไมไม่สามารถจัดการ และปฏิรูปการศึกษาได้ มีแต่เสียเวลา เสียทรัพยากร และทำให้สังคมไทยเริ่มสิ้นหวังกับการศึกษาในระบบโรงเรียนมากขึ้น ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ใช้คนเข้ามาปฏิรูปประเทศจำนวนมาก มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ 250 คน มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 ชุด มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ. 5 คน และมีรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.อีก 8 คน มีรายงานการปฏิรูป 130 เล่ม มีวาระการปฏิรูป 37 วาระ และมีข้อเสนอการปฏิรูป 1,342 ข้อ

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถปฏิรูปประเทศ และไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้ กลับติดหล่มอยู่กับที่ ไม่ไปไหน เห็นแต่การใช้อำนาจเพิ่มมากขึ้น เช่น การใช้อำนาจ คสช.ที่ออกมาจัดการควบคุม ศธ.มากกว่า 14 ฉบับ แต่ไม่ช่วยให้ ศธ.ดีขึ้น กลับสร้างความขัดแย้งขึ้นกับ ศธ.มากขึ้น เช่น การออกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ที่สร้างความขัดแย้งระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นต้น

“คณะกรรมการปฏิรูปชุดต่างๆ ที่ตั้งมา ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง และหมดหน้าที่ ไม่มีการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติจนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และคณะกรรมการปฏิรูปที่มาทำงานไม่มีความหลากหลาย ไม่เปิดให้คนทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม แต่กลับคัดเลือกคนพวกเดียวกัน มีแนวความคิดเหมือนกัน ทำให้การปฏิรูปติดกรอบ จาก 8 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่านายกรัฐมนตรีเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง แม้นายกฯจะให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา แต่นายกฯกลับยึดแนวคิด ความต้องการของตนเป็นหลัก เช่น การออกค่านิยม 12 ประการ สั่งให้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง สั่งยุติการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นต้น” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของ ศธ.จะเห็นว่า 8 ปีที่ผ่านมา การศึกษาไทยยิ่งแย่ลง เด็กเกิดน้อยลง โรงเรียนถูกปิดตัวมากขึ้น แต่กลไกระบบราชการของ ศธ.กลับดีขึ้น มีข้าราชการระดับสูงเพิ่มขึ้น มีช่องทางในการไต่เต้าเพิ่มมากขึ้น ต้องเสียงบประมาณจ่ายเงินเดือน และวิทยฐานะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง สาเหตุที่ไม่สามารถจัดการ และผ่าตัดปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง เกรงใจข้าราชการ ไม่ยึดประโยชน์นักเรียนเป็นตัวตั้ง แต่กลับยึดประโยชน์ของครูแทน

Advertisement

“ระบบต่างๆ กำลังกัดกินเด็ก แล้วเราจะปล่อยให้การศึกษากัดกินคุณภาพเด็ก กินงบที่เด็กควรจะได้รับต่อไปหรือ ผมมองว่า 8 ปีที่ผ่านมา ทำการศึกษาเน่าเฟะไปแล้ว 70% เหลืออีก 30% ยังมีส่วนที่ดีบ้าง เช่น มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวใหม่ มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาปฏิรูปประเทศ แต่ต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะนำเด็กเป็นที่ตั้งในการพัฒนาแก้ไขปัญหา และนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องไม่กลัวการต่อต้านของข้าราชการ ต้องกล้าสังคายนาระเบียบกฎเกณฑ์ และมองความต้องการของประชาชน และเด็กเป็นที่ตั้ง” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image