มทส.โคราช โชว์นวัตกรรมลดต้นทุน’กัญชา-กัญชง’ เก็บเกี่ยวผลผลิตคุณภาพสูงระดับ Medical Grade

มทส.โคราช ยืนหนึ่งเทคโนโลยีกัญชา-กัญชง โชว์นวัตกรรมต้นทุนต่ำ เก็บเกี่ยวผลผลิตคุณภาพสูงระดับ Medical Grade

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายชรินทร์ ทองสุข รอง ผวจ.นครราชสีมา พร้อม ศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และคณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการกัญชาฯ มทส. และผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตามโครงการแปลงปลูก Cannabis Sand Box จังหวัดนครราชสีมา ร่วมทำพิธีตัดช่อดอกกัญชา-กัญชง” และ “เปิดฟาร์มต้นแบบพืชเศรษฐกิจใหม่” ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโนโลยีสุรนารี (มทส.) กับ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สุรนารี อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา โดยร่วมกันตัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ลูกผสม Charlotte’s Angel-มทส. ภายในโรงเรือนปลูกของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สุรนารี ณ แปลงปลูก SUT Cannabis Sand Box มทส.

จากนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชีมา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร มทส. และผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้เดินทางไปประกอบพิธีเปิด “ฟาร์มต้นแบบพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ” ต.ท่าอ่าง (พลับพลา) อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา โดยมี นายรติ ลอยทวินันท์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สุรนารี ให้การต้อนรับ และนำชมโรงเรือน Green House มาตรฐาน พื้นที่ 7 ไร่ จำนวน 4 โรงเรือนมาตรฐาน ในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นำคณะร่วมปลูกต้นกล้ากัญชา-กัญชง “ลูกผสมลูกผสม Charlotte’s Angel”และ “พันธุ์ฝอยทองสุรนารี 1” เป็นปฐมฤกษ์ ภายในพื้นที่โรงเรือนปลูกกัญชา-กัญชง ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง เปิดเผยว่า จากการที่โครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ มทส. ได้ดำเนินการพัฒนาเชิงพื้นที่ขยายแปลงปลูกกัญชาและกัญชง ในโครงการ SUT Cannabis Sandbox ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดกว้างให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ประกอบด้วย การวางระบบแปลงปลูกมาตรฐาน ขนาดใหญ่ พื้นที่ 20 ไร่ จำนวน 32 โรงเรือน และพื้นที่ 8 ไร่ แปลงปลูกวิสาหกิจชุมชน จำนวน 17 โรงเรือน ถือเป็นต้นแบบนำไปพัฒนาเป็นธุรกิจผลิตพืชเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างมีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ GAP ภายใต้ทีมที่ปรึกษาของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส.

นับตั้งแต่การวางระบบโรงเรือนมาตรฐาน การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม การเพาะกล้า เตรียมการปลูก บำรุงรักษา การเก็บเกี่ยว และรักษาคุณภาพ ถึงปัจจุบันสามารถยืนยันถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกัญชา-กัญชง มทส. ที่ยึดมั่นการวิจัย พัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ได้ผลผลิตคุณภาพสูง โดยวัสดุปลูกที่จำเป็นได้มาจากวัสดุเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมเกษตรซื้อได้ภายในประเทศ อีกทั้งผลผลิตกัญชาภายใต้การควบคุมของ มทส. เป็นที่ยอมรับในระดับ Medical Grade เป็นผลจากการทดลอง ประเมินผล และปฏิบัติจริงของทีมนักวิจัย

Advertisement

สำหรับในวันนี้โรงเรือนแปลงวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก คือ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สุรนารี” สามารถทำการตัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ลูกผสม Charlotte’s Angel-มทส. ที่ทำการปลูกจำนวน 240 ต้น ได้เป็นผลสำเร็จ เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของไทย ให้สารสำคัญออกฤทธิ์สูงระดับมาตรฐานที่ใช้ได้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ค่าวิเคราะห์สาร CBD เฉลี่ย 8 – 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นตอนการรักษาคุณภาพผลผลิตต่อไป

จากผลสำเร็จดังกล่าว ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเชื่อมั่นในเทคโนโลยีด้านกัญชา-กัญชาของมหาวิทยาลัยที่ปรับใช้ได้จริง จึงได้ขยายผลเพิ่มพื้นที่ “ฟาร์มต้นแบบพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ” โดย“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สุรนารี” เพื่อการเข้าถึงด้านเทคโนโลยีกัญชา-กัญชาของเกษตรกรและผู้สนใจในพื้นที่ ภายใต้การให้คำปรึกษาการถ่ายทอดองค์ความรู้การควบคุมเทคโนโลยีการผลิตกัญชา-กัญชง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีอย่างครบวงจร นับแต่การทดสอบใช้สายพันธุ์กัญชา-กัญชง ในการครอบครองของ มทส. อาทิ พันธุ์ฝอยทองสุรนารี-1 พันธุ์ลูกผสม Charlotte’s Angel-มทส.” เป็นต้น การทดสอบการปลูกในโรงเรือนเปิด Greenhouse การทดสอบปลูกในระบบเปิด Out door การร่วมใช้สถานที่เพื่อการทดลอง และเก็บข้อมูล ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีกัญชา-กัญชง เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับแต่เดือนกันยายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อให้ฟาร์มต้นแบบเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชเศรษฐกิจใหม่ ในการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ยกระดับ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image