ไม้จันทน์หอม เพื่อพระบรมโกศ แสดงความอาลัยแด่องค์พ่อหลวงครั้งสุดท้าย

ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่บริเวณชายป่าใกล้อ่างเก็บน้ำย่านซื่อ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 1 กิโลเมตร เนืองแน่นไปด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศ พวกเขาเดินทางมาเพราะทราบข่าวว่าวันนี้จะมีพิธีบวงสรวงขอขมาเทพเทวาอารักษ์ เพื่อขออนุญาตในการตัดไม้จันทน์หอม เพื่อจัดสร้างพระโกศทรงพระบรมศพเหนือพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ ในพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช องค์เหนือหัวที่พวกเขารักยิ่งชีวิต

“พวกเรายังไม่มีโอกาสไปแสดงความอาลัยในหลวงท่านที่พระราชวังเลย วันนี้มีงานที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านอยู่ใกล้บ้านเรา เราต้องมาให้ได้ ทราบว่าทางพระราชวังมีฤกษ์การตัดไม้จันทน์หอมตอนบ่ายๆ แต่มากันก่อน เพราะคิดว่าวันนี้คนเยอะแน่ๆ อยากได้ที่นั่งหน้าๆ จะได้เห็นชัดๆ” หนึ่งในเหล่าพสกนิกรที่จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่มาเฝ้ารอชมพิธีตัดไม้จันทน์หอมบอก พร้อมกับขอตัวเพื่อไปจับจองที่นั่งในบริเวณปะรำพิธี

วิภา วงษ์สนิท พสกนิกรของพระองค์ท่านอีกคน ที่เดินทางมาพร้อมครอบครัวบอกว่า ทราบเรื่องว่าจะมีพิธีการตัดไม้จันทน์หอมจากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯและจากข่าว จึงตั้งใจมาดูพิธีการพร้อมกับครอบครัว รู้สึกภูมิใจที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านย่านซื่อแห่งนี้ เพราะเป็นแหล่งที่มีไม้จันทน์หอมมากที่สุดในประเทศไทย ทราบว่าไม้จันทน์หอมในพื้นที่นี้เคยใช้ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกมาแล้ว ซึ่งหลังจากมีการตัดไม้จันทน์หอมแล้วจะมีการปลูกไม้ทดแทนด้วย

1

Advertisement

6

ภายหลังจากพสกนิกรชาวไทยได้รับทราบถึงข่าวการสูญเสียที่สุดในชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ยังความเศร้าโศกปรากฏไปทั่วทุกหย่อมหญ้า

สำนักพระราชวังได้เตรียมการพระราชพิธีพระบรมศพ ตามขั้นตอนราชประเพณี โดยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 ผู้แทนจากสำนักพระราชวัง พร้อมด้วยหัวหน้าโหรพราหมณ์และคณะได้เดินทางไปสำรวจและคัดเลือกไม้จันทน์หอมที่จะใช้ในงานพระราชพิธี ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย และเป็นแหล่งสำคัญของไม้จันทน์หอมโดยตามราชประเพณีแล้ว ไม้จันทน์หอมที่จะนำมาใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพนั้น จะต้องเป็นไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายเท่านั้น

Advertisement

4

5

7

อุทยานแห่งชาติกุยบุรี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ออกสำรวจหาไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายภายในพื้นที่ เบื้องต้นสำรวจเอาไว้จำนวน 19 ต้น เพื่อให้ทางสำนักพระราชวังคัดเลือกจำนวน 12 ต้น

ไม้จันทน์หอมถือเป็นไม้ชั้นสูง โดยเป็นพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย

ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้อธิบายเรื่องราวของไม้จันทน์หอมว่า เป็นไม้ที่คนโบราณถือว่าเป็นไม้ชั้นสูง เนื้อไม้มีกลิ่นหอม นิยมใช้ในพระราชพิธีต่างๆ พิธีสำคัญๆ ของราษฎรที่จัดเป็นวาระพิเศษ อย่าง “ดอกไม้จันทน์” ที่ใช้ในงานเผาศพ ในอดีตเกือบทั้งหมดจะทำจากไม้จันทน์หอม เพราะถือว่ามีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอม เป็นการให้เกียรติกับผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย

มีการสันนิษฐานว่าราวๆ 1,500 ปีก่อน มนุษย์ยังไม่มีการฉีดยาศพหรือฉีดฟอร์มาลิน และวิธีการที่จะรักษาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็น ดั้งนั้นในการประกอบพิธีฌาปนกิจ จึงใช้ไม้จันทน์มาเป็นส่วนในการประกอบพิธีเพื่อบรรเทากลิ่น

ทั้งนี้ การสร้างพระโกศสมัยโบราณจะนำไม้จันทน์หอมมาเป็นฟืนเผาศพ แต่สำหรับพระมหากษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์ จะถูกนำมาแปรรูปจากท่อนฟืนเป็นลวดลายขึ้นเป็นพระโกศไม้จันทน์ มีการเลื่อยเป็นแผ่นบางๆ ติดแบบทำการฉลุลาย จากนั้นนำมาประกอบติดกับโครง ซึ่งโบราณจะใช้โครงไม้ แต่ปัจจุบันดัดแปลงมาเป็นลวดเหล็กบุตาข่าย เพื่อความสะดวกในการจัดสร้าง ลวดลายที่ใช้ประกอบมีทั้งสิ้น 35 ลาย อาทิ ลายหน้ากระดาน ลายบัว ลายท้องไม้ บัวคว่ำ บัวหงาย เป็นต้น โดยลายส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของแนวลายใบเทศ คือ ถ้าเป็นกระจังจะเป็นแบบกระจังลายใบเทศ ถ้าเป็นลายกระหนกจะเป็นลายกระหนกแบบลายใบเทศ ซึ่งโดยรวมแล้วจะให้อยู่ในลักษณะของลายใบเทศ ซึ่งเป็นลายเครื่องประดับของไทยที่มีความงดงาม และใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

…ยิ่งใกล้เวลาบ่ายสองโมงเก้านาที อันเป็นฤกษ์ดีสำหรับพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอม ที่จะนำไปใช้ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมากเท่าไร เหล่าพสกนิกรผู้จงรักภักดีต่างก็หลั่งไหลเข้าสู่บริเวณปะรำพิธีหนาตามากขึ้น ไม่มีใครหวั่นไหวกับแสงแดดที่สาดส่องลงมาอย่างร้อนแรงแต่อย่างใดเลย

ในบริเวณปะรำพิธีนั้น เจ้าหน้าที่ได้ตั้งเครื่องสังเวยเทพเทวาอารักษ์ ประกอบด้วย ดอกไม้ธูปเทียน เครื่องคาวหวาน และผลไม้ ก่อนที่จะเริ่มพิธีตัดไม้จันทน์หอม ทั้ง 12 ต้น

เมื่อถึงเวลา นายวุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการ ประธานในพิธี พร้อมด้วย นายจำลอง ยิ่งนึก ผู้อำนวยการกองราชพิธี สำนักพระราชวัง นายฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหรพราหมณ์ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เดินทางมายังบริเวณปะรำพิธี รองราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง หลั่งน้ำเทพมนต์จากพระมหาสังข์ จากนั้นโหรหลวงลงแป้งเจิม ลั่นฆ้องชัยบัณเฑาะว์ โหรหลวงให้ประธานในพิธีหลั่งน้ำเทพมนต์ที่ขวานทอง และเจิมต้นไม้จันทน์หอมซึ่งอยู่ใกล้กับโต๊ะสังเวยพร้อมมีการปักธูปเทียน จากนั้นพรมน้ำเทพมนต์และใช้ขวานทองฟันที่ต้นไม้จันทน์หอมเป็นปฐมฤกษ์จำนวน 3 ครั้ง ประโคมปี่พาทย์ และโปรยข้าวตอกดอกไม้

ดำเนินการเช่นนี้จนครบต้นจันทน์หอม ทั้ง 12 ต้น

พิธีการเรียบง่าย แต่เป็นไปตามราชประเพณีแต่โบราณทุกประการ

หลังจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติจะทำหน้าที่แปรรูปไม้จันทน์หอมทั้ง 12 ต้น ส่งให้ทางสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ดำเนินการออกแบบก่อสร้างต่อไป

เราทุกคนต่างมีหน้าที่ และจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อถวายแด่องค์พ่อหลวงอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image