นายกส.พนง.สอบสวนมีมติยื่น”จูดี้”แจ้งผลกระทบคำสั่งคสช.พรุ่งนี้-รองโฆษกตร.ขอให้เคลื่อนไหวในกรอบ

เมื่อเวลา 10.15 น.วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ อดีตรองผบ.ตร. นายกสมาคมพนักงานสอบสวน(สพส.) พร้อมสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนจำนวนหนึ่ง นัดประชุมนัดพิเศษ ที่ห้องประชุมสหกรณ์ ตร.โดยในที่ประชุมมีวาระเพื่อทราบเป็นเจ้าภาพสวดศพ พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ อดีตพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ สน.เทียนทะเล และการช่วยเหลือ และงานวิจัยของคณะทำงานวิจัยและพัฒนาระบบงานสอบสวน นอกจากนี้ยังมีเรื่องพิจารณาผลกระทบคำสั่ง คสช.ที่ 6/2559 และที่ 7/2559 และแนวทางแก้ไขของ สพส.โดยใช้เวลาประชุมนาน 2 ชั่วโมง

พล.ต.อ.วุฑฒิชัย แถลงภายหลังจากการประชุมว่าผลประชุมสมาชิกในที่ประชุมมีมติให้ยื่นเสนอต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.)พิจารณา เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้รับผลกระทบคำสั่ง คชส. เพื่อต้องการพิจารณาจัดวางตำแหน่งพนักงานสอบสวนและกำหนดหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อให้พนักงานสอบสวนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดโดยเฉพาะเงินประจำตำแหน่งส่วนประชาชนได้รับบริการที่ดีมากขึ้น

พล.ต.อ.วุฑฒิชัย กล่าวว่า สมาคมไม่มีแนวคิดต่อต้านหรือคัดค้านตำแหน่งพนักงานสอบสวน ต่อนี้ไปทางสมาคมจะดูท่าทีข้อเสนอที่ยื่นในวันพรุ่งนี้(วันที่ 15 กุมภาพันธ์)กับ พล.ต.อ.พงศพัศ

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนออกมารวมกัน ตั้งเป็นกลุ่มสมาคมหรือสมาพันธ์ก็ดี เป็นเรื่องที่ดีในการออกมาปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ของเขา ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าเราเป็นตำรวจอยู่ในเครื่องแบบ ไม่ใช่สหภาพแรงงาน หรือเอกชน สหภาพแรงงาน เราต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย เพราะว่าการออกมาอย่างนี้ ซึ่งมาตรการเรียกร้องสิทธิประโยชน์เล็กๆน้อย อย่างสิทธิประโยชน์ไม่พอ หรือว่าอุปกรณ์ไม่พอ สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม แล้วออกมาเคลื่อนไหว ตั้งเป็นกลุ่มสมาคมสมาพันธ์ไม่ว่า แต่ถ้าออกมาเคลื่อนไหว ในลักษณะคัดค้าน การบริหารงานบุคคล คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่องหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา เป็นเรื่องมหภาค ต้องยอมรับว่าขณะนี้มีกระแสการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ปฏิรูประบบราชการ ทั้งระบบ เป็นเรื่องของรัฐบาลและสำนักงานตรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องระบบการบริหารงานบุคคล ซึ่งสมาคมก็ดี สมาพันธ์ก็ดี ไม่ควรไปก้าวล่วงตรงจุดนี้ มันไม่ใช่เรื่องการร้องสิทธิประโยชน์เล็กๆ น้อย จึงอยากให้ผู้นำสมาพันธ์ และกลุ่มทั้งหลาย กลับไปพิจารณา ว่าวันนี้เรายังเป็นตำรวจอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ทอดทิ้งอย่างแน่นอน ท่านรู้ว่าปัญหาการปฏิรูป ว่าต้องส่งผลกระทบไม่มาก ก็น้อยกับทุกกลุ่ม หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างแน่นอน และท่านหามาตรการเสริมไว้เรียบร้อยแล้ว บางครั้ง บางกลุ่มอาจมีปัญหาเรื่องของการสื่อสาร ไม่ได้ไปถาม ไปอะไร ผู้ใหญ่ก็เดินไปในส่วนของผู้ใหญ่ไป เมื่อมีการสื่อสารผิดพลาด ก็จะเกิดมีการต่อยอด เหมือนเวลาเราเรียนหนังสือ อาจารย์ให้กระซิบที่หูเพื่อนจากคนแรกถึงคนสุดท้าย ความหมายก็จากมีการคลาดเคลื่อนไป การเข้าใจผิด ก็อาจจะก่อให้เกิดการรวมกลุ่ม ต่อต้าน

Advertisement

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าวว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจ กับพนักงานสอบสวน เบื้องต้นแล้ว แต่ไม่ควรไปก้าวล่วงการบริหารงานส่วนบุคคล ของระดับมหภาค วันนี้ต้องดู การเคลื่อนไหวต่างๆ ต้องอยู่ในกรอบ เพราะยังเป็นข้าราชการตำรวจ ที่สำคัญมากที่สุด คือตำรวจทุกฝ่าย ยังอยู่ภายใต้บังคับบัญชา ของผู้บังคับบัญชา ระดับตร. ไม่มีแบ่งแยกว่าอันนี้ สอบสวน อันนี้จราจร อันนี้สายป้องกันปราบปราม หากมีสายป้องกันปราบปรามและสายจราจร ออกมาตั้งสมาพันธ์บ้าง คงจะยุ่งละ

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าวอีกว่าตอนที่พนักงานสอบสวนเขาให้ออกนอกสายมาทำไมไม่มีใครคัดค้าน จากการศึกษาชัดเจน ว่าการแต่งตั้งทุกปีมีพนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ พยายามดิ้นรนที่จะออกนอกสายงานแสดงว่าเขาทราบดึ ถึงทางตันที่ไม่สามารถเติบโต ในสายงานสอบสวนได้ บางคนไปตันอยู่ที่ สบ. 4 สบ. 5 อัตราที่จะเป็นนายพลคงไม่มีโอกาส เพราะฉนั้นพนักงานสอบสวน ระดับ สบ. 1 สบ. 2 สบ.3 พยายามดิ้นรนออกนอกสายทุกปี แต่ออกไปไม่ได้ถ้าออกมา 1 คน ระบบแท่งหายไปทั้งแท่งไปถึงระดับสารวัตร เมื่อออกไม่ได้ ก็พยายามเคลื่อนไหว ทำให้เกิดกลุ่มกลุ่มหนึ่ง มีแนวความคิดที่แตกแยก อาศัยความเป็นสมาคมสมาพันธ์ ออกมาเพื่อจะดึงงานสอบสวน ออกไปอยู่กับหน่วยงานอื่น บางคนคิดถึงว่าจะไปตั้งเป็นสำนักงานสอบสวนแห่งชาติ ซึ่งผิดหลัก ของการรวบรวมพยานหลักฐานตามหลักบริหารงานกระบวนการยุติธรรมอย่าคิดว่าในชั้นตำรวจจะมีเพียงพนักงานสอบสวนเพียงอย่างเดียว เพราะกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐาน ประกอบด้วยพนักงานสอบสวน พนักงานสืบสวน พนักงานนิติเวช พนักงานพิสูจน์หลักฐาน มีอยู่ สมัยหนึ่งเคยแยก กองทะเบียนอาชญากร ออกมาจากกองพิสูจน์หลักฐาน เมื่อไม่เรียบร้อย ก็กลับไปอยู่เหมือนเดิม ไม่เห็นมีใครออกมาต่อต้าน คัดค้าน เพราะเป็นเรื่องของการบริหารงานบุคคลระดับมหภาค หากพูดในเชิงการเมืองย่อมมีผู้เสียประโยชน์อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image