ปชป.หวั่นพ.ร.บ.พรรคการเมือง ห้ามนำมวลชนชุมนุม ขัดหลักปชต.-รธน.

ปชป.หวั่นพ.ร.บ.พรรคการเมือง ห้ามชุมนุม ขัดหลักปชต.-รธน. ชี้ สมาชิกพรรคเสียค่าบำรุงทุกปีอาจทำได้ยาก “องอาจ” เผย พร้อมปรับสภาพตามกติกาใหม่

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับเบื้องต้นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ว่า โดยรวมของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้นในส่วนของพรรคปชป.ไม่น่าเป็นปัญหาอะไร เราก็ต้องพร้อมที่จะปรับสภาพ และเปลี่ยนแปลงไปตามกฎกติกาใหม่ที่ออกมา ซึ่งอาจจะมีเรื่องสมาชิกพรรคที่มีปัญหา เนื่องจากพรรคปชป.มีสมาชิกจำนวนมากก็ต้องติดต่อกับสมาชิกเก่าซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อย่างเรามีสมาชิก 2 ล้านกว่าคน การติดต่อทางไปรษณีย์ก็ต้องใช้เงินเกือบ 10 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นปัญหาและอุปสรรคของเราในการติดต่อประสานงาน ซึ่งก็ต้องดูว่าทางกรธ.จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ด้วย

เมื่อถามว่า จากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้เป็นปัญหากับพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือไม่ นายองอาจ กล่าวว่า เมื่อออกมาเป็นกฎหมายแล้ว ทุกพรรคการเมืองก็ต้องปฏิบัติตามนั้นอยู่แล้ว แต่ก็ทำให้การดำเนินการของพรรคการเมืองเกิดความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนพรรคปชป.ก็พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ. พรรคปชป.ก็ปฏิบัติตามนั้นอยู่แล้ว เช่น ให้สาขาพรรคมีส่วนพิจารณาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เราปฏิบัติตามข้อบังคับพรรคอยู่แล้ว ส่วนการเสนอข้อคิดเห็นไปยังเวทีกรธ.ในวันที่ 14 ธันวาคมนั้น ตนก็จะเสนอในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ส่วนจะมาร่วมในเวทีดังกล่าวหรือไม่ คงต้องพิจารณาก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่มีการเชิญจาก กรธ.

ด้าน นายวิรัตน์ กัลยาศิริย์ หัวหน้าคณะทีมกฎหมายพรรคปชป. กล่าวว่า ตนมองเรื่องการเสียค่าสมาชิกพรรคทุกปีเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอยู่ ประชาชนบางส่วนยังไม่รู้หน้าที่ของตนเอง ก็ยังชินกับการรับเงินจากพรรคการเมือง ซึ่งหากต้องหาจำนวนสมาชิกพรรคให้ได้ 20,000 รายชื่อ ภายภายใน 4 ปี แต่สมาชิกไม่เสียค่าสมาชิกพรรค 1-2 ปี ก็หมดสภาพการเป็นสมาชิกพรรคทันที ตรงนี้อาจทำให้รายชื่อสมาชิกพรรคหายไปไม่ถึงจำนวน 20,000 รายชื่อตามที่กำหนด พรรคก็อาจจะถูกยุบได้

Advertisement

ส่วนกรณีที่นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.ระบุว่า หากพรรคการเมืองนำมวลชนออกมาชุมนุมข้างถนนก็จะผิดมาตรา 23 วรรคสี่นั้น นายวิรัตน์ กล่าวว่า การห้ามหรือตัดสิทธิในการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบ ปราศจากอาวุธ อาจขัดกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่ ตนเข้าใจในมุมมองเรื่องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองดี แต่ทางการเมืองเราต้องมีเสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อย หากเสียงข้างมากไม่ยอมฟังเสียงข้างน้อย สิ่งที่เสียงข้างน้อยจะทำได้ก็อาจจะเป็นการชุมนุมโดยสงบ และการห้ามหรือตัดสิทธิ์ไม่ให้ออกมาชุมนุม ก็อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญด้วย เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ดังนั้น ตนมองว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในมาตรา 23 เป็นมาตรการที่เข้าข่ายบังคับพรรคการเมืองให้ต้องทำ ถ้าไม่ทำต้องถูกยุบพรรค ตรงนี้ถือว่าร่างพ.ร.บ.จะเป็นตัวปัญหาที่กรธ.หมกเม็ดหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image