เปิดราคา ‘ตรวจร่างกาย’ ผู้ประกันตน โรงพยาบาลรับได้หรือไม่ได้

หลังเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และภาคีเครือข่าย 17 องค์กรยื่นหนังสือต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เกี่ยวกับการตรวจร่างกาย และทางห้องปฏิบัติการตามแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม โดยขอให้ไม่จำกัดอายุในการตรวจ และขอให้เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพช่องปาก และการตรวจตั้งครรภ์ การฝากครรภ์

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ค่าบริการตรวจสุขภาพนั้นเหมาะสมแล้ว เนื่องจากเป็นข้อมูลกลางของกรมการแพทย์ ส่วน รพ.เอกชนนั้น อยากขอให้ทำเพื่อประโยชน์ผู้ประกันตน ไม่ใช่หวังร่ำรวย ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งไปยัง รพ.ตามสิทธิทั้งหมดแล้ว ส่วนที่กังวลว่าหากไปตรวจสุขภาพแล้ว แพทย์วินิจฉัยว่าต้องตรวจสุขภาพเพิ่ม เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดโรคนั้น หากจำเป็นก็ตรวจได้

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถไปตรวจร่างกายได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560

อนึ่ง สำหรับอัตราค่าบริการเกณฑ์การตรวจร่างกาย อาทิ การคัดกรองการได้ยิน Finger Rub Test อายุ 15 ปีขึ้นไป ให้ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข อายุ 30-39 ปี ความถี่ตรวจได้ทุก 3 ปี อายุ 40-54 ปี ตรวจทุกปี อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเสี่ยง ฯลฯ เป็นการเหมาจ่ายที่สำนักงานจ่ายให้กับสถานพยาบาล

Advertisement

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ แบ่งเป็น 1.ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC อายุ 18-54 ปี ตรวจ 1 ครั้ง อายุ 55-70 ปี ตรวจ 1 ครั้งต่อปี ราคา 80 บาทต่อครั้ง 2.ตรวจปัสสาวะ อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี ค่าบริการ 80 บาทต่อครั้ง

ตรวจสารเคมีในเลือด 1.น้ำตาลในเลือด อายุ 35-54 ปี ตรวจทุก 3 ปี อัตราราคากำหนด 40 บาท
2.การทำงานของไต อายุ 55 ปี ตรวจ 1 ครั้งต่อปี ราคา 45 บาทต่อครั้ง
3.ไขมันในเส้นเลือดชนิด Total HDL cholesterol อายุ 20 ปี ตรวจทุก 5 ปีขึ้นไป ราคา 200 บาทต่อครั้ง

การตรวจอื่นๆ มี 1.เชื้อไวรัสตับอักเสบ HBsAg ตรวจ 1 ครั้ง ตรวจเฉพาะผู้ที่เกิดก่อนปี 2535 ราคา 130 บาท
2.มะเร็งปากมดลูก Pap Smear ตรวจอายุ 30-54 ปี ตรวจทุก 3 ปี อายุ 55 ปีขึ้นไปตรวจตามความเหมาะสม หรือ
3.ตรวจมะเร็งปากมดลูกวิธี VIA อายุ 30-54 ปีขึ้นไปตรวจทุก 5 ปี อายุ 55 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจแปปสเมียร์ ราคา 50 บาท
4.ตรวจเลือดในอุจจาระ FOBT อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อไป ราคา 30 บาท
และ 5.การเอกซเรย์ทรวงอก Chest x-ray อายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง ราคา 200 บาท

Advertisement

ด้านนายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า ยังมีข้อเสนอในมาตรา 63(7) กรณีค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ โดย สปส.ต้องไล่เบี้ยผู้กระทําผิด ตรงนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะออกประกาศแนบท้ายอย่างใด สปส.ควรออกกฎหมายลูกมารองรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image