ภาพเก่าเล่าตำนาน สิบโท โทน บินดี วีรบุรุษนักบินผู้อาภัพ (อวสาน)

โทน บินดี 3-5

11 พฤศจิกายน พ.ศ.2461 เยอรมันประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 นักบินรบจากสยาม 8 นายที่ฝึกบินรบจนกล้าแกร่งในฝรั่งเศสถูกยกเลิกภารกิจ ถ้าเปรียบเหมือนนักมวย คือขึ้นเวทีไปแล้ว แต่ไม่ได้ชก กำลังทหารอาสาสมัครจากสยามบางส่วนได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับมาตุภูมิ

กลุ่มชาติพันธมิตรที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ตระหนักถึง “ความเป็นหุ้นส่วนของสยาม” จึงให้เกียรติกองทหารสยามไปเดินสวนสนามพร้อมธงไชยเฉลิมพลใน 3 เมืองหลวง คือ ปารีส ลอนดอน และบรัสเซล

ถือว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ลูก-หลาน-เหลนของทหารอาสาอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง ลองไปค้นหาภาพดูนะครับ

Advertisement

ระหว่างรอเดินทางกลับสยาม รัฐบาลสยามสั่งซื้อเครื่องบิน 12 ลำ รวมทั้งเครื่องอะไหล่ เครื่องยนต์ โดยมอบให้ ร้อยโทชิด มัธยมจันทร์ เป็นผู้ประสานงาน จ่าโทนรับหน้าที่เป็น “นักบินลองเครื่อง” คือจำต้องนำเครื่องบินที่ประกอบขึ้นเสร็จใหม่ๆ ขึ้นบิน เพื่อทดสอบความสมบูรณ์ นี่ก็เป็นภารกิจที่เสี่ยงตาย ที่บรรดานักบินทราบกันดี

รัฐบาลสยามสั่งซื้อ เครื่องบินสปัด ใช้เครื่องยนต์ซุยซ่า 220 แรงม้า เครื่องบินนิเออร์ปอร์ต 13 ตารางเมตร และ 15 ตารางเมตร เมื่อทดสอบผ่านแล้ว ร.ท.ชิตจะลงนามให้ทางการฝรั่งเศสถอดประกอบเครื่องบินและเครื่องยนต์ใส่หีบลงเรือกลับมาเมืองไทย

ตามสุภาษิต “ไปลา มาไหว้” นักบินรบของสยามไปอำลาจอมพล ฟ้อชรถไฟขบวนพิเศษนำทหารผ่านศึกของสยามออกจากปารีสไปเมืองมาแซลล์ ลงเรือเดินสมุทรใช้เวลา 31 วันกลับถึงเกาะสีชัง กองทัพเรือสยามนำทหารผ่านศึกทั้งหมดมาขึ้นที่ราชวรดิษฐ มีพิธีต้อนรับมโหฬาร นักรบไทยที่ไปสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งหมดเข้าไปทำพิธีในกระทรวงกลาโหม แล้วแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา

Advertisement

ตามข้อมูลของทางราชการระบุว่า ทหารอาสาของสยามในหน่วยบิน บรรดาช่างเครื่องทั้งหมดได้รับการฝึกจากฝรั่งเศส กลายเป็นช่างเครื่องบินจบจากนอกไปโดยปริยาย

หลังจากลาพักผ่อน 1 เดือน จ่าโทน บินดี กลับไปทำงานที่ดอนเมือง ทำหน้าที่ประกอบเครื่องบินที่สั่งซื้อมาจากฝรั่งเศส

ผู้เขียนไปพบเรื่องที่ประหลาดนึกไม่ถึง และต้องนำมาเผยแพร่ต่อลูกหลานครับ

ในยุคสมัยนั้น หาคนที่จะสมัครเป็นนักบินยากมาก ทางราชการจึงมีนโยบายให้ใช้เครื่องบินโชว์ต่อประชาชน เพื่อให้คนสนใจกิจการบิน นายทหารและนายสิบที่เพิ่งกลับมาจากยุโรป จึงใช้การขึ้นบินจากสนามดอนเมืองในราวบ่าย 4 โมงของทุกวัน เพื่อรอให้ขบวนรถไฟขบวนกรุงเทพฯ-พิษณุโลก มาผ่านช่วงดอนเมือง จ่าโทนและเพื่อนนายสิบจะนำเครื่องลงต่ำ บินขนานไปกับขบวนรถไฟ ตีลังกาบินท่าพลิกแพลงในอากาศ ให้ผู้โดยสารบนรถไฟส่งเสียงกรี๊ด

ผู้โดยสารบนรถไฟ เห็นเครื่องบินครั้งแรกในชีวิตจะตื่นตาตื่นใจ โบกไม้โบกมือกับนักบินจอมทะเล้น บ้างก็โบกผ้าส่งเสียงกันไปมาเอิ๊กอ๊าก สร้างมิตรไมตรีต่อกัน นักบินนายสิบทั้ง 3 จ่าเปลื้อง จ่าเล็ก และจ่าโทน ปฏิบัติเช่นนี้แทบทุกวัน ชาวสยามเริ่มรู้จักเครื่องบิน เริ่มรู้ว่าคนไทยนี่แหละเหาะได้จริง ขับเครื่องบินตีลังกาได้ด้วย

อยู่มาวันหนึ่ง…จ่าเปลื้องต้องไปแสดงบินควงสว่านให้ทูตอเมริกันชม ขณะปักหัวลงมาเครื่องขัดข้องแก้ไขไม่ทัน โหม่งโลกแหลกละเอียด จ่าเปลื้องตายคาที่

โทน บินดี 3-2

ส่วนจ่าเล็กขณะฝึกศิษย์การบินในช่วงปล่อยเดี่ยว เครื่องบินจ่าเล็กโดนปีกของเครื่องบินลูกศิษย์กระแทกอย่างแรงขณะจะร่อนลง เครื่องของจ่าเล็กตกตายคาที่อีกเช่นกัน คงเหลือเพียงจ่าโทน

12 กุมภาพันธ์ 2462 สยามริเริ่มใช้อากาศยานบินส่งถุงเมล์ใส่จดหมาย จ่าโทนได้รับมอบภารกิจ 1 ลำและของ ร.อ.ชิด รวดเร็วอีก 1 ลำ ในการบินระหว่างกรุงเทพฯ – จันทบุรี เครื่องจ่าโทนไปขัดข้องต้องร่อนลงในทุ่งนาห่างสนามบิน 20 กม. ชาวบ้านไปเรียกตำรวจให้มาคุมตัว กว่าจะรู้ว่าใครเป็นใครเกือบซวย แต่ก็จบลงแบบพระเอกหนังไทย คือ ชาวบ้านเอาเหล้ายาปลาปิ้งมาเลี้ยงกันเอิกเกริก ติดต่อช่างมาซ่อมเครื่องบินให้เรียบร้อย จ่าโทน ฯ ขอให้ชาวบ้านถากถางทุ่งนาพอเป็นทางวิ่งขึ้นได้ จ่าโทนนำเครื่องบินขึ้นไปส่งถุงเมล์ที่สนามบินพลอยแหวน จันทบุรี

วันต่อมา จ่าโทน และ ร.อ.ชิด รวดเร็ว นำเครื่องบินโชว์แบบเสียวจี๊ดโดนใจ ชาวเมืองจันท์รวบรวมเงินใส่ถุงให้ทหารนักบินคนเก่งเอาไปให้ทางราชการซื้อเครื่องบินเป็นเงิน 9,250.72 บาท

จ่าโทนได้รับคำสั่งให้บินไปโชว์ที่โคราช ปรากฏว่ามีแถวทหารพร้อมวงดุริยางค์มาบรรเลงเพลงต้อนรับประชาชนแน่นขนัด

ดับเครื่องยนต์แล้ว ประชาชนจำนวนมหาศาลกรูกันเข้ามาขอจับมือ จ่าโทนพักหายเหนื่อยแล้ว ผู้บัญชาการทหารโคราช สั่งให้จ่าโทนขึ้นบินโชว์พี่น้องชาวอีสานที่รอคอยมาแสนนาน

จ่าโทนนำเครื่องนิเออร์ปอร์ตแหวกอากาศทะยานขึ้นบนฟ้า ชาวโคราชตะโกนเชียร์ก้องสนาม จ่าโทนบ้ายอ บินแสดงลวดลาย เหาะเหินเดินอากาศ หกคะเมนตีลังกาแบบ “ตายไม่ว่า ต้องการชื่อเสียง” ทำเอากองเชียร์ตีกลองยาว ฟ้อนรำ ไชโยโห่ฮิ้วกันสนั่นทุ่งโคราช

นักบินสยามบินได้จริงเหมือนพญาอินทรีเสร็จแล้ว เมื่อกลับลงมา ยังได้รับการขอร้องให้กล่าวโฆษณากิจการการบินของสยามให้กับประชาชน จ่าโทนกล่าวเสียงดังว่า

“ทหารสยามได้ไปร่วมในสงครามและฝึกบินจากฝรั่งเศส ฝรั่งบินได้อย่างไร จ่าโทนทำได้ทุกอย่าง หรืออาจจะทำได้ดีกว่าฝรั่ง ไม่ต้องกลัวฝรั่ง ตายเป็นตาย” จ่าโทนตะโกนสุดเสียงบอกชาวสยามที่ปรบมือเชียร์พระเอกตัวจริง เย็นวันนั้นเจ้าคุณรามผู้บัญชาการกองพลโคราชจัดเลี้ยงนักบินเอิกเกริก วันรุ่งขึ้นจ่าโทนบินกลับดอนเมือง

กิจการการบินของกองทัพเจริญขึ้นมาก สร้างฐานทัพอากาศแห่งที่ 2 ในประจวบคีรีขันธ์ ใช้นักโทษไปหักล้างถางพง ปรับพื้นที่ จ่าโทนได้รับการเลื่อนยศเป็น “นายดาบ” แล้วได้รับคำสั่งให้ไปเป็นครูฝึกการยิงปืนบนอากาศและพื้นดิน และเป็นผู้ฝูงซ่อมเครื่องบิน

ในเวลานั้น กองอากาศยานที่ดอนเมืองประสบความสำเร็จในการสร้างเครื่องบินขึ้นเอง (ยกเว้นเครื่องยนต์ ) ใช้ไม้ทำใบพัด โลหะทุกชิ้นผลิต-เชื่อมต่อขึ้นเอง วัสดุที่นำมาขึงทำเป็นปีก ทำเองได้หมด ข้อบกพร่องทั้งปวงจะพบเมื่อนักบินนำเครื่องขึ้นบินไปแล้ว

“นักบินลองเครื่อง” มีชีวิตสุ่มเสี่ยงที่สุด จ่าโทนเดนตายประสบเหตุแทบเอาชีวิตไม่รอดนับครั้งไม่ถ้วน เช่น กรณีใบพัดแตกในอากาศ โลหะที่เชื่อมไว้หลุดออกจากกัน มีการสูญเสียนักบินจากการลองเครื่อง และข้อบกพร่องหลายราย ทำไป-เรียนรู้ไป-บินไป นับเป็นชีวิตและผลงานของบรรพบุรุษไทยในยุคบุกเบิกการบินที่น่าสรรเสริญ

21 ธันวาคม 2464 จอมพลจอฟฟร์ (Joffre) ของฝรั่งเศสเดินทางมาสยามประเทศเพื่อขอบคุณรัฐบาลที่ส่งทหารไปช่วยทำศึก ในหลวง ร.6
ทรงให้การต้อนรับ มีพิธีมอบเหรียญให้กับทหารผ่านศึกจ่าโทน คือ 1 ในจำนวนนั้นครับ

ฝีมือการบินและจิตใจที่กล้าแกร่ง ทำให้โทนได้รับการเลื่อนยศเป็น ร้อยตรี ที่ยังใช้ชีวิต ใช้ลมหายใจไปกับการบิน จนกระทั่งเติบโตได้ยศ ร้อยเอก และในหลวง ร.6 พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสันทัดยนตกรรม ต่อมาได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำที่ฐานบิน โคกกะเทียม ลพบุรีเพื่อสร้างสนามบินขึ้นใหม่ในพื้นที่ 4 พันไร่

หมวดโทนคุมชาวบ้านราว 700 คน หักล้างถางพงในพื้นที่ใช้เวลา 4 เดือน ด้วยงบประมาณ 9 หมื่นบาท นับเป็นความภาคภูมิใจของนายทหารท่านนี้ยิ่งนัก

บ้านเมืองในยุคสมัยนั้นมีกลิ่นไอของความขัดแย้งคุกรุ่น

ส.ท. โทน บินดี 1

24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทำการยึดอำนาจพลโทพระยาเฉลิมอากาศ นักบินหมายเลข 1 ของสยามประเทศ บุพการีทหารอากาศ เจ้ากรมอากาศยาน ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ในวัยเพียง 45 ปี กลายเป็น “นายทหารนอกราชการ” รับพระราชทานบำนาญตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2475

13-17 ตุลาคม 2476 เกิดกรณี กบฏบวรเดช ทหารจากโคราชและภาคอีสานเคลื่อนทัพเข้ากรุงเทพฯ ต้องการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หลังจากเหตุการณ์สงบ ร้อยเอกหลวงสันทัดยนตกรรม หรือ ร้อยเอกโทน บินดี ได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งท่านเองเป็นลูกผู้ชายพอที่จะไม่ขอกล่าวถึงในบันทึก คงมีแต่ความเจ็บปวดสุดชีวิต

ร้อยเอกโทน บินดี หรือ ร้อยเอก หลวงสันทัดยนตกรรม นักบินสยามผู้สำเร็จการบินผาดแผลงเป็นคนแรกในฝรั่งเศสระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างเกียรติภูมิแก่ประเทศชาติ ได้รับการยอมรับจากเพื่อนนักบิน ถูกปลดออกจากราชการ หลังจากนั้นไม่มีใครทราบเรื่องราวชีวิตของท่านอีก

มีข้อมูลว่า ท่านเสียชีวิตเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2508 ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง หากท่านผู้ใดทราบข้อมูลชีวิตของวีรบุรุษนักบินท่านนี้หลังจากถูกปลดออกจากราชการ กรุณาแจ้งให้ผู้เขียนทราบด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง

ขอบคุณข้อมูลจาก โทน บินดี จ้าวอากาศคนแรกของเมืองไทย โดย สมบูรณ์ วิริยศิริ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

aislogo

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image