เศรษฐกิจการเมืองของสงครามและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในเมียนมา

เหมืองหยกถล่มในรัฐคะฉิ่น (ภาพจาก http://www.mizzima.com/news-domestic/least-11-dead-myanmar-jade-mine-landslide-many-feared-missing-officials)

การศึกษาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์นั้นมิได้ให้ความสนใจเพียงแต่เฉพาะความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองหรืออัตลักษณ์ทางด้านชาติพันธุ์ว่าเป็นมูลเหตุสำคัญอันก่อให้เกิดความขัดแย้งจนในบางกรณีปะทุเป็นสงครามกลางเมืองแต่เพียงเท่านั้น หากแต่มูลเหตุทางด้านเศรษฐกิจยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้ความขัดแย้งและนำไปสู่ความซับซ้อนของปัญหาในหลากหลายระดับนับตั้งแต่ ข้อขัดแย้งระหว่างประชาชน กลุ่มผู้นำ หรือสามารถขยายวงไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยเช่นเดียวกัน

โดยหากจำแนกลักษณะหรือชนิดของความขัดแย้งแล้วจะพบในหลากหลายกรณีว่า ทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นอีกลักษณะหนึ่งของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สามารถกลายเป็นพลังการขับเคลื่อนของความขัดแย้ง หรือ หากกล่าวให้ลึกมากไปกว่านั้นนั่นคือ ในแง่มุมทางด้านเศรษฐกิจการเมืองมีสมมุติฐานที่น่าสนใจว่า ชนิดของทรัพยากรธรรมชาติทำให้โครงสร้างความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์มีความแตกต่างหลากหลายไปตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่นั่นคือ

กลุ่มที่หนึ่ง ทรัพยากรที่สามารถขนส่งได้โดยง่าย เช่น หยก อัญมณี แร่ธาตุ ซึ่งทรัพยากรในกลุ่มนี้ จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากสามารถขนถ่ายและสร้างประโยชน์ต่อกลุ่มอันทำให้มีเงินทุนสนับสนุนการต่อสู้และยังทำให้โครงสร้างความขัดแย้งมีระยะเวลาอันยาวนาน ซึ่งมีความแตกต่างกับกลุ่มที่สอง นั่นคือ กลุ่มทรัพยากรที่สามารถขนส่งได้ยาก เช่น น้ำมัน และ แก๊ซธรรมชาติ เป็นต้น ทรัพยากรในกลุ่มนี้จะพบว่าเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับฝ่ายรัฐมากกว่า เนื่องจาก หากกองกำลังกลุ่มใดต้องการยึดพื้นที่ดังกล่าวต้องใช้ทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก เพราะทรัพยากรมักอยู่ใต้ดินหรือท้องทะเลที่มีขนาดพื้นที่กินบริเวณกว้างจนเกินกว่าสามารถที่กองกำลังขนาดเล็กที่ต่อต้านรัฐบาลจะสามารถเข้ายึดกุมพื้นที่ได้ ทั้งนี้ยังหมายรวมถึงความสามารถทางด้านเทคโนโลยีในการนำเอาทรัพยากรต่างๆขึ้นมาใช้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน มูลค่าทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าวจึงยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันฝ่ายของรัฐให้พยายามเข้ายึดพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการเอาชนะทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้นห้วงระยะเวลาของความขัดแย้งในกลุ่มนี้จะสั้นกว่ากลุ่มทรัพยากรธรรมชาติในกลุ่มแรก

ผู้พลัดถิ่นภายในชาวคะฉิ่นที่หนีภัยจากการสู้รบ (ภาพจาก http://kachinlandnews.com/?p=27418)
ผู้พลัดถิ่นภายในชาวคะฉิ่นที่หนีภัยจากการสู้รบ (ภาพจาก http://kachinlandnews.com/?p=27418)

ลักษณะโครงสร้างความขัดแย้งทางด้านชาติพันธ์ของเมียนมานั้น หากพิจารณาจากมุมมองทางด้านเศรษฐกิจการเมืองแล้วจะพบว่า ในแต่ละพื้นที่ของรัฐที่มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์กับฝ่ายรัฐ อันนำโดยกองทัพ มีลักษณะความขัดแย้งแตกต่างกันออกไป อาทิ ในพื้นที่ที่มีทรัพยากรเคลื่อนย้ายได้ง่ายจะคงมีกองกำลังต่อสู้กับฝ่ายรัฐและมีความเข้มแข็งพอสมควร ดังกรณีของรัฐคะฉิ่น ยังคงมีกองกำลังของ กองทัพคะฉิ่นอิสระ หรือ KIA (Kachin Independence Army) ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวอุดมไปด้วยแร่ธาตุและอัญมณีต่างๆ โดยในห้วงระยะเวลที่ผ่านมาสามารถถูกนำมาใช้สนับสนุนให้กองกำลังมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากพื้นที่ของรัฐอาระกัน อันเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลสามารถเข้าควบคุมได้ทั้งหมดและยังสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ขนส่งได้ยากได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ แก๊ซธรรมชาติและน้ำมัน

Advertisement
ท่อส่งน้ำมันจากรัฐอาระกันในพม่าไปยังจีน (ภาพจาก http://arakanoilwatch.org/latest-photos-from-china-burma-oil-and-gas-pipeline-construction-in-kauk-phyu-township-of-arakan-state-burma-3/)
ท่อส่งน้ำมันจากรัฐอาระกันในพม่าไปยังจีน (ภาพจาก http://arakanoilwatch.org/latest-photos-from-china-burma-oil-and-gas-pipeline-construction-in-kauk-phyu-township-of-arakan-state-burma-3/)

อย่างไรก็ตาม ในห้วงของการเจรจาประชุมสันติภาพนั้น ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ เริ่มทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มจะถูกยกให้อีกเป็นประเด็นหนึ่งในการประชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21 ครั้งต่อไป โดยเฉพาะการจัดสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐท้องถิ่น ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งที่ต้องตระหนักประการหนึ่งนั่นคือ ในปัจจุบัน การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติรัฐบาลกลางเป็นแหล่งผูกขาดอำนาจในการจัดสรรหรือกำหนดนโยบาย หากจะมีการเจรจาต่อรองในประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นนั่นย่อมหมายความว่า อำนาจของรัฐส่วนกลางจะต้องมีการถูกท้าทายขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะ การพยายามเรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ซึ่งในบริบทของเมียนมานั่นคือรัฐในท้องถิ่นทั้ง 7 รัฐที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เป็นประชากรหลักนั่นเอง

หากกล่าวในแง่มุมของความเป็นไปได้ของการเจรจาในประเด็นของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ถือได้ว่ามิได้เป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศมากมายนักและไม่ได้ขัดกับนโยบายของกองทัพที่พลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่ายได้กล่าวไว้แล้ว จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลและกองทัพจะรับข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณา อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตุที่น่าสนใจอยู่สองประเด็นคือ
ประเด็นแรก การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาตินั้น หากนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในการประเด็นการเพิ่มอำนาจให้กับรัฐท้องถิ่นนั้น ปัญหาที่สำคัญคือจะใช้เกณฑ์อะไรในการจัดสรรทรัพยากรและสัดส่วนในการได้รับประโยชน์จะมีความเท่าเทียมกันทุกรัฐด้วยหรือไม่

ประเด็นที่สอง การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติมีความสัมพันธ์กับระบบการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ทั้งนี้ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของเมียนมานั่นคือ รายได้จริงที่รัฐสามารถจัดเก็บได้จากทรัพยากรธรรมชาติกับจำนวนตัวเลขที่ถูกระบุในงบประมาณอย่างเป็นทางการของประเทศนั้นถูกตั้งข้อสังเกตุว่ามีความแตกต่างกัน จึงจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจัดทำเกณฑ์การจัดสรรในข้างต้นว่ามีความเที่ยงตรงหรือโปร่งใสตามรายได้และผลประโยชน์จริงได้มากน้อยเพียงใด
ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ มิได้เป็นปัญหาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากเครือข่ายทางธุรกิจที่มีอิทธิพลและควบคุมสัมปทานด้านทรัพยากรทางธรรมชาติในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์กับเครือข่ายอำนาจของบุคคลสำคัญในกองทัพทั้งในอดีตและปัจจุบัน

Advertisement

นั่นย่อมหมายความว่า “การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นอีกมุมหนึ่งของการจัดสรรอำนาจระหว่างพลเรือนกับทหาร” อีกด้วย ในช่วงวลาที่มีความท้าทายและการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญเช่นนี้ จึงมิได้เป็นการง่ายนักที่รัฐนาวาของพลเรือน ที่มีอำนาจในกลไกรัฐอย่างจำกัดจะแล่นฝ่าแม่น้ำแห่งการเจรจาอันเชี่ยวกรากไปได้ภายในห้วงระยะเวลาอันสั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image