ยอมรับความหลากหลาย ยุติ “Hate Crime: อาชญากรรมจากความเกลียดชัง”

กรณีการอุ้มฆ่า น.ส.สุภัคสรณ์ พลไธสง อายุ 28 ปี หรือ “หญิง” โดยเพื่อนสาวคนสนิท (น.ส.กรรณิกา กรุมรัมย์ อายุ 38 ปี หรือดาว) บอกให้นายตำรวจใหญ่ (พ.ต.อ.อำนวย พงษ์สวัสดิ์ อายุ 58 ปี ผกก.สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี) พาหญิงไป “สั่งสอน” กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญตั้งแต่ต้นปี เพราะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงของรัฐ โดยการอำพรางศพอย่างไร้มนุษยธรรม

นั่นทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อคนหลากหลายทางเพศจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะขึ้น โดยมีหัวข้อว่า “อุ้ม ซ้อมทรมาน ฆาตกรรม: อาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อ ‘ทอม’ และความหลากหลายทางเพศ”

เพราะกรณีการอุ้มฆ่าโดยเฉพาะผู้ถูกกระทำเป็นคนหลากหลายทางเพศ เกิดขึ้นไม่นานก็ลอยหายไปตามสายลม ไม่มีการพูดคุยกันอย่างจริงจังว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นมีสาเหตุมาจากอะไร โดยประเด็นที่น่าสนใจจากเวทีนี้คือ การอุ้มฆ่า น.ส.สุภัคสรณ์ เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate crime) ทางเพศหรือไม่?

จากมุมนักกิจกรรม

กับความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า

lad01140759p2 ทิพย์อัปสร ศศิตระกูล ผู้จัดการโครงการลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิในหญิงรักหญิง กะเทย สาวประเภทสอง สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เปิดเวทีว่า กรณีน้องหญิงไม่ใช่กรณีแรกและกรณีสุดท้ายแน่นอน จากการทำงานในชุมชนทั่วประเทศ มักมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากจนคนทำงานรู้สึกหดหู่ใจว่าเหตุความรุนแรง การอุ้มฆ่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังไม่หมดอีกหรือ ส่วนตัวคิดว่าการชื่นชอบเพศเดียวกันผิดตรงไหน เราต่างจากคนทั่วไปอย่างไร เราก็มีหัวใจ มีความรู้สึกเหมือนทุกคน

Advertisement

“เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เจอน้องๆ โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ พบเหตุการณ์แบบนี้เยอะมาก ผู้กระทำมีตั้งแต่คนในครอบครัว ทั้งพ่อ พี่ชาย ทุบ เตะ ต่อย ข่มขืน เพื่อให้ลูกตัวเองเปลี่ยนจากการชอบผู้หญิงเป็นชอบผู้ชาย และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่ทั้งละเมิดทางเพศ หรือลวงไปฆ่า แล้วข่มขืน… ซึ่งการจะเปลี่ยนความรู้สึกนั้นเป็นไปได้ยากมาก

“น้องๆ ในพื้นที่อยู่กันลำบาก น้องที่เป็นทอมเวลาเดินไปไหนมาไหน จะรู้สึกว่าตัวเองหวาดกลัวตลอดเวลาว่าเราจะเป็นแบบนั้นไหม ขณะที่เพื่อนของเขาหายไปทีละคนสองคน แล้วตัวฉันจะอยู่อย่างไร ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มีทุกภาค ในแต่ละปีจะเกิดเหตุภาคละ 1 ครั้ง รวมปีละอย่างน้อย 4 ครั้ง”

จากกรณีของสุภัคสรณ์ ทิพย์อัปสรมองว่าได้สะท้อนถึงคนทำงานเพื่อคนหลากหลายทางเพศ ว่าที่ทำอยู่ทุกวันนั้นเข้าถึงสาเหตุของปัญหาจริงหรือเปล่า คนทำงานเองพอได้ยินข่าวแบบนี้ทุกวันก็หดหู่จนพูดไม่ออก คิดว่าต่อจากกรณีนี้ไปเราจะต้องหดหู่ ร้องไห้กับข่าวแบบนี้อีกกี่ครั้ง ไว้อาลัยอีกกี่รอบ

Advertisement

“ตัวเราต้องเริ่มเรียนรู้ความหลากหลายในโลกนี้ และเข้าใจในตัวตนของเขา เข้าใจในความเป็นตัวของเขาเอง และเราก็ยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็น และพยายามสื่อสารออกไปในทิศทางเดียวกันว่า กลุ่มความหลากหลายทางเพศต้องการแบบนี้ หรือกลุ่มคนที่มีความรักเพศตรงข้ามว่ามีบริบทแบบไหน แค่อยากให้มองว่าเราก็เป็นคนหนึ่งคน เป็นมนุษย์เหมือนทุกคน ไม่ได้ผิดที่เราเกิดมาแล้วชอบเพศเดียวกัน และคุณเองไม่มีสิทธิทำร้ายเราเพราะเราเป็นเรา และอยากให้ทุกคนทำตัวเองให้เหมือนจิ๊กซอว์ มาร่วมกันให้สังคมเข้าใจ และปกป้องกันและกันจะดีกว่า” ทิพย์อัปสรทิ้งท้าย

แก้ทอมซ่อมดี้: วาทกรรมร้ายทำลายสังคม

“เรามีคดีประวัติศาสตร์ ‘อุ้มหาย’ อย่างน้อย 5 คดี ‘หะยีสุหรง’ เป็นคดีคลาสสิกที่เกี่ยวกับเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ‘ทนง โพธิ์อ่าน’ บัดนี้ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่หรือไป ซึ่งเขาหายไปหลังเกิด รสช. ‘ทนายสมชาย’ เกี่ยวกับเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเขาต่อสู้ให้นักโทษในคดีซึ่งถูกตำรวจฉี่ใส่หัวและทำทรมานหลายอย่าง ‘เพชรซาอุ-อุ้มแม่ลูก’ เสร็จแล้วฆ่า เป็นคดีเดียวที่ถูกดำเนินคดีและติดตะราง แต่คนที่เป็นหัวโจกใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ออกมาแล้ว คดีนี้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งระดับสูงและระดับกลาง ‘คดีบิลลี่’ เป็นชาวบ้านธรรมดาที่หายตัวไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ” รศ.กฤตยา-อาชวนิจกุล-3

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ยกตัวอย่างก่อนเริ่มว่า เริ่มทำงานเรื่องคนหายเมื่อพฤษภาคม 2535 ทำให้ทราบว่าเรื่องคนหายในบ้านเราเป็นจุดอ่อนสำคัญของตำรวจ เพราะไม่มีหน่วยงานของตำรวจที่จะรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ตำรวจมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นก็ตอนที่มูลนิธิกระจกเงาทำเรื่องคนหาย ฉะนั้น หน่วยงานที่จะอำนวยความยุติธรรมและเรื่องที่เกี่ยวข้อง ยังมีความพิการ ไม่สมประกอบอยู่เยอะ

“ประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นคือ เหตุการณ์ที่เกิดกับคุณสุภัคสรณ์ สำหรับดิฉันมันเป็นอาชญากรรมบนความเกลียดชัง

“สิ่งที่น่าตกใจคือ วาทกรรมแก้ทอมซ่อมดี้ ชี้ให้เห็นว่าผู้ชายจำนวนหนึ่งที่มีความเชื่อว่ากูสามารถซ่อมดี้ ซ่อมทอมได้ และเป็นความเชื่อว่า ‘เราทำได้’ ซึ่งความเชื่อที่เราทำได้นี้เป็นความเชื่อที่น่ากลัว เพราะเขาคิดว่าทำอยู่บนความถูกต้อง-คดีอุ้มฆ่าต่างๆ โดยที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เขาคิดว่าทำถูกต้อง เขาไม่ได้คิดว่าก่ออาชญากรรม ที่ต้องถูกลงโทษ”

รศ.ดร.กฤตยากล่าวว่า มีคดีแบบคุณสุภัคสรณ์ อย่างน้อย 14 คดี ที่มีการฆาตรกรรมคนที่มีอัตลักษณ์เป็นทอม ส่วนตัวมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นความรุนแรงต่อผู้หญิงที่มีอัตลักษณ์เป็นทอม และมีความเชื่อว่าทอมคือผู้ชายปลอม เครื่องเพศชายแท้ที่คนไทยชอบเรียกว่าเจ้าโลกสามารถแก้ได้เท่านั้น

“เชื่อไหมว่าความเชื่อแบบนี้ในสังคมตะวันตกก็เป็น มีกรณีการข่มขืนผู้หญิงที่มีลักษณะเป็นทอม เพราะคิดว่าถ้าเจอของจริงแล้วจะหาย ซึ่งที่จริงแล้วไม่เกี่ยวเลย เพราะในข้อเท็จจริงนั้นมีผู้หญิงมารักกับผู้หญิง เดิมเขาแต่งงานมีลูกกับผู้ชาย แล้วก็มารักกับผู้หญิง ฉะนั้น เรื่องเครื่องเพศของผู้ชายไม่เกี่ยวกับความรักของคนสองคนไม่ว่าเขาจะอยู่ในเพศภาวะอะไร เพราะในขณะนี้เราก็เห็นว่าเพศภาวะทอมแล้วมารักกับสาวประเภทสองก็มี

“สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าเรื่องเพศในสังคมไทย นอกจากไม่คุยกันแล้ว ความรู้ความเข้าใจยังอ่อนแอมาก”

สื่อมวลชน: ตัวแปรสำคัญของการสร้างความเข้าใจ

350522 ด้าน พรรณิการ์ วานิช ผู้สื่อข่าวและพิธีกร ช่องวอยซ์ทีวี เกริ่นว่า เป็นที่น่าเสียใจว่าสื่อไทยไม่ละเอียดอ่อนต่อความหลากหลายทางเพศ พาดหัวข่าวไทยมีปัญหามาก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของคนหลากหลายทางเพศอย่างเดียว คนรู้จักข่าวนี้ในชื่อข่าว “อุ้มทอม” ซึ่งห้องข่าววอยซ์ทีวีได้ถกเถียงกันว่า กรณีแบบไหนจึงสามารถใช้คำว่า “ทอม ดี้ กะเทย” ในข่าวได้ ถ้าเหยื่อถูกอุ้มเพราะเขาเป็นทอม เราจำเป็นต้องพาดหัวว่า “อุ้มทอม” เพราะมันเป็นนัยยะสำคัญของคดีว่าเพราะเขาเป็นทอม เขาจึงโดนอุ้ม เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปใช้คำว่า “อุ้มสุภัคสรณ์หาย” ซึ่งหากถามว่าเหยื่อของคดีนี้คือใคร แทบทุกคนไม่รู้ว่าเขาชื่อ สุภัคสรณ์ พลไธสง เพราะรู้กันในชื่อข่าวอุ้มทอม แม้แต่นักข่าวเองคนที่ไม่ได้ทำข่าวนี้โดยตรงก็ไม่รู้ว่าชื่ออะไร

พรรณิการ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่เมื่อมองสื่อภาษาอังกฤษ ตอนแรกเขาใช้คำว่า “Love Triangle” จากข้อเท็จจริงช่วงแรก แต่ต่อให้ตอนนี้มันเริ่มคลี่คลายแล้ว ก็ไม่มีใครใช้คำว่าเหยื่อเป็นเลสเบี้ยน เป็นทอมบอย เขาก็ใช้คำว่าคดีอุ้มฆ่า ส่วนคำเรียกผู้เสียหายก็เป็น “Young woman” ไม่ต้องตีความว่าเขาเป็นทอมหรืออะไร

“คนที่ต้องตัดสินใจเรื่องนี้อย่างจริงจังคือ ‘สื่อ’ เพราะแนวทางการเสนอข่าวจะเป็นคนละแบบ ระหว่างเป็นกับไม่เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate crime) และสิ่งที่ใช้เป็นบรรทัดฐานหรือมาตรฐานตอนนี้ คือเป็นอาชญากรรมที่เกิดจากสิ่งที่เขาไม่ได้เลือกและอยู่ในลักษณะของการเหมารวม เช่น ศาสนา เป็นเรื่องที่คนคนนั้นไม่ได้ทำ มันเป็นการเหมารวมว่าคนเชื้อชาตินี้ ศาสนานี้ เป็นคนในกลุ่มหลากหลายทางเพศ

“ถ้าเข้าข่ายว่า คุณไปก่ออาชญากรรมกับเขา โดยสาเหตุไม่ได้มาจากเรื่องที่เขาทำ แต่มาจากการ ‘เป็น’ อะไรบางอย่างของเขา นั่นถึงจะเข้าข่ายเฮท ไครม ซึ่งนี่เป็นความหมายเชิงกว้างที่หลักสากลใช้กัน” พรรณิการ์สรุป

ก่อนขยายความว่า สื่อมวลชนอาจจะตีความกว้างไว้ก่อน เพราะหากบอกว่าเป็น Hate crime ทันที มันจะคาบเกี่ยวกับจุดที่ใหญ่มากคือ “การอุ้มฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งวอยซ์ทีวีจะมองว่าเป็นจุดใหญ่กว่าเรื่องทอม ฉะนั้น การให้น้ำหนักกับสิ่งเหล่านี้อย่างในยุโรปก็ยังเป็นปัญหา เพราะอาจละเลยเรื่องบางอย่างไป

ทั้งนี้ ผู้ประกาศสาวซึ่งจบการศึกษาปริญญาโทด้านการเมืองโลกจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) เสนอว่า 3 สิ่งที่จำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นในสังคมไทย 1 คือ กฎหมาย อาจต้องฝากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นคนผลักดันกฎหมายว่าด้วยเรื่องวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง (Hate speech) อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate crime) ที่มีการเรียกร้องมานานแล้ว ซึ่งเรื่องกฎหมายถือเป็นเรื่องปลายทาง

“แต่ต้นทางกับกลางทาง คือ การศึกษา กับ สื่อมวลชน แท้จริงแล้วคือเนื้อเดียวกัน การฝากความหวังกับระบบการศึกษาก็รู้อยู่ว่าไม่มีความหวังเท่าไหร่ แต่สื่อเป็นตัวหลักที่สามารถทำได้เลยและไม่เหมือนระบบการศึกษาที่ค่อนข้างผูกขาดโดยส่วนกลาง สื่อต้องมีความรับผิดชอบที่ทำให้คนตระหนักและเข้าใจว่าอะไรคือ Hate speech อะไรคือ Hate crime อะไรคือสิ่งที่คุณทำลงไปโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นอคติต่อคนหลากหลายทางเพศ รวมถึงความหลากหลายทางความคิดทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา แรงงานต่างด้าว

“ทุกอย่างเป็นสิ่งที่คนไทยคิดว่าไม่เป็นปัญหา แต่สุดท้ายแล้วมันเป็นปัญหา อยากฝากความหวังไว้กับสื่อ เพราะการปฏิรูปการศึกษาอาจจะนานและทำให้มีคนที่ต้องรับเคราะห์อย่างที่เราได้ยินกับหลายกรณีที่เกิดขึ้น” พรรณิการ์ทิ้งท้าย

pexels-photo-27896

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image