คอลัมน์จิตวิวัฒน์ สังคมไทยขาดสถาบันเสรีนิยม ที่เข้มแข็งหรือเปล่า โดย ประชา หุตานุวัตร

เป็นไปได้ไหมว่า สังคมไทยขาดสถาบันเสรีนิยมที่เข้มแข็ง ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน ในการสร้างระบอบประชาธิปไตย

เมื่อผมป่วยหนัก กำลังไปเที่ยวกับครอบครัวและถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลในต่างจังหวัดกะทันหัน เพราะผมแต่งตัวปอนๆ แบบชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทุกระดับปฏิบัติต่อผมเหมือนผมเป็นพลเมืองชั้นสอง (นี่ใช้คำอย่างเบา) แต่พอมีเพื่อนที่เป็นหมอมาเยี่ยม ฐานะของผมก็เปลี่ยนไปในทางดีขึ้นหน่อยหนึ่ง พอต้องย้ายมาโรงพยาบาลใหญ่ขึ้น เพราะต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัยกว่า เมื่อแรกมาถึง ไม่มีใครรู้จัก ทุกคนก็ปฏิบัติต่อผมแบบพลเมืองชั้นสองอีก พอมีคนมีสถานะในเมืองมาเยี่ยม สถานะก็ค่อยๆ ดีขึ้น พยาบาลคนหนึ่งกำลังหน้างอและพูดเสียงเข้มใส่ผม ขณะรอหมอมาตรวจ พอดีหมอที่มาตรวจรู้จักกับคนใหญ่ในเมืองที่ฝากฝังผมผ่านๆ กันมา พูดคุยกับผมอย่างเสมอกัน ให้คุณค่าต่อกัน คุณพยาบาลคนนั้นก็เปลี่ยนสรรพนามเรียกผม จาก “ลุง” ห้วนๆ มาเป็นคุณด้วยเสียงอ่อนหวาน และยิ้มแย้มทันที

การเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นคนเสมอกัน มีคุณค่าและศักดิ์ศรีเสมอกัน คือ สถาบันเสรีนิยมที่พื้นฐานที่สุด ที่สังคมไทยยังไม่ได้สร้างให้ตั้งมั่นหรือเปล่า ศาสนาพุทธที่เน้นเรื่องนี้โดยแก่นสาร ทำไมไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมให้คนเห็นคุณค่าของกันและกัน หรือว่าศาสนาพุทธในบ้านเรา ถูกตีความแบบศักดินามากเกินไปหรือเปล่า เช่น หลักเรื่องสมานัตตตา หมายถึงความเสมอภาค เลยถูกตีความว่าเป็นเรื่องต้องวางตัวเสมอต้นเสมอปลายไปหรือเปล่า

เป็นไปได้ไหมว่า เมื่อนักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ รุ่น คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ จิตร ภูมิศักดิ์ และมิตรสหาย ถูกกำจัดโดยจอมเผด็จการอย่าง เผ่า ศรียานนท์ ผิน ชุณหะวัณ และ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สังคมไทยยังไม่สามารถฟื้นสถาบันการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีและเสรีภาพทางวิชาการที่มั่นคงได้อีก แม้ในรอบ 50 กว่าปีที่ผ่านมา เรามีคนทำงานสื่อสาธารณะที่เข้มแข็งกล้าหาญขึ้นบ้าง เรามีนักวิชาการที่ซื่อตรงต่อการแสวงหาสัจจะอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วสถาบันสื่อ และสถาบันทางวิชาการ ยังอ่อนแอเกินกว่าจะทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องและช่วงชิงพื้นที่การแสดงออกสาธารณะอย่างอิสระเสรี นี่เป็นสถาบันเสรีนิยมอันสำคัญยิ่งยวดของประชาธิปไตย คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานใช่ไหม เราจึงจะเข้าใจข้อความอย่าง “ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูดแม้แต่น้อย แต่ผมจะปกป้องเสรีภาพจนสุดชีวิต ให้คุณได้พูดสิ่งที่คุณอยากพูดนั้น”

Advertisement

ก่อนรัฐบาลทักษิณจะขึ้นมามีอำนาจในปี 2543 นั้น ฝ่ายประชาสังคมในสังคมไทย เคยเข้มแข็งที่สุดในเอเชีย โครงการใหญ่ๆ ของรัฐที่กระทบต่อชีวิตประชาชนหรือสิ่งแวดล้อม ถูกประท้วงและต้องยุติลงจำนวนไม่น้อย

การเดินขบวน การประท้วงรัฐบาล เป็นสถาบันเสรีนิยมที่สำคัญและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ นับแต่หลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา แต่พอถึงยุครัฐบาลทักษิณ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมก็เริ่มอ่อนแอลง เพราะเกิดการแตกแยกขึ้น ระหว่างฝ่ายที่เข้าไปทำงานกับรัฐบาลทักษิณอย่างใกล้ชิด กับฝ่ายที่อยู่ข้างประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างใกล้ชิด

สถาบันเสรีภาพในการเดินขบวนประท้วง ยิ่งอ่อนแอลงไปอีกจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเกิดความขัดแย้งของขั้วการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง จนมาถึงขบวน “มวลมหาประชาชน” เป็นไปได้ไหม ว่าขั้วการเมืองทั้งสองได้ใช้สถาบันนี้สุดโต่งเกินไป จนรัฐอ่อนแอเกินไป แม้รัฐจะเป็นสิ่งชั่วร้าย แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นการปิดสนามบินสุวรรณภูมิไล่รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (2551) การปิดล้อมการประชุมระหว่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์จนนักการทูตต้องหนีออกทางหลังคาโรงแรม โดยมีเฮลิคอปเตอร์มารับ (2552) การยึดใจกลางกรุงเทพฯของฝ่ายเสื้อแดงและการปราบอย่างรุนแรงของรัฐบาล (2553) การยึดกรุงเทพฯของฝ่ายเสื้อเหลืองกับ “มวลมหาประชาชน” (2556-2557) จนเกิดรัฐประหารครั้งล่าสุด

Advertisement

แน่นอนว่าทั้งสองฝ่าย พยายามโทษกันและกันว่าเป็นฝ่ายทำให้เกิดเผด็จการทหารขึ้นมาอีก ถ้าเราทำใจกลางๆ มองมุมกว้างออกไป ตามหลักหยิน-หยาง เมื่อบ้านเมืองวุ่นวายมากเกินไป นานเกินไป จนรัฐทั้งสองฝ่ายอ่อนแอเกินไป ประชาชนไม่สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้เป็นเวลานานเกินไป ประชาชนย่อมถามหาระเบียบวินัย และอำนาจรัฐที่เข้มแข็ง นี่ใช่ไหมที่ทำให้คนจำนวนมากยอมรับรัฐบาลทหาร แม้จิตใจลึกๆ ยังต้องการประชาธิปไตยอยู่

เราสรุปเป็นบทเรียนได้ไหม ว่าเราต้องใช้สถาบันประท้วงเดินขบวนอย่างถนอมรักษา เพราะการรัฐประหารและกลับสู่เผด็จการ ย่อมนำไปสู่การทำลายสถาบันเสรีนิยมอื่นๆ ให้ยับเยินลงไปอีก และกว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า

ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีสถาบันเสรีนิยมทางการเมืองที่เข้มแข็ง ประชาธิปไตยทางการเมืองที่ยั่งยืนย่อมเป็นไปไม่ได้ แม้ในยามที่ทหารยึดอำนาจไว้ เราก็ต้องพยายามสร้างและรักษาสถาบันเสรีนิยมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

แม้ผมจะไม่เชื่อว่าประชาธิปไตยทางการเมืองจะเป็นคำตอบทุกอย่างของสังคมไทย และผมไม่เชื่อในเสรีนิยมสุดโต่งทางเศรษฐกิจดังที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ผมก็เชื่อว่าประชาธิปไตยทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ในหลายๆ ปัจจัยที่จะทำให้สังคมไทยบริสุทธิ์ยุติธรรมขึ้น และหันเหไปในแนวทางที่ยั่งยืนขึ้น

ถ้าจะเปรียบประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้งเป็นเหมือนกับการสร้างบ้าน การสร้างสถาบันเสรีนิยมเหมือนการลงเสาเข็มให้บ้านมั่นคง ทนพายุกระหน่ำในภายหน้าแล้วบ้านไม่ล้มง่ายๆ ได้ไหม

ประชา หุตานุวัตร
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image