ปมร้อนเสียงค้านร่างรธน. วัดใจ”กรธ.”ก่อนประชามติ

-

ปิดกล่องรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ นั่งเป็นประธาน กรธ. ควบคุมการร่างรัฐธรรมนูญในเฟสที่ 2 เปิดเผยเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา

แน่นอนเสียงตอบรับและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึงเสียงคัดค้านเกิดขึ้นตามมา หลังจากที่ทุกฝ่ายได้รับชมและศึกษาเนื้อหาร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับ “กรธ.”

แม้ “กรธ.” จะออกมาโชว์จุดขายและจุดแข็งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ปฏิรูปและปราบปรามการทุจริต” พร้อมกับระบุถึงประเด็นในความก้าวหน้าที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง อาทิ เรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ความก้าวหน้าด้านการเมือง โดยเฉพาะการใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่ทุกคะแนนเสียงจะไม่สูญเปล่า รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยได้มีการกำหนดห้าม ส.ส.แปรญัตติของบประมาณลงพื้นที่ตัวเอง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน พร้อมทั้งเพิ่มโทษให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งบแผ่นดินโดยมิชอบตั้งแต่ผู้ใช้จนถึงผู้อนุมัติจะต้องออกจากตำแหน่งและตัดสิทธิทางการเมือง

แต่เสียงคัดค้านทั้งจากกัลยาณมิตร รวมทั้งฝ่ายการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในบางประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว กลับมีท่าทีและสัญญาณที่แข็งกร้าวมากขึ้น ถึงข้อเสนอที่ส่งผ่านไปยัง “กรธ.” ที่่ กรธ.จำเป็นต้องรับฟังอย่างได้ยิน เพื่อนำข้อเสนอปรับแก้ไขตามข้อเรียกร้อง

Advertisement

ไล่ตั้งแต่ภาคประชาสังคม กลุ่มเอ็นจีโอ ที่ออกมาคัดค้านยื่นข้อเสนอให้ กรธ. ปรับปรุงแก้ไขในหมวด “สิทธิเสรีภาพและสิทธิชุมชน” ซึ่งควรกำหนดให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ แม้ กรธ.จะอธิบายว่าอะไรที่ไม่ได้เขียนไว้ให้ ถือว่าประชาชนมีสิทธิและไปกำหนดให้รัฐต้องทำหน้าที่ก็ตาม แต่เป็นบทบัญญัติดังกล่าวเหมือนเป็นนามธรรมที่ยากจะจับต้องได้ ประชาชนขาดหลักประกันในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นนโยบายสาธารณะอันเกี่ยวเนื่องกับดินน้ำ ป่า อากาศ แร่ธาตุ และพลังงาน

ขณะที่ตัวแทนของท้องถิ่น อย่างสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย นำโดยนายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคม พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจากทั่วประเทศ ก็ได้ยื่นข้อเสนอต่อ “กรธ.” ให้ปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับการปกครองส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีความชัดเจน เหมือนกับในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน จึงขอให้ กรธ.พิจารณาเพิ่มเติมบทบัญญัติดังต่อไปนี้ คือรัฐต้องดำเนินการนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน จัดระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้มีขอบเขตอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่ชัดเจน เหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศ และสนับสนุนให้จังหวัดมีแผนและงบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไว้ในหมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐเพิ่มเติม ส่วนจะบัญญัติให้อยู่ในมาตราใดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กรธ.

Advertisement

สำหรับฝ่ายการเมืองนั้น สองพรรคใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เห็นตรงกันในการคัดค้านระบบการเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกได้ทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน เพราะจะทำให้เกิดการซื้อเสียงที่รุนแรง เพิ่มโอกาสให้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่กำลังทุนมากพอที่จะส่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตทุกเขต รวมทั้งเป็นการบีบพรรคเล็กให้ต้องส่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเพื่อให้ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ส่วนที่มาของ ส.ว. 200 คน ที่ กรธ.กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เลือกไขว้กันจาก 20 กลุ่มอาชีพนั้น ฝ่ายการเมืองคัดค้านว่าจะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการ “ฮั้ว” กันระหว่างกลุ่ม เพื่อให้ได้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มเข้ามาเป็น ส.ว. และไม่เป็นการสะท้อนถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนในการเลือกตัวแทนมาทำหน้าที่ ส.ว.

ขณะที่กัลยาณมิตรของ กรธ. อย่าง “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” และ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)” ก็มีเสียงสะท้อนในประเด็นที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ทั้่งการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือก ส.ส. โดย “สนช.” มีข้อเสนอว่า ควรกลับมาใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบตามเดิม เพราะการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวจะไม่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนในการเลือก ส.ส. และเลือกพรรคที่ชอบ อีกทั้งจะทำให้พรรคการเมืองทุ่มในการซื้อเสียงเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.มากๆ ในการไปจัดตั้งเป็นรัฐบาล

นับจากนี้ไปหากมองจากเสียงคัดค้านที่หลายฝ่ายส่งมายัง “กรธ.” เพื่อปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ก่อนจะสรุปเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย (แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว) มอบให้กับรัฐบาลในวันที่ 29 มีนาคม เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการในขั้นตอนการจัดทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ในวันที่ 31 กรกฎาคม

ทุกเสียงคัดค้าน ทุกข้อเสนอ ล้วนเป็นประเด็นที่ท้าทายและวัดใจ ว่า “กรธ.” จะยอมถอยด้วยการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ “รับ” หรือ “ไม่รับ” เป็นตัวชี้วัดหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image