วาระแห่งชาติ ‘คนไทยต้องรักเพื่อน (ตาย) ให้มากขึ้น’ : โดย น.อ.(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์

ก่อนอื่น พวกเราที่อยู่ในแวดวงของคนไทยกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่อยากเห็น “คนไทยสุขภาพดี” ขอกราบขอบพระคุณที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ที่ท่านได้กรุณาเป็นผู้นำในการออกกำลังกายที่ทำเนียบรัฐบาล ทุกวันพุธ เวลา 15.00-16.30 น. โดยเริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 23 พ.ย. 2559 เป็นต้นมา พวกเราต้องขอจารึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยเลยทีเดียวในเรื่องการส่งเสริมให้คนไทยออกกำลังกายโดยผู้นำประเทศโดยกระทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นนายกฯของประเทศไทยท่านแรกที่ได้ทำกิจกรรมเช่นนี้ติดต่อกัน ทุกท่านคงได้เห็นผลที่ตามมาของการกระทำของท่านนายกฯว่ามีความเป็นรูปธรรมยิ่งใหญ่อย่างไร เท่าที่พวกเราติดตามข่าวไม่ว่าจะเป็น สนช. สปท. และข้าราชการในรัฐสภา รัฐมนตรีและข้าราชการในหลายกระทรวง ต่างตื่นตัวออกกำลังกายตามอย่างท่านนายกฯตู่กันมาตลอด แม้แต่ในการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติที่มี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน ยังมีการหยุดการประชุมชั่วคราวเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ยืนขึ้นและยืดเส้นยืดสาย เนื่องจากมีการประชุมที่ใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการออกกำลังกายเช่นกัน

การออกกำลังกายของนายกฯถือเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญยิ่ง

ในอดีตที่ผ่านมาถามว่า คนไทยทุกคนทราบหรือไม่ว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อร่างกาย คำตอบก็คือ “ทราบ” แต่ก็จะหาคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำไม่ถึง 25% สิ่งที่นายกฯได้พูดกับประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ของการออกกำลังกายและท่านได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยมีนโยบายสู่ทุกๆ ท่านในทำเนียบรัฐบาล สถานที่ท่านนั่งทำงานอยู่ว่า หากท่านใดที่ไม่มีภารกิจประจำอย่างเร่งด่วน ขอให้ลงมาออกกำลังกายพร้อมๆ กัน และจากการที่มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการออกกำลังกายให้มีความหลากหลายจากการเต้นแอโรบิก วอลเลย์บอล ฟุตบอล ปิงปอง โดยที่ทุกครั้งก่อนออกกำลังกายมีการวอร์มอัพอบอุ่นร่างกาย มีการยืดกล้ามเนื้อและเอ็น (Stretching) ประมาณ 15 นาที สิ่งที่ท่านนายกฯทำมาตลอดอย่างต่อเนื่อง และเป็นข่าวสารที่กระจายไปในหมู่คนไทยทั่วประเทศ ถือเป็นคุณูปการต่อสังคมไทยโดยส่วนรวม

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า หากมีคนไทยหันมาออกกำลังกายตามอย่างต่อเนื่องและจะต้องมีความรู้ด้วยว่า ควรทำอย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ ประชาชน
ชาวไทยจะมีอัตราการเจ็บป่วยน้อยลงมากทีเดียว เพราะคนที่ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ คนเหล่านี้ก็จะไม่เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เลย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว คนอาจมีการเป็นไข้หวัด ระบบทางเดินหายใจอักเสบปีละ 1-2 ครั้ง หรือคนที่มีโรคประจำตัวอยู่โดยต้องรับประทานยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น ท่านเหล่านี้ก็จะได้รับผลจากการออกกำลังกายโดยการที่สามารถปรับลดยาที่ต้องกินเป็นประจำลงได้อย่างแน่นอน จนกระทั่งบางท่านอาจสามารถลดยาตลอดไปได้ หากลงมือออกกำลังกายอย่างจริงจังตามที่แพทย์แนะนำ

Advertisement

ในที่สุดประเทศไทยก็จะมีประชากรที่มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น มีคนเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ลดน้อยลง งบประมาณที่ใช้ในการรักษาพยาบาลก็ลดน้อยลง ความคับคั่งของผู้ใช้บริการตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็ลดน้อยลงด้วย ภาระของคนรอบข้างที่เกิดขึ้นเวลามีผู้เจ็บป่วยอยู่ในบ้านหรือที่ต้องไป รพ.เป็นประจำก็จะลดน้อยลงไปด้วย ผลพวงเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความเป็นผู้นำของท่านนายกฯที่ท่านเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ แล้วท่านยังมีกลยุทธ์ในการทำให้กิจกรรมออกกำลังกายแผ่กระจายไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วด้วย การส่งเสริมการออกกำลังกายนี้เองต้องถือเป็น “วาระแห่งชาติ”

“การดูแลสุขภาพ” ควรเป็นหน้าที่ของประชาชนและกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ผู้เขียนและกรรมาธิการสาธารณสุขในสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติได้พยายามผลักดันการเพิ่ม “หน้าที่ในการดูแลสุขภาพ” ไว้ในหมวดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยของรัฐธรรมนูญที่มีการยกร่างในสมัยมีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพราะพวกเราเชื่อว่า หากกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนก็จะทำให้มีมาตรการต่างๆ ออกมาสนับสนุนให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ภาพรวมคือประชาชนแข็งแรงขึ้น ประหยัดงบประมาณการดูแลสุขภาพได้เป็นอย่างดี มีการผลักดันเรื่องนี้ถึง 2 ครั้งแต่ไม่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการยกร่างฯ โดยให้เหตุผลว่า การกำหนดหน้าที่ของประชาชนนั้น ควรต้องเป็นหน้าที่ของประชาชนต่อส่วนรวม เช่น การรับราชการทหาร การป้องกันประเทศ และอาจต้องกำหนดบทลงโทษด้วยหากไม่ปฏิบัติ

Advertisement

“ออกกำลังกาย” เป็นหนึ่งใน 8 อ.อ่าง ที่สำคัญในการมีสุขภาพดี

ผู้เขียนมีหัวข้อการปฏิบัติตัว เพื่อแสดงว่าท่านเป็นผู้ที่รักเพื่อน(ตาย)อย่างแท้จริงที่ท่านปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่ทราบ ผู้เขียนจะขอใส่หัวข้อไว้ให้ก่อนเพราะมีเนื้อที่จำกัด ดังนี้

– อ.ที่ 1 คือ อย่าอ้วน (อ้วนเป็นภาระของเพื่อนตายมากขึ้น)
– อ.ที่ 2 คือ อาหาร (ต้องรู้หลักการบริโภคอาหาร) (อาหารอะไร / เพียงใด ดีสำหรับเพื่อน
ตาย)
– อ.ที่ 3 คือ ออกกำลังกาย (ต้องทำสม่ำเสมอ) ดังที่กล่าวไว้แล้ว
– อ.ที่ 4 คือ สารอันตราย (ต้องไม่รับเข้าร่างกาย)
(สารอะไรไม่ดีสำหรับเพื่อนตาย)
– อ.ที่ 5 คือ ไม่อดนอน (พักผ่อนให้เพียงพอ) (ให้เพื่อนตายพักผ่อนให้เพียงพอ)
– อ.ที่ 6 คือ เช็กอัพ (รู้สภาพของเพื่อนตายด้วย
การเช็กอัพร่างกาย)
– อ.ที่ 7 คือ อารมณ์ (ต้องออกกำลังจิตให้สม่ำ
เสมอ) (ควบคุมให้ดี เพื่อนตายจะมีความสุขเสมอ)
– อ.ที่ 8 คือ อาวุธ (ต้องติดอาวุธให้ร่างกาย = การได้รับวัคซีนที่จำเป็น หรือการสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายนั่นเอง (อ.อิมมูไนเซชั่น = Immunization) (เพื่อนตายได้รับความคุ้มครอง)

ฝากประเด็น “สอนให้คนไทยรักเพื่อน (ตาย) ให้มากขึ้น” ไปยังท่านนายกฯ

ผู้เขียนขออุปมาอุปไมยดังนี้ครับ คนเราทุกคนต้องมีเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนกิน เพื่อน
เที่ยว เพื่อนตาย (สนิทมาก) แต่บางคนก็มีสัตว์เลี้ยง แมว สุนัข เป็นเพื่อน แต่สำหรับเพื่อน (ตาย) ในเรื่องการออกกำลังกายนั้น ผู้เขียนหมายถึงอวัยวะทุกส่วนของร่างกายเรา ที่จะอยู่กับเราจนวันตาย ได้แก่ ตับ ไต หัวใจ ปอด สมอง เป็นต้น หากเราดูแลเพื่อน (ตาย) เหล่านี้ไม่ดี เพื่อน(ตาย) เช่น ไต อาจจะตายไปก่อนเรา โดยไตวายต้องมาฟอกไตหรือต้องเปลี่ยนไตกันเลยทีเดียว

ทุกครั้งที่ท่านนายกฯออกกำลังกาย ท่านกำลังดูแลเพื่อน(ตาย)โดยเอาเลือดที่มีออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเพื่อน(ตาย)มากขึ้น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเพื่อน(ตาย)ทั่วร่างกายมีการยืดหยุ่น หลอดเลือดมีความแข็งแรงมากขึ้น ไม่มีตีบตัน ไม่มีไขมันส่วนเกินมาเกาะตามหลอดเลือด ทำให้เพื่อน(ตาย)แย่ลงตามวัยที่เสื่อมถอยลงไป หากไม่ได้ออกกำลังกาย

ผู้เขียนจึงขอเสนอให้สังคมรับทราบในเชิงหลักการว่า “ท่านนายกฯกำลังสอนให้คนไทยรักเพื่อน(ตาย)ให้มากขึ้น โดยการออกกำลังกาย” และหากเป็นไปได้คงต้องขอร้องให้ท่านนายกฯได้กล่าวถึงหลักการ (คอนเซ็ปต์) นี้ให้เป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพของประชาชนคนไทยต่อไปและตลอดไป

น.อ.(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์
อดีตกรรมาธิการปฏิรูปสาธารณสุข สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
โครงการ “อยากให้คนไทยสบายดี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image