ปั๊มลูกเพื่อชาติ คนไทยได้อะไร? นอกจากวิตามิน

หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดตัวโครงการ “มีลูกเพื่อชาติ” โดยรณรงค์มีลูกเมื่อพร้อม แม่ปลอดภัย และลูกสุขภาพที่ดี ป้องกันภาวะพิการแต่กำเนิดด้วยวิตามินแสนวิเศษ อย่าง “โฟเลต” และ “เหล็ก” ก็เกิดกระแสตอบกลับทันที

กระแสที่เกิดคำถามว่า การรณรงค์ให้ “ปั๊มลูก” จะสวนทางกับความเป็นจริงของสังคมหรือไม่ เพราะจากสถิติ ดูเหมือนการมีลูกจะลดน้อยลง เพราะครอบครัวส่วนใหญ่ไม่นิยมมีลูกด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งการนิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาที่สูงขึ้น นิยมการทำงานนอกบ้านมากขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตส่วนตัว ครอบครัวและการงานเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทำให้อัตราการเกิดน้อยลง

เห็นได้จากสถิติ ปี 2513 ครอบครัวหนึ่งมีลูกโดยเฉลี่ยมากถึง 6 คน แต่ปัจจุบันเหลือในอัตราส่วนเฉลี่ยเพียง 1.6 คน เท่านั้น ถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ ภายใน 10 ปี อัตราการเพิ่มของประชากรไทยอาจจะเป็นศูนย์ ด้วยเหตุนี้ กรมอนามัย สธ. จึงต้องจัดโครงการ “ปั๊มลูก” แต่ก็ไม่วายเกิดคำถามอีกว่า การออกมารณรงค์และสนับสนุนเพียง “วิตามินแสนวิเศษ” เพียงพอแล้วหรือ…

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560-2569 ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งในแผนจะมีการส่งเสริมการมีลูกเมื่อพร้อมด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่ให้แม่กินโฟเลตและเหล็กป้องกันภาวะทารกพิการแต่กำเนิดเท่านั้น แต่ยังมีแผนในการจัดบริการสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมอื่นๆ

Advertisement

เรียกว่านโยบายนี้เป็นความร่วมมือของหลายกระทรวง ทั้ง สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน เป็นต้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานในสังกัดดำเนินการเพื่อเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 โดยคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธาน ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ มีอธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน ไปศึกษามาตรการที่จะช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนแม่ตั้งครรภ์ให้มีท้องและมีลูกอย่างมีคุณภาพ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการระดับชาติในเดือนเมษายน 2560

นพ.วชิระกล่าวว่า ได้แต่งตั้งคณะทำงานวิชาการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมี ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานคณะทำงาน ทำการรวบรวมว่า มีมาตรการใดที่เหมาะสมในการนำมาใช้ โดยยึดหลัก 3 ข้อ คือ

1.มาตรการนั้นจะต้องให้คุณค่าของการตั้งครรภ์ จากเดิมการตั้งครรภ์จะเป็นไปตามธรรมชาติการมีคู่ระหว่างคู่สมรส และญาติ แต่จากนี้จะต้องทำให้เกิดคุณค่าในระดับชาติว่า ผู้ตั้งครรภ์ช่วยลดภาวการณ์เกิดน้อย เป็นต้น

Advertisement

2.ต้องเป็นมาตรการลดความกังวลใจของคู่สมรส อาทิ เมื่อมีลูกใครจะเลี้ยง จะมีการอำนวยความสะดวกอย่างไร ยกตัวอย่าง การลางาน ปัจจุบันลางาน 3 เดือน ได้รับเงินเดือน แต่ถ้าหน่วยงานรัฐลาได้เพิ่มอีก 150 วัน ไม่ได้รับเงินเดือน สามีได้ลาเพื่อช่วยเลี้ยงลูกอีก 15 วัน โดยไปพิจารณาว่าจะมีมาตรการเสริมอย่างไรบ้าง

3.มาตรการต้องลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการจัดบริการด้านสาธารณสุข โดยเริ่มตั้งแต่การดูแลก่อนการตั้งครรภ์ด้วยวิตามิน การดูแลระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด ซึ่งปัจจุบันทุกสิทธิคลอดฟรี แต่ต้องพัฒนาการบริการการคลอดอย่างมีคุณภาพด้วย ขณะเดียวกัน เมื่อคลอดแล้วต้องมีศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อน โดยเฉพาะลูกช่วง 1 ขวบแรก ต้องมีที่ฝากเลี้ยง ซึ่งปัจจุบันแม้มีในหลายชุมชน แต่ต้องมีการพัฒนามากขึ้น

“หลายอย่างมีการดำเนินการมาแล้ว อย่างเรื่องลดค่าใช้จ่าย รัฐได้ส่งเสริมการศึกษาฟรี 15 ปี เรื่อง Baby Bonus หรือเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาทต่อเดือน จ่ายตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี เริ่มไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ส่วนที่บางส่วนเสนอว่าควรเพิ่มเงินอุดหนุน ก็ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญการส่งเสริมให้มีลูกเมื่อพร้อม และคลอดลูกอย่างมีคุณภาพ จะต้องไม่ใช้มาตรการล่อใจ แต่ต้องเป็นความสมัครใจ โดยรัฐจะออกมาตรการเสริมต่างๆ มาเพื่อสนับสนุน แน่นอนว่า จะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมา เห็นชัดสุดคือ การบริการสาธารณสุข ซึ่งในอนาคตจะมีการส่งเสริมกรณีคู่สมรสที่อยากมีลูก แต่มียาก จะมีการผสมเทียมในทุกสิทธิสุขภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา” นพ.วชิระกล่าว

สำหรับคำถามว่าในต่างประเทศทำไมจึงมีสิทธิสวัสดิการสังคม มีการอุดหนุนแก่แม่ที่คลอดบุตรจำนวนมาก เช่น สิงคโปร์ ให้เงินแม่ที่คลอดลูกคนแรกหรือคนที่ 2 ถึง 1 แสนบาท ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 แต่พบว่าอัตราเจริญพันธุ์รวมไม่เพิ่มขึ้น กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัดจาก 1.41 ในปี 2544 เป็น 0.80 ในปี 2557

ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรป มีนโยบายเพื่อสังคมแก่แม่ที่คลอดบุตรจำนวนมาก เช่น สวีเดน ทั้งพ่อและแม่สามารถลาคลอด และลาเพื่อดูแลบุตรรวมกันได้ถึง 480 วัน โดยสามารถเก็บใช้วันลาได้จนกระทั่งลูกอายุ 8 ปี และทั้งพ่อและแม่ยังมีสิทธิได้รับเงินเดือนร้อยละ 80 ของเงินเดือนตามปกติ ซึ่งภายหลังจากนโยบายนี้พบว่าอัตราการเจริญพันธุ์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 1.88 ในปี 2557 ส่วนนอร์เวย์ ทั้งพ่อและแม่สามารถร่วมกันลาคลอดและลาเพื่อดูแลบุตรรวมกันได้ถึง 46 สัปดาห์ โดยได้รับเงินเดือนเต็ม หรือ 56 สัปดาห์ โดยได้รับเงินเดือนร้อยละ 80 ของเงินเดือนปกติ ซึ่งภายหลังจากนโยบายนี้พบว่าอัตราการเจริญพันธุ์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 1.86 ในปี 2557

เห็นได้ว่า การส่งเสริมภาระการเลี้ยงลูกเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพ่อแม่ ทั้งฝ่ายชายและหญิงมีโอกาสใช้สิทธิลาคลอดเพื่อเลี้ยงลูกเท่าเทียมกัน ขณะที่นโยบายเงินอุดหนุนไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะอย่างสิงคโปร์ คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าต้องการทำงาน มีความรับผิดชอบหน้าที่การงานอยู่ สำหรับประเทศไทยจึงต้องพิจารณาว่าอะไรจะเหมาะสมกับบริบทของคนไทยมากที่สุด

อย่าลืมว่า ประเทศไทยงบประมาณไม่ได้มากมาย ดังนั้น การเพิ่มมาตรการสวัสดิการทางสังคมให้โดนใจ

น่าจะเป็นอีกทางออกที่น่าติดตาม

IMG_7345

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image