ผลจาก ‘เศรษฐกิจ’ สะเทือน กระทบ การเมือง และ ‘ประชามติ’

 

เพียง 2 สัปดาห์ หลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำเอา “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับแรก หรือฉบับเบื้องต้นเสนอต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 29 มกราคม

ลางแห่ง “โกลาหล” ก็เริ่ม “ปรากฏ”

ประเด็นสำคัญไม่เพียงเพราะ 1 ตัว “ร่าง” รัฐธรรมนูญได้กลายเป็นปัจจัย ได้กลายเป็น “ประเด็น” อันนำไปสู่ความขัดแย้งในทางความคิดและในทางการเมือง ด้วยความร้อนแรงและทวีความแหลมคมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

Advertisement

หาก 1 ตัว “ร่าง” รัฐธรรมนูญได้กลายเป็นเสมือนกับ “สายล่อฟ้า” อันส่งผลสะเทือนเป็นอย่างสูงในทางความคิดและในทางการเมือง

เพราะตัว “เนื้อหา” อันดำรงอยู่ในตัว “ร่าง” ได้ตอกย้ำในลักษณะ “ผลิตซ้ำ”

เป็นการผลิตซ้ำบนพื้นฐานที่ต้องการปิดจุดอ่อนหรือที่เรียกว่า “เสียของ” อันเนื่องแต่ความล้มเหลวของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เท่ากับพิสูจน์ทราบในความต่อเนื่องและยึดโยงจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายในการกำจัดและขจัดปรปักษ์ในทางการเมืองจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มายังพรรคเพื่อไทย

โดยดำรงจุดมุ่งหมายในการ “สืบทอด” และต่อท่อแห่ง “อำนาจ”

 

ร่าง “รัฐธรรมนูญ”

ตัดรอน “แนวร่วม”

ปัจจัยอะไรทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะมาจากบุคคลอย่าง นายแก้วสรร อติโพธิ ไม่ว่าจะมาจากบุคคลอย่าง นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ไม่ว่าจะมาจากบุคคลอย่าง น.ส.รสนา โตสิตระกูล

เหมือนกับบุคคลเหล่านี้แสดงออกอย่าง “ปัจเจก”

แต่หากศึกษาอย่างรอบด้านก็ต้องยอมรับว่า บุคคลเหล่านี้เคลื่อนไหวในลักษณะอันเป็น “ตัวแทน” ทั้งในทางความคิด ในทางการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการจัดตั้ง

พวกเขาล้วนเป็น “พันธมิตร” พวกเขาล้วนเป็น “แนวร่วม”

พวกเขามีบทบาทอย่างสูงในการวิพากษ์โจมตีสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

กระทั่ง นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

กระทั่ง นายแก้วสรร อติโพธิ มีบทบาทเป็นอย่างสูงใน “คตส.” ตรวจสอบและจับการทุจริตของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

กระทั่ง น.ส.รสนา โตสิตระกูล เป็น สนช. และ สปช.

แต่แล้วบุคคลเหล่านี้ก็เป็นกองหน้าในการตั้งข้อกังขาต่อ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ตั้งแต่ประเด็นว่าด้วยสิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง เรื่อยมาจนถึงที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มาของ ส.ว. และรวมถึงการยกบทบาทขององค์กรอิสระโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นอำนาจที่ 4

นอกเหนือจาก อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ

ความหมายอันลึกซึ้งอย่างยิ่งก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อาจยังสนใจต่อพันธมิตรในแนวร่วม โดยการชูบทบาทของ “พลเมือง” และองค์กรอันเป็นตัวแทนแห่งพลเมือง แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

เท่ากับเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล ไม่สนใจบทบาทของพันธมิตร ไม่สนใจบทบาทของแนวร่วม

 

แผนสำรอง เร้นลับ

แผนสำรอง “คสช.”

ทั้งๆ ที่บุคคลระดับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างออกมาเน้นย้ำ ยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามติอย่างแน่นอน

เป็นความมั่นใจจากบทบาทและการเคลื่อนไหวผ่าน “กองทัพ”

ไม่ว่าจะเป็นการแสดงบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ไม่ว่าการแสดงบทบาทโดยประสานกับกำลังอันมาจากหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.)

กระนั้น ความน่าสงสัยอยู่ตรงที่ “แผนสำรอง”

เป็นแผนสำรองที่ปรากฏเป็นข่าวระลอกแล้วระลอกเล่าตรงกันว่า ทาง คสช. ได้ตระเตรียมเอาไว้แล้วว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับพิเศษจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อรับภารกิจในการเลือกตั้งที่จะต้องมีขึ้นในกลางปี 2560 ให้จงได้

เหมือนกับเป็น “ประตู” เป็นช่องทางในการลงจาก “หลังเสือ” ของ คสช.

1 เพื่อทำให้โรดแม็ปที่ประกาศในนิวยอร์กว่าจะต้องมีการเลือกตั้งภายในหรือไม่เกินเดือนกรกฎาคม 2560 จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน 1 แผนสำรองนี้ก็ก่อให้เกิดภาวะ “หวั่นไหว” ในทางความคิดและในทางการเมือง

นั่นก็คือ นำไปสู่ความไม่แน่นอน ไม่เพียงแต่ต่อชะตากรรมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เท่านั้น หากแต่ยังเป็นต่อชะตากรรมของการลงประชามติว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ในทางเป็นจริงหรือไม่ เพียงใด

เพราะว่าการเข้าสู่กระบวนการแห่ง “ประชามติ” จะทำให้สถานะและความล่อแหลมเกิดขึ้นกับ คสช. และรัฐบาลเป็นอย่างสูง

มิใช่ปัจจัยทาง “การเมือง” อย่างเดียว หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือปัจจัยทาง “เศรษฐกิจ”

 

ภาวะทางเศรษฐกิจ

รั้งดึงทางการเมือง

การนำเอา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาแทน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ของ คสช. และรัฐบาลนั้น มีความมุ่งหวังอย่างน้อย 2 ประการ

1 เพื่อแก้ไขจุดอ่อนและความล้มเหลวอันเนื่องแต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

1 เพื่ออาศัยจุดแข็งที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สะสมบทเรียนและความสำเร็จจากการที่เคยร่วมอยู่ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

จึงได้มีการนำเอา “ความสำเร็จ” เหล่านั้นมา “ต่อยอด”

แต่แล้วไม่ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ก็ไม่สามารถพลิกฟื้นหรือเบิกสถานการณ์ใหม่ในทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ความหวังที่จะชูธงเศรษฐกิจนำการเมือง เสมือนกับเป็นผลงานและความสำเร็จของ คสช. และของรัฐบาลก็ริบหรี่

ยิ่งกว่านั้น ยังก่อให้เกิดความสิ้นหวังต่ออาการล้มลุกคลุกคลานในทางการเมือง

จึงแทนที่การเข้าสู่กระบวนการ “ประชามติ” จะเหมือนกับกระดานหกให้กับ คสช. ให้กับรัฐบาล กลับจะกลายเป็นปัจจัยฉุดและรั้งดึง

รั้งดึงให้ คสช. และรัฐบาล กลับกลายเป็น “จำเลย” ในทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image