จากเด็กม้งสู่บัลลังก์”ท่านเปา” “วิริยะบัณฑิต คีรีธะกุล”

“ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร” เปรียบได้กับชีวิตของใครหลายคน จากวัยเยาว์สู่วัยทำงาน เกิดอุบัติเหตุ พลิกผัน หักเห ทุกข์ สุข เศร้าระคนกันไป เช่นเดียวกับช่วงชีวิตของ “เคียว” เด็กชายชาวเขาเผ่าม้ง ที่ปัจจุบันนั่งบัลลังก์ในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำศาลแพ่ง

ต้น3

วิริยะบัณฑิต คีรีธะกุล เป็นชื่อจริงของ “ท่านเคียว” ท่านเปาคนหนุ่มไฟแรงอายุ 32 ปี วารสารศาลยุติธรรม บันทึกเส้นทางชีวิตของ “ท่านเคียว” ไว้อย่างน่าสนใจ ประวัติส่วนตัว เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2528 ตรงกับวันวาเลนไทน์ เป็นชาวเขาเผ่าม้ง มีถิ่นพักอาศัยอยู่ที่บ้านมณีพฤกษ์ ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน หมู่บ้านดังกล่าวอยู่ห่างจากตัวจังหวัด 100 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอถึง 80 กิโลเมตร และการเดินทางเป็นพื้นที่ขึ้นเขาระยะทาง 40 กิโลเมตร

ต้น2

Advertisement

ชีวิตการศึกษาของ ด.ช.เคียว วันแรกที่ก้าวเข้ารั้วโรงเรียน เด็กชายตัวน้อยยังใส่ชุดม้งไปเรียนเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ไม่มีแม้แต่รองเท้าที่จะสวมใส่

ต้น4

ที่โรงเรียนมีคุณครูแค่คนเดียว ไม่มีไฟฟ้าใช้จะอ่านหนังสือแต่ละทีต้องจุดตะเกียงให้แสงสว่าง ครั้งนั้นในหมู่บ้านมีโทรทัศน์ที่ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์แค่เครื่องเดียวอยู่ที่บ้านพักครู ทุกๆ คนจะรวมไปดูที่นั่นกัน และที่นั่นเอง ด.ช.เคียวมีโอกาสดูละครจีนเรื่องเปาบุ้นจิ้น และนับเป็นครั้งแรกที่ ด.ช.เคียวได้เห็นการพิจารณาและตัดสินคดี ตอนนั้น ด.ช.เคียวชื่นชอบองครักษ์จั่นเจา แมวหลวง มีวรยุทธ์สามารถเหาะเหินได้

Advertisement

ด.ช.เคียวเป็นลูกคนที่ 4 จากพี่น้อง 5 คน สมัยเด็กช่วยครอบครัวทำงานมาตลอด แม่ของเขาทำไร่ทำสวน จึงต้องช่วยแม่ทำไร่ทำสวนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดากลับมาอยู่กับยายเนื่องจากต้องเรียนหนังสือ หากช่วงไหนมีพ่อค้ามาซื้อกะหล่ำปลีในหมู่บ้าน ด.ช.ตัวน้อยจะไปรับจ้างแบกกะหล่ำปลีหาเงินซื้อขนมกิน โดยวิถีเด็กม้งละแวกนั้นจะมีวัยเด็กคล้ายๆ กัน

ต่อมา ด.ช.เคียวได้รับโอกาสจากพระธรรมจาริกรูปหนึ่งเดินทางมาที่หมู่บ้าน บอกว่ามีโรงเรียนวัดที่ จ.ปทุมธานี สามารถส่งบุตรหลานเรียนฟรีได้ และขณะนั้นแม่ของเขามีภาระต้องส่งพี่ชายเรียน จึงได้ตัดสินใจส่ง ด.ช.เคียวเดินทางมากับพระอาจารย์ ด้วยเหตุนี้เขาจึงจำใจจากพ่อแม่เข้าศึกษาหาความรู้พร้อมกับเพื่อนในหมู่บ้านอีก 14 คน ไปบวชเรียนด้วยกัน ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วัดสว่างภาพ จ.ปทุมธานี ในระดับมัธยมต้น ก่อนมาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วัดปรางค์ จ.น่าน โดยระหว่างที่บวชเรียนตลอด 6 ปี ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาจะฟรีทั้งหมด ไม่ต้องรบกวนเงินทางบ้าน

เมื่อจบมัธยมศึกษาตอนปลาย “เคียว” ทราบว่า มีรุ่นพี่ในหมู่บ้านมาเรียนมหาวิทยาลัยรามคําแหง ที่กรุงเทพฯ จึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯพร้อมเพื่อนอีก 1 คน โดยขอเงินจากแม่ 2,000 บาท เป็นทุนหางานทำ เพื่อต่อยอดหาเงินค่าลงทะเบียนเรียนและค่าชุดนักศึกษา

ชีวิตของ “เคียว” ในวัยหนุ่ม ต้องทำงานหาเงินศึกษาเล่าเรียนเองมาตลอด งานแรกสมัครเป็น รปภ. ต้องเสียค่าสมัคร 500 บาท แต่พอลงพื้นที่งาน ตำแหน่งกลับไม่ว่าง เลยไม่ได้ทำงาน แถมเงินที่เสียไปก็ไม่ได้คืน สุดท้ายจึงมาเป็นเด็กรับใช้ทั่วไปในออฟฟิศได้เงินเดือน เดือนละ 1,800 บาท และค่ากับข้าววันละ 50 บาท แต่ข้อดีคือสามารถพักอาศัยในสำนักงานได้

อย่างไรก็ดี แม้ “เคียว” จะได้งานทำแล้ว แต่เขายังต้องหนักใจกับค่าหน่วยกิตในการลงทะเบียนเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะเงินที่แม่ให้ติดตัวมาหมดลง เป็นอีกครั้งที่ “เคียว” ต้องรบกวนเงินแม่ นำมารวมกับเงินเดือนมาลงทะเบียน คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ และระหว่างเรียนเพื่อนที่มาด้วยกันเดินทางกลับบ้านไปแต่งงาน ทำให้ “เคียว” ต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพฯเพียงลำพัง

ชีวิตตามลำพังในเมืองหลวงของ “เคียว” ค่อนข้างลำบาก เขาทำงานที่เดิมเก็บเงินได้ 2 เดือนก็ได้งานใหม่ เป็นพนักงานโรงแรมอบเซาน่า แม้เงินดีขึ้นกว่าเดิม แต่ช่วงเวลาในการทำงานตั้งแต่เวลา 15.00-04.00 น. วันรุ่งขึ้น จัดว่าหนักหนาสาหัสทีเดียว และยังเป็นอุปสรรคต่อการเรียน ทำให้บริหารจัดการเวลาไม่ได้ เหนื่อยจากการทำงานและไปเรียนไม่ไหว พอเทอม 2 จึงตัดสินใจเปลี่ยนงานอีกครั้ง ได้งานเป็นพนักงานเสิร์ฟในห้างแห่งหนึ่ง รับจ้างเป็นรายชั่วโมง ทำให้สามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้น ประกอบกับกู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นเงินสำรอง โดย “เคียว” พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุด จะใช้เฉพาะยามจำเป็น เนื่องจากทราบดีว่าไม่ใช่เงินที่ให้ฟรี

และแม้ว่างานจะหนักสักแค่ไหน ด้วยความมานะ “เคียว” ก็สามารถเรียนจบปริญญาตรีใบแรก ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีครึ่ง พ่วงด้วยดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 2 จากนั้นเขาทำงานเป็นฝ่ายสินไหมบริษัทตัวแทนสายเดินเรือแห่งหนึ่ง มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่สินค้าสูญหายหรือเสียหาย และมีบางกรณีที่เป็นคดีความขึ้นสู่ศาล “เคียว” จะต้องตรวจสำนวนก่อนเสนอผู้บริหาร โดยที่เขาไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายเลย ทำให้ต้องอ่านสำนวนอย่างละเอียดหลายรอบ จุดนี้เองทำให้เขาได้สัมผัสบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีของศาล และรู้สึกน่าเลื่อมใส จึงขวนขวายเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นปริญญาตรีใบที่ 2 โดยการโอนหน่วยกิตพื้นฐานทำให้ประหยัดเวลาเรียนได้ 1 ปี

“เคียว” ยังคงเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เขาหาซื้อหนังสือมาอ่านเองหลังเลิกงานวันเสาร์-อาทิตย์ โดยไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย ใช้เวลาเรียน 2 ปีจึงสำเร็จการศึกษา ด้วยความตั้งใจศึกษา ไม่เที่ยวเตร่ หลีกเลี่ยงอบายมุข โดยใช้หลักธรรมตามชื่อจริงคือ “วิริยะ”

ก่อนมาศึกษาต่อวิชากฎหมาย ที่เนติบัณฑิตยสภา การสอบจะไม่เหมือนตอนเรียนมหาวิทยาลัย อีกทั้งทำงานไม่มีเวลา ทำให้ “เคียว” ใช้เวลา 1 ปีครึ่งในการเรียน ก่อนจะมาสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ในครั้งแรกเขาสอบไม่ผ่าน แต่ไม่นานเขาก็ก้าวข้ามความท้อแท้ไปได้สำเร็จ เมื่อสอบติดผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 66

ชีวิตของ ด.ช.เคียว จนถึง ท่านเคียว จัดเป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิต ด้วยคติด้านความเพียร

และหลังจากที่ “ท่านเคียว” ได้เป็นผู้พิพากษา เขายึดมั่นว่า ศาลยุติธรรมคือที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน เป็นผู้ให้ความเป็นธรรม รักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ยุติความขัดแย้งทั้งปวง เป็นสถาบันหลักในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาสังคม เป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส พร้อมตั้งปณิธานจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ เป็นบรรพตุลาการผู้ประเสริฐและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image