ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน : ทาวน์เฮาส์ต่ำ1.5ล้าน กำลังจะสูญพันธุ์

ไม่ได้ต้องการสร้างกระแส แต่วงการอสังหาฯ เขาฟันธงมาอย่างนี้ค่ะ

สัปดาห์กลางเดือนมีนาคม ระหว่างวันที่ 9-12 มีนาคมนี้ จะมีอีเวนต์ใหญ่ของวงการอสังหาริมทรัพย์บ้านเรา นั่นคืองานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ เจ้าภาพร่วมมือกัน 3 สมาคมในวงการพัฒนาที่ดิน ประกอบด้วยสมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

งวดนี้เขาจัดเป็นครั้งที่ 36 แล้ว ช่วงเวลากำลังเหมาะเหม็งเพราะไตรมาส 4/59 ทุกอย่างอั้นกันหมด ทั้งการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ มู้ดผู้บริโภคก็ไม่เป็นใจ สถาบันการเงินก็ปล่อยสินเชื่ออย่างหง็อยๆ ตอนนี้เป็นเวลาชดเชยบรรยากาศที่เศรษฐกิจชะลอตัวให้กลับมามีชีวิตชีวากันเสียที

ไหนๆ ก็จะช่วยเขาขายของแล้ว ?เสี่ยวิชัย พูลวรลักษณ์? ประธานจัดงานฝากกระซิบกระซาบมาว่าเป็นโอกาสซื้อบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียมต้นทุนเดิม ราคาเดิมนะจ๊ะ ยอดขายในงานเบาะๆ ขอเท่าการจัดงานครั้งที่แล้วไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท หลังจบงานอาจมีการติดต่อประสานงาน ตามตื๊อตามดูแลจนกว่าจะมีการซื้อและโอนอีกประมาณ 6,000-10,000 ล้านบาท

Advertisement

เห็นบอกว่าจัดงานมหกรรมบ้านฯทีไรอารมณ์ผู้ซื้อจะออกมาทำนองนี้ทุกที ถ้ามองในมุมผู้บริโภคอาจหมายถึงโครงการที่อยู่อาศัยยูนิตเดียวกันอาจมีคนแย่งซื้อก็เป็นได้

เวลาฟังผู้ประกอบการพูดให้ฟังอาจเคลิ้มได้ เช่น บอกว่าปีนี้จะเป็นปีที่สิ้นสุดยุคดอกเบี้ยถูก หรือยุคดอกเบี้ยขาลงอีกแล้ว บางคนก็ประเมินว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยภายในกลางปี หรือบางคนบอกว่าอาจขึ้นดอกเบี้ยปีหน้าโน้น ในขณะเดียวกัน ราคาวัสดุก่อสร้างปีนี้ยังนิ่งมาก แปลว่าต้นทุนสร้างบ้านสร้างคอนโดฯขายยังเป็นต้นทุนเดิม ใครซื้อที่อยู่อาศัยตอนนี้จึงเท่ากับซื้อของที่ยังไม่ขึ้นราคานั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ยังมีต้นทุนที่น่าสะดุ้งตกใจคือราคาที่ดินแพง แพ้ง แพง ฟังจากปากของนายกกิตติมศักดิ์สมาคมบ้านจัดสรร ?พี่อ๋อย-อิสระ บุญยัง? วิเคราะห์แบบชวนกันคิดว่า โครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างทั้งหลาย เป็นทั้งขั้วบวกและขั้วลบ ขั้วบวกก็คือเปิดหน้าดินให้กับทำเลที่มีเส้นทางพาดผ่าน คนได้อยู่แถวนั้นก็เดินทางสะดวก

Advertisement

แต่ขั้วลบก็มาจากความนิยมซื้อโครงการจัดสรรแนวรถไฟฟ้านั่นแหละ เพราะคนนิยมมากๆ เข้า ราคาที่ดินก็ปรับขึ้นรายวัน ขึ้นแบบไม่เกรงอกเกรงใจใคร ประเด็นคือราคาที่ดินแพงไม่ได้หยุดแค่แนวรถไฟฟ้า แต่เลื้อยเข้าไปอยู่ตามตรอกซอกซอยด้วย

ลองคิดภาพตามไปช้าๆ นะคะ ตอนนี้ราคาที่ดินที่ละเลงกันสนุกสนานตารางวาละ 1.5-2 ล้านบาท ขีดเส้นอยู่ในโซนเพลินจิต ชิดลม ถนนวิทยุ หลังสวน หรือในโซนใจกลางมหานครกรุงเทพ แต่ไหงกลายเป็นว่าทำเลรอบนอกโดนผลกระทบกับเขาไปด้วยก็ไม่รู้

ข้อมูลที่เป็นตัวชี้วัดคือ สมาคมบ้านจัดสรรทั่น

บอกว่า ทุกครั้งที่จัดงานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ

ผู้ประกอบการจะมีการสำรวจระดับราคาที่คนซื้อหามากที่สุด (ซื้อในโครงการจัดสรร) ในเชิงสถิติของปี 2558-2559 เขาไปเจอตัวเลขน่าสนใจ ดังนี้

ราคาคอนโดมิเนียมยังคงเดิม กลุ่มราคาที่มีการซื้อมากที่สุดอยู่ที่ 2 ล้านบาทเท่าเดิม

บ้านเดี่ยว ทั่นบอกว่ามีหลายราคา ถ้าอยู่ปลายทางสถานีรถไฟฟ้าและมุดเข้าไปอยู่ในซอย อาจเห็นราคา 3 ล้านได้อยู่ แต่ถ้าขยับเข้ามาใกล้สถานีมากขึ้นราคาตั้งจะเหวี่ยงไปอยู่ที่ 5 ล้านขึ้นไป ในขณะที่ราคานิยมซื้อปี 2558 เฉลี่ยหลังละ 4.6 ล้านบาท พอเข้าปี 2559 ราคาซื้อเยอะสุดขยับไปอยู่ที่หลังละ 5.3 ล้านบาท

แล้วทาวน์เฮาส์ล่ะ ปรากฏว่า หลายปีมานี้เขาไปเจอตัวเลขการเปิดตัวโครงการใหม่จิ๊บๆ มาก แค่ปีละ 27-28% เท่านั้น แต่การโอนกรรมสิทธิ์ในแง่จำนวนหน่วยจะมีมากกว่าบ้านเดี่ยวเยอะ เหตุผลเพราะมีการนับรวมอาคารพาณิชย์ กับทาวน์เฮาส์มือสองเข้าไปด้วยนั่นเอง

จุดโฟกัสไม่ได้อยู่ตรงนั้นค่ะ เรามาดูกลุ่มราคาที่มีการซื้อมากที่สุด โดย 2 ใน 3 ของการซื้อขายในปี 2558 ตกหลังละ 1.5 ล้านบาท และปี 2559 ทาวน์เฮาส์แพงขึ้นเป็นการซื้อหลังละ 1.8 ล้านบาท

ผู้ประกอบการฟันธงมาด้วยว่า สถานการณ์เกิดขึ้นจริงที่มีการสร้างคอนโดฯ ตลาดล่าง หรือราคาต่ำล้าน อาจจะห้องละ 6-7 แสนในโซนทุ่งรังสิตนั้น เป็นการส่งสัญญาณว่าคอนโดฯ ชานเมืองจะเป็นสินค้าที่มาทดแทนทาวน์เฮาส์ชานเมืองอย่างถาวร

ฟังต่อไปยิ่งปวดใจ เพราะทำนายล่วงหน้าว่า ภายในอีก 2 ปีนับจากนี้ ทาวน์เฮาส์ราคาต่ำกว่าหลังละ 1.5 ล้านบาทไม่มีให้เห็นในตลาดอีกต่อไปแล้ว พฤติกรรม

ผู้บริโภคในการซื้อบ้านเปลี่ยนเร็วมาก ครอบครัวเริ่มต้นต้องซื้อคอนโดฯ อย่างเดียว และทำเลอยู่ย่านชานเมืองอีกต่างหาก

สำหรับคนที่กำลังมองหาทาวน์เฮาส์สักหลัง

ขอแนะนำให้ชั่งน้ำหนักก่อนตัดสินใจซื้อเพราะข้อมูลแบบนี้เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส ขออวยพรให้เทพเจ้าแห่งความโชคดีจงอยู่กับผู้บริโภคทุกคน โอมเพี้ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image