นายกสมาคมนักเขียน ‘กนกวลี พจนปกรณ์’ ยุคแห่งความวังเวงใจของนักเขียน

กว่า 40 ปี บนเส้นทางวรรณกรรม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาจังหวะยืนระยะให้ได้ยาว

ชื่อของเธอเป็นที่คุ้นเคยอย่างดีในแวดวงนักเขียน และในวันนี้เธอเข้ามารับหน้าที่หลักในสมาคมนักเขียน ในวันที่สถานการณ์วงการหนังสือไม่ราบรื่นนัก ทั้งจากเศรษฐกิจและพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป

กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนล่าสุด

จบปริญญาตรีจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เติบโตมากับกองหนังสือของคุณพ่อที่รักการอ่าน

Advertisement

นับแต่ปี 2523 หญิงสาวจากจังหวัดน่านเริ่มสร้างผลงานวรรณกรรมอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากเรื่องสั้นและนวนิยาย โดยมีผลงานนิยายลงตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารหลายเล่มแทบไม่ว่างเว้น

จนถึงปัจจุบัน นับผลงานรวมเล่มได้ราว 70-80 เรื่อง ในจำนวนนี้มีผลงานที่นำไปดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์หลายเรื่อง อาทิ กาษานาคา อภิมหึมามหาเศรษฐี ตกกระไดหัวใจพลอยโจน ไฟต่างสี ซอย 3 สยามสแควร์ เมฆสีเงิน พ่อตัวจริงของแท้ คนละวัยหัวใจเดียวกัน ผ้าขี้ริ้วห่อดิน ดอกฟ้ากับเทวดาเดินดิน

“ไม่ได้กำหนดว่าปีนี้ต้องได้กี่เรื่อง แต่มันเป็นอาชีพ เขียนเรื่องยาวไม่ได้เขียนทีเดียวจบ แต่ทยอยส่งเป็นตอน สมัยอายุน้อยๆ เคยเขียนถึงสัปดาห์ละ 4-5 เรื่องพร้อมกัน แต่ไม่งง เพราะเราวางพล็อตไว้ก่อน ตอนหลังเขียนงานมากขึ้นก็ยากขึ้นเรื่อยๆ จะทำยังไงไม่ให้ซ้ำกับของเดิม ต้องหากลวิธีใหม่ในการทำงาน”

Advertisement

ผลงานปัจจุบันคือนิยายเรื่อง “สวนสีขาว” ตีพิมพ์ลงในนิตยสารขวัญเรือน หลังจากนิตยสารที่เคยเขียนลงประจำอย่างหญิงไทยและสกุลไทย ต้องปิดตัวลง

ต้องยอมรับว่าเป็นงานยากกับสถานการณ์วงการหนังสือที่เผชิญขณะนี้ กนกวลีเองก็ยอมรับว่าตัวเธอก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย จนถึงการพูดคุยกับเพื่อนนักเขียนร่วมวงการที่รู้สึก “วังเวง” ไม่ต่างกัน เมื่อยังไม่เห็นทางออกที่ชัดเจน

kanokwalee

– เป็นคนมีผลงานต่อเนื่องสม่ำเสมอ ต้องอาศัยวินัยในการทำงานอย่างไร?

ตัวเองก็มีวินัยพอสมควร ที่ผ่านมาใช้วิธีทำงานเหมือนคนเข้าออฟฟิศทั่วไป สมัยลูกเล็กมากๆ ก็ต้องทำงานตอนกลางคืน กลางวันเลี้ยงลูก ไม่ไหวก็ต้องไหว บางทีเขามาเล่นอยู่ที่ขาโต๊ะ ซนเราก็จับมานั่งตัก สมัยนั้นใช้พิมพ์ดีดแบบเคาะ เด็กก็สนุกได้เคาะแป้น เวลาเล่นก็เอากระดาษให้แผ่นหนึ่ง เขายังเขียนไม่เป็น แต่เห็นต้นฉบับแม่ก็จะเขียนยึกยือเรียงเป็นแถวเหมือนต้นฉบับเรา นึกแล้วยังขำเลย พอลูกไปโรงเรียนเราก็เริ่มทำงานจนถึงเย็น ลูกกลับมาก็เหมือนออฟฟิศปิด ทำงานทั้งวัน

– คิดว่าเรื่องไหนเป็นมาสเตอร์พีซของตัวเอง?

ตั้งใจจะให้มี แต่ยังตอบไม่ได้ เพราะงานของเรายังไม่จบ แต่ถึงวันนี้งานชิ้นที่มีความสุขกับมันมากๆ น่าจะเป็นเรื่อง “ยิ่งฟ้ามหานที” เป็นงานที่เราเขียนสะท้อนอารมณ์ของแม่กับลูกและเป็นเรื่องใกล้ตัว เขียนช่วงที่คุณแม่เสียชีวิตไปได้พักใหญ่ เราได้ดูแลพยาบาลช่วงคุณแม่ไม่สบาย เหมือนเหตุการณ์ผ่านไปสดๆ ร้อนๆ

จริงๆ แรงบันดาลใจเกิดจากที่ไปห้างแล้วเห็นแม่ลูกคู่หนึ่ง แม่เป็นอัมพฤกษ์นั่งรถเข็น ลูกสาวมาบอกว่าฝากคุณแม่หน่อยจะไปซื้อข้าวต้ม คนเป็นอัมพฤกษ์กล้ามเนื้อทำงานได้ไม่เต็มที่ หน้าเขาจะไม่ยิ้ม เวลาพูดขยับได้นิดหน่อย เราชวนเขาคุยว่า “คุณแม่ดีจังเลยมีลูกสาวคอยดูแล” เขายิ้ม แต่ไม่ได้ยิ้มด้วยปาก เขายิ้มด้วยตา แววตาเขาสว่างไสว และพยายามพูดถึงลูกด้วยคำพูดชื่นชม เราเกิดแรงบันดาลใจว่าน่าจะเขียนถึงเรื่องความผูกพันระหว่างแม่กับลูกในสังคมคนกรุงเทพฯที่ต้องดิ้นรนในปัญหาเศรษฐกิจ

นึกถึงตัวเองตอนแม่ไม่สบาย เขียนไปร้องไห้ไป เป็นการพิสูจน์คำพูดที่ว่า ถ้านักเขียนเขียนอะไรออกมาแล้วมีความจริงใจ ใจจะสื่อถึงใจ งานเขียนชิ้นนี้ได้รับการตอบรับจากคนอ่านอย่างมาก บางคนบอกว่ารู้แล้วว่าจะวางแผนชีวิตยังไง บางคนบอกว่าจะกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ ทั้งที่นิยายไม่ได้บอกว่าควรทำยังไง เพราะปัจจัยแต่ละคนไม่เหมือนกัน

– มีหลายเรื่องที่ถูกนำไปสร้างละครโทรทัศน์

ต้องบอกก่อนว่าเรื่องที่เป็นละครกับที่เขียนคนละอย่างกัน เขาเอาไปดัดแปลงตามสไตล์ละคร เราก็ดูละครด้วยความเข้าใจ ช่วงแรกที่ขายบทไปทำละครบางเรื่อง เขาเปลี่ยนจนจำไม่ได้ เราก็ไม่เข้าใจว่าเรื่องของฉันเหรอนี่ แต่หลังๆ เข้าใจชีวิตมากขึ้น เห็นวิธีทำงาน จึงดูละครด้วยความเข้าใจว่าเป็นคนละสื่อ คนละแบบกัน ยังไงก็ขอให้คงแก่นเรื่องไว้ก็แล้วกัน แต่มีเรื่อง “ยิ่งฟ้ามหานที” คนทำละครกี่คนเอาไปอ่านก็บอกว่าหนักเกิน…อ้าว

– สิ่งไหนที่ทำให้ตัวเองยืนระยะได้ยาว?

ความรักและความจริงใจในการทำงาน เพราะเราเป็นคนไม่ถอยเลย เวลามีคนมาถามว่าอยากเป็นนักเขียนจะทำยังไง เราจะบอกว่า ต้องรัก แต่ไม่ใช่รักเฉยๆ ต้องรักอย่างหลงใหลคลั่งไคล้ จะทำให้คุณไม่ถอยถ้าเจออุปสรรค ชีวิตการทำงานของเรากว่าจะถึงจุดนี้อุปสรรคเยอะมาก 1.เขียนอย่างที่ใจเราต้องการไม่ได้ 2.การลงเรื่องในนิตยสารไม่ง่าย 3.อาชีพที่จะมาเลี้ยงตัวเองไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จะชื่นใจตรงที่มีกลุ่มคนตามอ่านเราอย่างไม่หยุดยั้ง สิ่งที่เราให้ไปในนั้นเขาจะชอบจะคิดจะทำตามหรือไม่ เป็นความสุขใจที่ตามมา แต่อันดับแรกต้องจริงใจกับงานที่เราทำ

unnamed (9)

– ตำแหน่งนายกสมาคมจะกระทบกับงานเขียนไหม?

กระทบอยู่แล้ว (หัวเราะ) เพราะสถานการณ์เปลี่ยนมาตั้งแต่ก่อนเรารับตำแหน่งอีก ตอนนี้หนังสือปิดไปหลายเล่ม เพราะ 1.ภาวะเศรษฐกิจ 2.ภาวะการเปลี่ยนแปลงจากสื่อกระดาษไปสู่สื่อดิจิทัล เมื่อปีที่แล้วนิตยสารใหญ่ๆ ปิดไปหลายเล่ม ทุกคนก็ช็อกไปหมด

สื่อดิจิทัลประเทศเราไม่ได้มีทุกคนที่มีเครื่องมือสื่อสารแบบนี้ใช้ แม้สิ่งที่คุณอ่านจะอ่านฟรี แต่อุปกรณ์แพงนะ แล้วคนชนบท คนอายุมากอยู่ต่างจังหวัดไม่มีฐานะการเงินพอซื้อเครื่องมือเหล่านี้ เขาไม่ต้องอ่านงั้นหรือ หนังสือหายไปหลายเล่มก็กระทบทั้งคนอ่านและคนเขียน ทีแรกเราบอกว่าทุกคนต้องช่วยกัน ถึงวันนี้ไม่แน่ใจว่าจะช่วยกันได้ไหม มันใหญ่กว่านั้น ต้องระดับรัฐบาลไหมที่ต้องลงมือมาดูแลอย่างจริงจังว่าจะทำยังไงกับภาวะอย่างนี้ หรือจะปล่อยให้หายไปเหรอ

– ในฐานะสมาคมทำอะไรได้บ้าง?

ทุกวันนี้สมาคมนักเขียนก็ยังเป็นสมาคมเล็กๆ ก็ทำเล็กๆ ตามประสาเรา กระตุ้นให้นักอ่านเห็นคุณค่าของการอ่าน นักเขียนก็ยังมีกำลังใจจะเขียน ทุกวันนี้สมาคมฯจะทำกิจกรรมต้องหาเงินทำเอง ระดมทุนเอง เราไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเลย ไปขอเขาก็ไม่มีงบ เสนอไปบางทีก็ไม่ผ่าน ท้อแท้เหมือนกัน ยังดีที่มีเอกชนบางหน่วยงานมาช่วย ทำให้เรายังสามารถทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านการเขียนได้

เวลาเราทำงานกับนานาชาติ กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย พม่า ทุกประเทศมีรัฐช่วยดูแลสมาคมนักเขียนไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร

– จากการพูดคุยกันในแวดวง คิดอย่างไรกับวิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์?

บางคนช่วงแรกเขาจะตกใจกับความเปลี่ยนแปลง แต่เราให้กำลังใจ คิดว่าไม่ต้องห่วงหรอก ตราบใดที่มีคนอ่าน เราก็ยังเป็นนักเขียนอยู่ คนอ่านเขาเพียงแต่เปลี่ยนสื่อในการอ่าน แต่คุณอาจจะต้องปรับวิธีการเขียน ทำยังไงให้คนอ่านสนใจ จะเล่าแบบขนบเดิมไม่ได้แล้ว ท้าทายว่าคุณอึดพอไหม จะสู้ไหม คุณยังรักหลงใหลคลั่งไคล้อยู่ไหม

จากการคุยในกลุ่มสมาชิกนักเขียน ทุกคนต้องช่วยตัวเอง วันก่อนคุยกับคุณอากฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติ ท่านบอกว่า อย่าหยุดเขียน ถึงนิตยสารหยุดไป เราก็ต้องเขียน เพราะเรามีความสุขที่ได้เขียน เขียนเก็บไว้ จะได้พิมพ์เมื่อไหร่ช่างมัน นี่คือคนที่มีใจรัก แต่อาจจะไม่เดือดร้อนกับภาวะเศรษฐกิจ ถ้าเป็นนักเขียนที่ต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ พอตรงนี้ลำบากบางคนต้องหันไปทำอย่างอื่น สุดท้ายจะหายไปทั้งนักอ่านและนักเขียนเลยหรือเปล่า

ล่าสุดปีที่แล้วเราทำกิจกรรมเรื่องการอ่านการเขียนในศตวรรษที่ 21 จัดสัมมนาระดมความคิดคนแต่ละรุ่น ซึ่งเราทำรวมเล่มความเห็นออกมา อยากเสนอเล่มนี้ให้รัฐบาลดูว่าสิ่งที่คนในอาชีพด้านการอ่านการเขียน คิดยังไงกับศตวรรษที่ 21 ที่จะเปลี่ยนแปลง

คิดว่าจากนี้จะมีสัมมนาต่อเนื่อง อยากเอาคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อดิจิทัลมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าทำงานกันแบบไหน เพื่ออะไร แล้วได้อะไร

Kanokwalee

– ในวาระตำแหน่งตั้งใจมุ่งพูดคุยศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลง?

ความจริงสมาคมนักเขียนมีวัตถุประสงค์อยู่ 4-5 ข้อ ผู้ที่เป็นนายกก็พยายามทำสิ่งเหล่านั้น ตั้งแต่เรื่องสวัสดิการ การยกย่องงานที่มีคุณค่า การเป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานกัน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนานาชาติ นี่เป็นอีกเรื่องที่เกิดในภาวะนี้ เราพยายามเป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องมีพันธมิตร หลายสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการอ่านการเขียนต้องร่วมมือกัน

วันก่อนไปฟังเสวนา สุดท้ายก็ยังไม่เห็นทางออกว่าจะทำยังไง เราพูดกันถึงปัญหา แต่ทางแก้ไขยิ่งใหญ่กว่า ต้องเป็นโครงสร้างระดับรัฐ ระดับผู้ปกครองบ้านเมืองต้องลงมาดูแล ใส่ใจ และเห็นคุณค่าของการอ่านการเขียนอย่างจริงจัง

– สมาชิกในสมาคมเองก็ยังรู้สึกวังเวงใจกัน?

วังเวงใจอยู่ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราพยายามทำให้เห็นคุณค่าของความเป็นนักเขียน เวลาไปประเทศเพื่อนบ้านเราจะพบว่ารัฐบาลเขาดูแล แต่ประเทศไทยเรายังไม่มีสถาบันใดๆ มาดูแลเรื่องการอ่านการเขียนเลย และคิดว่าหมายรวมไปถึงสวัสดิการนักเขียนด้วย

ตั้งแต่ตั้งสมาคมนักเขียน เราเริ่มต้นดูแลสวัสดิการกัน เพราะนักเขียนเป็นอาชีพอิสระ ไม่มีเงินเดือน เจ็บป่วยมาลำบากมาก ยิ่งยุคนี้ค่ารักษาพยาบาลแพงมหาศาล สมาชิกที่เจ็บป่วยจะได้รับสวัสดิการจากสมาคมฯรายละ 4,000 บาท ในความเป็นจริงพอไหม ไม่พอ เราพยายามหาทุนมาเป็นกองทุนสวัสดิการ นักเขียนผู้ใหญ่ที่พอมีเงินก็บริจาคให้ แต่สุดท้ายทำยังไงก็ไม่พอ จึงคิดว่าสิ่งเดียวที่จะเข้ามาดูแลได้คือหน่วยงานที่ใหญ่กว่าเรา น่าจะเป็นรัฐบาลไหม วังเวง มองไม่เห็นทาง

จะเป็นไปได้ไหมถ้ามีหน่วยงานใดตั้งกองทุนดูแลสวัสดิการนักเขียนให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืนมากขึ้น เวลาคุณพูดถึงการพัฒนาบ้านเมืองจะบอกว่าประเทศชาติจะอยู่ได้ด้วยเสาหลัก หนึ่งนั้นคือเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และศิลปวัฒนธรรม แต่คุณกลับไม่ดูแลเลย

เราอยากให้ใครสักคนที่มีอำนาจหน้าที่สามารถช่วยผลักดันให้พวกเราทำงานกันได้อย่างมีความสุข แต่ตัวนักเขียนเองก็ต้องพิสูจน์ว่าคุณต้องทำงานอย่างมีคุณค่า ไม่ใช่ทำงานเพื่อการค้าหรือธุรกิจอย่างเดียว งานของคุณต้องมีคุณค่า มีความหมาย เป็นเสาหลักให้กับบ้านเมืองได้

– มีคนตั้งคำถามว่าสมาคมไม่เคยแสดงท่าทีต่อสถานการณ์ด้านเสรีภาพ?

ตรงจุดนี้สมาคมฯมีจุดยืนอยู่ข้อหนึ่งในเรื่องที่ไม่ให้เราไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะฝ่ายใดทั้งสิ้น เป็นข้อที่จะต้องยึดถือปฏิบัติ จะมีผลให้สมาคมฯถูกปิดถูกล้มได้ คนที่มารับตำแหน่งหรืออยู่ในตำแหน่งก็จะระมัดระวังข้อนี้กัน พอเรามาอยู่ตรงนี้ก็พยายามระวังไม่ให้กระทบ แต่ถ้ามีการถามกันเป็นส่วนตัวก็จะพูดได้มากกว่านี้ เราก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ของบ้านเมืองว่าเป็นยังไง เราจะพูดได้แค่ไหนมีขอบเขตยังไง

– เสรีภาพของประชาชนเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการอ่านการเขียนไหม?

จริงๆ แล้วนักเขียนมีเสรีภาพที่จะคิดจะเขียน คนอ่านก็เช่นกัน มีเสรีภาพที่จะอ่านอะไรก็ได้ ที่จะเลือกแบบไหนก็ได้ ตัวนักเขียนเองก็เช่นเดียวกัน

– ปัจจุบันมีนักเขียนหน้าใหม่ๆ เข้ามาในสมาคมนักเขียนแค่ไหน?

มีผู้สมัครสมาชิกทุกปี ปีนี้เยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มน้องใหม่ที่เขียนหนังสือ เกือบร้อยคน ยังแปลกใจว่านักเขียนเยอะขนาดนี้เลยเหรอ นักเขียนรุ่นใหม่ในออนไลน์เริ่มให้ความสนใจ สมาคมนักเขียนเปิดกว้างที่จะอยู่ร่วมกันได้ในทุกฝ่าย แต่ทุกหนทุกแห่งจะมีกฎกติกา อาจเป็นข้อจำกัดว่าเราทำอะไรได้แค่ไหนยังไง

– ในวาระตำแหน่ง 2 ปีนี้ อยากให้อะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่สุด?

สิ่งที่หวังมากที่สุดคือ เรื่องของสวัสดิการในระบบที่ยั่งยืนและการช่วยกันยกระดับงานเขียนให้พัฒนาขึ้นไปในลักษณะที่ให้คุณประโยชน์ต่อผู้อ่าน ไม่อยากให้เป็นงานเขียนที่มุ่งเชิงพาณิชย์อย่างเดียว นอกจากความบันเทิงอยากให้ผู้อ่านได้ทั้งความคิดและสิ่งที่จะดีกับชีวิต

สมัยเราจะมีคำว่า “นักเขียนคือนักคิด นักคิดคือนักเขียน” เรายังอยากให้เป็นอย่างนั้นอยู่ ไม่ใช่ว่านักเขียนปัจจุบันจะคิดแต่จะเขียนยังไงให้มุ่งหมายไปที่เงิน ไม่ปฏิเสธว่าเงินเป็นเรื่องสำคัญ คนเราต้องกินอยู่เพื่อปากท้อง เพื่อความมั่นคงในชีวิตของตัวเอง เพียงแต่ว่าอาชีพนักเขียนพิเศษกว่าคนอื่น เป็นการติดความคิดทางปัญญาให้กับผู้อ่านด้วย

อยากให้นักเขียนที่เพิ่งจะเริ่มก้าวเข้ามาได้ตระหนักถึงส่วนนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าฉันเขียนในออนไลน์แล้วไม่สนใจ คนอ่านก็มีวิจารณญาณเองสิ สุดท้ายเลยไม่มีวิจารณญาณทั้งคนอ่านคนเขียน อย่างน้อยคนเขียนต้องคิดก่อนว่าสิ่งที่เขียนไปนั้นให้ประโยชน์อะไรกับเขาไหมนอกเหนือจากความบันเทิง

– ส่วนนโยบายภาครัฐที่สมาคมฯอยากให้เกิดขึ้น?

ทุกวันนี้สมาคมฯพยายามเชื่อมต่อกับภาครัฐ อยากให้ภาครัฐสนับสนุนการอ่านซึ่งจะนำไปสู่การเขียนแบบยั่งยืน ลงรากลึกถึงประชาชนพลเมือง ไม่ใช่เพียงเด็กนักเรียน ส่วนสำคัญที่จะหล่อหลอมจิตใจคนอ่าน ไม่ใช่โรงเรียนอย่างเดียว ต้องเริ่มที่พ่อแม่ด้วย การทำงานไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษาหรือกระทรวงวัฒนธรรม น่าจะรวมถึงส่วนที่ดูแลพลเมืองซึ่งเป็นพ่อแม่ด้วย การอ่านไม่ใช่แค่บันเทิงอย่างเดียว สนุกแล้วให้ประโยชน์อะไรกับผู้อ่าน ถ้าเขาเห็นคุณค่า เขาก็จะสนับสนุนให้ลูกเขาอ่าน

แล้วขอที อย่าตั้งกฎกติกาว่าหนังสือดีเล่มเดียวเหมือนกันทั้งประเทศ ทุกภาคส่วน ทุกระดับ บางโรงเรียนเอาซีไรต์ให้เด็กประถมหรือมัธยมต้นอ่าน เด็กพาลเกลียดการอ่านไปเลยเพราะมันยาก หนังสือมีระดับของมัน คนอ่านก็มีระดับของเขา หนังสือดีของเด็กภาคใต้กับกรุงเทพฯไม่เหมือนกัน ประโยชน์คนละอย่าง สิ่งแวดล้อมคนละอย่าง ควรสอนวิธีคิดว่าหนังสือดีมีประโยชน์คืออะไร แต่อย่าไปเลือกหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ให้เขา บอกกว้างๆ ว่าอะไรที่อ่านแล้วจะได้ประโยชน์

ให้เขาสนุก ได้ประโยชน์ และเห็นคุณค่า แล้วเขาจะเริ่มรักการอ่าน

กนกวลี พจนปกรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image