ชีวิตจริงของหญิงเกาหลีใต้ ไม่ได้โรแมนติกเหมือนในซีรีส์!!!

ขณะที่มีคนมากมายติดใจความน่ารัก โรแมนติกของซีรีส์เกาหลี ดูแล้วเคลิ้ม ฝันหวาน ชวนให้อยากแต่งงานมีคู่ แต่ชีวิตจริงของผู้หญิงเกาหลีใต้ นอกจากจะไม่โรแมนติกเหมือนในซีรีส์ ผู้หญิงเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ยังไม่อยากแต่งงาน กระทั่งทำให้เป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก โดยจากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลกระบุว่าเกาหลีใต้มีอัตราการเกิดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 คน ขณะที่อัตราการเกิดโดยเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 2.4 คน

ในรายงานของเอเอฟพี ระบุว่านับแต่ปี 2549 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 3,088 พันล้านบาท ในโครงการหลายร้อยโครงการ ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อกระตุ้นให้คนเกาหลีใต้แต่งงานตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว และมีลูกกันเยอะๆ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

มิหนำซ้ำเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวหญิงข้าราชการพลเรือนคนหนึ่งหัวใจวายเสียชีวิต หลังจากเธอเพิ่งกลับมาทำงานหลังลาคลอด แล้วโหมทำงานหนักวันละ 12 ชั่วโมงจนเสียชีวิต ข่าวนี้ยิ่งทำให้กระทรวงสวัสดิการสังคม ที่มีหน้าที่กระตุ้นอัตราการเกิด “สร้างคู่สมรส” สร้างทารกยิ่งดูเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นไปอีก

จากข่าวว่าหญิงข้าราชการผู้นี้อายุ 34 ปี เป็นแม่ลูก 3 และเป็นข้าราชการที่เก่ง เธอเสียชีวิตหลังจากครบกำหนดลาคลอด แล้วพอกลับมาทำงาน เธอก็ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แม้แต่วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่หยุด โดยข่าวว่าวันเสาร์ก่อนเธอจะเสียชีวิต เธอก็เข้าไปที่ทำงาน จากนั้นวันอาทิตย์เธอก็เข้าไปที่ทำงานอีกตอนตี 5 เพื่อจะได้รีบกลับไปดูแลลูกๆ แต่วันนั้นเธอก็หัวใจวายตาย

Advertisement

SKOREA-GENDER-SOCIETY-POPULATION

ทั้งนี้ ถึงแม้ไม่มีการระบุชื่อหญิงข้าราชการพลเรือนที่เสียชีวิตรายนี้ แต่ คิม ยู มิ วิศวกรไอทีวัย 38 ปี ซึ่งมีลูกสาว 2 คนก็ว่าเธอเข้าใจผู้ตายเพราะ “นี่คือความจริงที่เวิร์กกิ้ง มัม (แม่ที่ทำงานนอกบ้าน) ในเกาหลีใต้ต้องเผชิญ”

อย่างไรก็ตาม คิมยอมรับว่าเธอยังโชคดีมากที่หลังจากคลอดลูกแล้ว ยังมีโอกาสกลับไปทำงานได้ต่อ และเธอยังเป็นหนึ่งในผู้หญิงเกาหลีใต้จำนวนไม่มากที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายที่ให้ผู้หญิงทำงานสำหรับลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ 1 ปี โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องเงินค่าจ้างให้

Advertisement

“อย่างน้อยเจ้านายฉันก็ไม่เขี่ยฉันทิ้ง เมื่อฉันเข้าไปขอใช้สิทธิลาเพื่อไปเลี้ยงลูก ในอดีตที่ผ่านมาพนักงานหญิงอย่างฉัน มักจะถูกบอกว่า กลับไปอยู่บ้านเถอะ แล้วไม่ต้องกลับมาทำงานอีก”

แต่คิมก็เล่าว่า หลังจากเธอกลับมาทำงาน หลังครบกำหนดลา เธอก็อยู่ทำงานถึง 3 ทุ่มกว่าบ่อยๆ ดังนั้นเรื่องที่เธอจะมีโอกาสกลับบ้านไปทันเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน จึงเป็นไปไม่ได้เลย

“เรื่องที่จะได้นั่งเล่นกับลูก หรือกินข้าวเย็นพร้อมหน้ากัน คือฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง”

จากสถิติของประเทศสมาชิกในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ระบุว่าคนเกาหลีใต้มีชั่วโมงทำงานยาวนานเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวนชั่วโมงทำงานโดยเฉลี่ย 40.85 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนอันดับ 1 ได้แก่ เม็กซิโก ด้วยจำนวนชั่วโมงทำงาน 42.85 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แต่จากผลสำรวจของสื่อในเกาหลีใต้ ระบุว่า ในสภาพความจริงคนเกาหลีใต้ทำงานกันยาวนานกว่านั้น เหมือนกับสภาพการทำงานในญี่ปุ่น ที่มีรายงานคนทำงานหนักจนเสียชีวิตเกิดขึ้นบ่อยๆ

SKOREA-GENDER-SOCIETY-POPULATION

นอกจากนั้น ด้วยความที่สามีภรรยาต้องช่วยกันหารายได้เข้าครอบครัว ทำให้ฝ่ายชายมีเวลาช่วยทำงานบ้านหรือช่วยเลี้ยงลูกราว 40 นาทีต่อวัน ขณะที่ฝ่ายหญิงใช้เวลากับเรื่องงานบ้าน เลี้ยงลูกราว 3 ชั่วโมง

ลี นา ยอง อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยจุง อัง ในกรุงโซล บอกว่า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้หญิงเกาหลีใต้ไม่อยากแต่งงาน

“ผู้หญิงเกาหลีใต้ถูกคาดหวังต้องเป็นผู้หญิงทำงานที่ทันสมัยในตอนกลางวัน และเป็นภรรยาที่เป็นแม่บ้านแม่เรือนทันทีที่กลับเข้าบ้านตอนเย็น นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงไม่อยากแต่งงาน และด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้ ฉันจึงไม่แปลกใจเลย ถ้าหากจะมีเวิร์กกิ้ง มัม เหนื่อยล้าจนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก”

อาจารย์ลีเล่าว่า การที่หญิงสาวเกาหลีใต้ครองโสดไม่ยอมแต่งงาน กลายเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า “เบิร์ธ สไตรก์ (birth strike)” หรือ “แมริเอจ สไตรก์ (marriage strike)” การประท้วงการให้กำเนิดบุตร ประท้วงการแต่งงาน “ซึ่งฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุผล และเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลสำหรับพวกเธอที่จะอยู่รอดทางสังคมและทางเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้ จากข่าวว่าหลังการเสียชีวิตของข้าราชการพลเรือนหญิงรายนี้ กระทรวงสวัสดิการสังคมได้สั่งห้ามการทำงานวันเสาร์ และเรียกร้องให้ไม่มีการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image