การเมืองเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

เมื่อครั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เคยนำเสนอรายงานการศึกษาเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการจัดทำร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ… ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมเมื่อวันอังคารที่ 23 มิถุนายน 2558 เสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

มาถึงยุคสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ส่งเรื่องให้กรรมาธิการด้านการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เป็นประธานรับงานต่อถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผ่านความเห็นชอบจากสภาขับเคลื่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

ครับ การเดินทางของข้อเสนอให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและวางกลไก องค์กรดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ……ใช้เวลาไป 9 เดือน ส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีอีกรอบ หลังจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเคยส่งให้ไปแล้วรอบหนึ่ง

กว่าจะส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำคลอดกฎหมายนี้ออกมาจะใช้เวลาอีกเท่าไหร่ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2560 หรือหลังจากนั้น ไม่มีใครให้คำตอบได้

Advertisement

แต่สิ่งที่แน่ๆ คือ ทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปเห็นตรงกันว่า ควรจะบรรจุเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากทำสำเร็จจะเป็นครั้งแรกของประเทศที่รัฐธรรมนูญเขียนเรื่องนี้ไว้

ปรากฏว่าความเห็นแตกออกเป็นหลายฝ่าย ทั้งเห็นด้วย คัดค้าน เฉยๆ ไม่อยากยุ่งเกี่ยว มีอำนาจอยากทำอะไรทำไป ทำได้ ทำไม่ได้ ก็ได้รับผลแห่งการกระทำนั้นไปเอง

ยุทธศาสตร์ชาติจึงกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นความเสี่ยงเพิ่มเติม ทำให้โอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติสูงขึ้น

Advertisement

เพราะเกิดคำถามตามมาหลายประการ เริ่มตั้งแต่การยกตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ล้วนมีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้วยกันทั้งสิ้น แม้แต่แอฟริกาใต้ ข้อนี้ไม่มีใครปฏิเสธหรือโต้แย้ง ไม่เห็นความสำคัญของการบริหารประเทศอย่างมียุทธศาสตร์

ข้อแตกต่างมีว่า ที่นี่ประเทศไทยต้องมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่กล่าวข้างต้นไม่มีประเทศไหนถึงขนาดเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

นั่นแสดงว่า ประเทศไทยนอกจากไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่ต่อเนื่องแล้ว ถ้ามีขึ้นมาก็ไม่สามารถมีสภาพบังคับให้เกิดการปฏิบัติตามได้ ถึงต้องเขียนไว้ในกฎหมายแม่บท

คำถามต่อมามีอีกว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญจะเข้าข่ายเป็นองค์กรอำนาจที่ 4 เหนือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และองค์กรอิสระต่างๆ หรือไม่ เพราะการออกแบบได้กำหนดอำนาจไว้ทำนองนั้นชัดเจน

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจตรวจสอบหรือไต่สวนการไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ และเปิดเผยผลต่อสาธารณะ

ขณะที่องค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติประกอบด้วย ผู้นำฝ่ายการเมือง นายกรัฐมนตรี ประธาน สนช. ประธาน สปช. และผู้ทรงคุณวุฒิด้านยุทธศาสตร์กลุ่มภารกิจต่างๆ จำนวน 23 คน

ฉะนั้น ประเด็นการไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อทั้งนายกฯ ทั้งประธานสภานั่งอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้วย

เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ การบังคับใช้ยุทธศาสตร์ แต่กลับจะไม่ทำเสียเอง อย่างนั้นหรือ

การไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ใด ถูกคณะรัฐมนตรีบีบ ถูกพรรคร่วมรัฐบาลบีบ อย่างนั้นหรือ

ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง แสดงว่ารัฐบาลกระทำการขัดรัฐธรรมนูญก็จะถูกถอดถอน อยู่ไม่ได้

นอกจากนั้น ยังมีคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกับประชาชนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เป็นอย่างไร ขณะที่มีอำนาจตรวจสอบฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องของความชอบธรรมของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตรง

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีปัจจุบันมีมติวันที่ 30 มิถุนายน 2558 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มีพลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

แม้มีสถานะเป็นกรรมการในฝ่ายบริหารก็ตาม กระบวนการมีส่วนร่วมของการจัดทำยุทธศาสตร์ ความเคลื่อนไหวคืบหน้าไปอย่างไร สังคมควรจะได้รับรู้และมีส่วนร่วมในระดับไหน ขั้นตอนใด ในเรื่องสำคัญที่มีผลต่ออนาคตของชาติและประชาชนทุกสาขาอาชีพ ควรมีโอกาสและช่องทางรับรู้ มีส่วนร่วมเกี่ยวกับเนื้อหา สาระ ทิศทาง ตั้งแต่เบื้องต้น

ไม่เพียงแต่ร่วมขบคิด สร้างกลไก กระบวนการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามประเด็นต่างๆ ที่ว่ามา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image