รพ.เลิดสินร่วมเอ็มเทคผลิต ‘กระดูกและข้อโลหะต้นแขน’ ช่วยผู้ป่วยมะเร็งครั้งแรกในไทย

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่โรงพยาบาลเลิดสิน นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวเปิดตัว “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” (Proximal Humerus Endoprosthesis) ออกแบบและผลิตได้เองครั้งแรกในประเทศไทย ว่า โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ เป็นมะเร็งชนิดที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมารับการรักษาเร็ว โดยมีอุบัติการณ์การเกิดโรคประมาณ 8.7 ต่อประชากร 1 ล้านคน และมักเกิดในเด็กวัยเรียน ทำให้เด็กเหล่านี้เสียโอกาสต่างๆ รวมทั้งพิการหรือเสียชีวิตได้ ปัจจุบันการรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปี ร้อยละ 60 หากมะเร็งยังไม่ลุกลาม ในกรณีที่ก้อนไม่ใหญ่มาก การผ่าตัดรักษามะเร็งกระดูก จะทำโดยการตัดกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออก ซึ่งมักจะรวมถึงข้อต่อบริเวณนั้นด้วย และใส่กระดูกและข้อต่อโลหะทดแทน ซึ่งจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายสูงประมาณ 3-4 แสนบาท

“รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์ จึงร่วมกับอนุสาขาเนื้องอกกระดูกและระบบเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ออกแบบและผลิตกระดูกและข้อโลหะต้นแขนแบบแยกชิ้นปรับความยาวได้ และมีขนาดที่เหมาะสมกับคนไทยก่อน โดยมีคุณภาพเท่าเทียมกับของต่างประเทศในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้คนไทยที่ป่วยเป็นมะเร็งกระดูกมีโอกาสได้ใช้ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วย” นพ.ประพนธ์ กล่าว

นพ.ปิยะ เกียรติเสวี นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาออร์โธปิดิกส์ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน กล่าวว่า การออกแบบกระดูกและข้อโลหะต้นแขนแบบแยกชิ้นปรับความยาวได้ เริ่มต้นโดยการวิเคราะห์ความเข้ากันได้ทางกายภาพ รูปร่างของกระดูกต้นแขนเทียมที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด กับข้อมูลกายวิภาคคนไทย ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด และนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นพื้นฐานในการออกแบบกระดูกต้นแขนเทียมสำหรับผู้ป่วย หลังจากนั้นได้ทำโครงการร่วมกับ บริษัท คอสโม เมดิเทค จำกัด ผลิตกระดูกและข้อโลหะต้นแขนแบบแยกชิ้นปรับความยาวได้ขึ้นมา โดยใช้โลหะผสมชนิด cobalt – chromium และ titanium เกรดสูง ซึ่งเป็นโลหะมาตรฐานที่สามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้ มีสิ่งเจือปนในโลหะน้อยมาก และได้รับการรับรองตลอดจนผ่านการทดสอบคุณสมบัติความเป็นพิษของวัสดุต่อเซลล์เพาะเลี้ยงมาแล้ว และนำไปฆ่าเชื้อ (sterilization) โดยใช้ Gamma radiation ซึ่งเป็นวิธีการฆ่าเชื้อแบบมาตรฐานสำหรับโลหะวัสดุทางการแพทย์

“ขณะนี้ได้มีการผ่าตัดใส่กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบนที่ผลิตได้เองในประเทศไทยให้แก่ผู้ป่วย จำนวน 10 คน ภายหลังผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ซึ่งผู้ป่วย 6 คน ผ่าตัดที่ รพ.เลิดสิน ผู้ป่วย 3 คน ผ่าตัดที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และผู้ป่วยอีก 1 คน ผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยหลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถใช้งานแขนข้างที่ผ่าตัดได้เหมือนกับข้อและกระดูกโลหะจากต่างประเทศ ไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดๆ ผลเป็นที่น่าพอใจแก่ทีมผู้วิจัยเป็นอย่างยิ่ง ในอนาคตจะมีการขยายงานวิจัยนี้ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อรวบรวม ศึกษาข้อมูลนำมาพัฒนาต่อไป รวมถึงขยายการออกแบบและผลิตกระดูกและข้อโลหะบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย” นพ.ปิยะ กล่าว

Advertisement

ผศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระบวนการทั้งหมดในการที่จะผลิตออกมาใช้เองในประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน เพราะการพิจารณามาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นก็จะมีตัวแทนของ อย.อยู่ด้วย ซึ่งหากผ่านมาตรฐานแล้วการขึ้นทะเบียนกับ อย.ก็ไม่น่ามีปัญหา ที่สำคัญมาตรฐานเป็นมาตรฐานระดับอาเซียน ส่งผลให้สามารถขยายตลาดออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image