4 วัน ระทึก อภินิหาร กฎหมาย 31 มีนาคม

เหลืออีกเพียง 4 วัน วันที่ 31 มีนาคม ก็จะเดินทางมาถึง นั่นหมายถึงว่า “อภินิหาร” ตามอนุศาสน์อันออกมาจาก นายวิษณุ เครืองาม จะปรากฏอย่างเป็น “รูปธรรม” อย่างไร

ไม่เพียงแต่ทางด้าน “ชินคอร์ปเดิม” จะระทึก

หากแม้กองเชียร์ที่เคยร่วมในการถล่ม “ชินคอร์ป” ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 กระทั่งก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ก็รอคอยและ “คาดหวัง”

Advertisement

เสียงทักท้วงและทวงถามจากฝ่ายของ “เพื่อไทย” ที่ว่ากระบวนการเรียกคืนภาษีในกระสวนอย่างนี้ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศแห่ง “การปรองดอง”

มาตรการ “ภาษี” จึงมากด้วย “ความแหลมคม”

ทาง 1 ยืนยันเจตจำนงอันมั่นแน่วตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ว่าจะได้รับการสืบทอดอย่างตรงกับแนวทาง

Advertisement

แม้กระทั่งในรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

บทสรุป ก็คือ ไม่ให้ “เสียของ”

ใครที่เคยตำหนิติฉิน “ทักษิณ” ว่าเพ้อฝันต่อแนวทาง “ปรองดอง สมานฉันท์” ตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา

ก็จะเริ่มมีความเข้าใจว่า “ทำไม”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า “ทักษิณ” เป็นพ่อค้า แม้จะเคยเป็นตำรวจ แม้จะเคยเป็นนักการเมือง แต่รากฐานและความเป็นจริงคือ “พ่อค้า”

เรียกอย่างสวยหรูก็คือ “นักธุรกิจ” เรียกอย่างตรงเป้าก็คือ “นายทุน”

คนที่อยู่ในสนามของนักธุรกิจเส้นเลือดสำคัญในการประกอบการคือการต่อรอง คือการประนอมประโยชน์

เพราะพื้นฐานของ “พ่อค้า” คือ ซื้อมา ขายไป

ไม่ว่าหนทางจะมืดมนเพียงใด ธรรมชาติของพ่อค้า ธรรมชาติของนักธุรกิจย่อมจะมองหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ

นั่นก็คือ การเจรจา นั่นก็คือ การต่อรอง

ถามว่าทำไมเมื่อเปลี่ยนจากพรรคไทยรักไทยมาเป็นพรรคพลังประชาชนจึงต้องมีการเชิญ นายสมัคร สุนทรเวช มาเป็นหัวหน้าพรรค

พร้อมกับมอบตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ให้เป็นเหมือน “รางวัล”

นี่คือตัวอย่างที่ทาง “ทักษิณ” ประเมินว่ามีความเหมาะสม เพราะรากฐาน นายสมัคร สุนทรเวช คือ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะบทบาทที่แสดงออกผ่านพรรคประชากรไทยก็แทบไม่แตกต่างจากที่เคยปฏิบัติเมื่ออยู่พรรคประชาธิปัตย์

“คอนเนกชั่น” เก่าของ นายสมัคร สุนทรเวช คือ กลุ่มอำนาจเก่าโดยเฉพาะ “ทหาร”

กระบวนทัศน์ในแบบนี้แม้ที่สุดจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็แสดงความพยายามดังตัวอย่างล่าสุดก็ คือ การมอบบทบาทผ่าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

นั่นก็เหมือนกับความพยายามผลักดันผ่าน นายสมัคร สุนทรเวช

ความพยายามในการต่อรอง ความพยายามในการเจรจา เป็นบทบาทด้านหลักของ “ทักษิณ” ตั้งแต่หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 มาแล้ว

และตอนนี้ “หลักการ” นี้ก็ไม่เคย “เปลี่ยน”

ประเด็นอยู่ที่ว่า “คสช.” จะดำรงจุดมุ่งหมายของตนอย่างแน่วแน่และมั่นคง หนักแน่น จริงจังเพียงใด

ที่ผ่านมา “คสช.” ศึกษาจุดอ่อนของ “ทักษิณ” มาเป็นอย่างดี และนำเอาคนที่เคยร่วมกับ “ทักษิณ” อย่าง นายวิษณุ เครืองาม อย่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาทำงานสำคัญ

จึงอ่าน “เกม” ทางด้าน “ทักษิณ” ได้ทะลุปรุโปร่ง

คำถามอยู่ที่ว่าจะมั่นคง แน่วแน่เพียงใด คำตอบจะเห็นได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image