วิษณุ แจง ม.44 สรรหาตุลาการศาลรธน.–คตง. เพราะกฎหมายลูกออกไม่ทัน

แฟ้มภาพ

รัฐบาลเตรียมปรับการทำงานใหม่ หลังรัฐธรรมนุญประกาศใช้ วิษณุ แจง ม.44 สรรหาตุลาการศาลรธน. – คตง. เหตุกฎหมายลูกออกไม่ทัน

เมื่อเวลา 16.15 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2560 ว่า หลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่สถานภาพของแม่น้ำ 5 สายจะค่อยๆ สิ้นสุดลงไป แต่ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ สิทธิเสรีภาพประชาชน ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีหน้าที่ของรัฐ แต่ครั้งนี้มีหน้าที่ของรัฐในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และสิทธิของประชาชนได้มีเพิ่มเติมหลายเรื่อง นอกจากนี้ ยังมีอะไรใหม่ๆ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อมีรัฐบาลและสภาใหม่ ส่วนการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องมีการปรับปรุงในบางส่วนให้ตรงกับรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วจะนับวันไปสู่วันเลือกตั้ง จะมีการผ่อนปรนข้อบังคับพรรคการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า นายกฯเคยชี้แจงแล้วว่าให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้พิจารณา เมื่อถามอีกว่า รัฐบาลจะนำคำสั่งตามมาตรา 44 มา ปรับปรุงใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นนโยบายของคสช. ที่จะให้ฝ่ายกฎหมายทยอยดูว่าส่วนใดจะยกเลิก ส่วนใดนำมาควบรวมกัน ไม่ให้กระจัดกระจาย ส่วนใดที่จะให้อยู่ต่อหลังการเลือกตั้งให้ทิ้งไว้ ใครจะยกเลิกทีหลังต้องออกเป็นพ.ร.บ. หลายฉบับมีการเขียนระบุไว้ว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเขียนกฎหมาย เมื่อพ.ร.บ.ออกมาคำสั่งนั้นจะถูกยกเลิกไป

เมื่อถามถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 23/2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความจำเป็น เพราะจะมีกรรมการในองค์กรอิสระบางแห่งพ้นวาระก่อนกฎหมายลูกจะออกมา จึงได้มีการประสานกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้วว่าจะออกคำสั่งในลักษณะนี้ เนื่องจากแม้ตอนนี้จะสรรหาใหม่ แต่พอกฎหมายลูกออกมาจะมีการเซ็ตซีโรหรือไม่ คนจะสมัครจะไม่กล้า เพราะไม่รู้อยู่ได้นานแค่ไหน การแก้ปัญหาจึงนำหลักเกณฑ์ที่คิดจะออกเป็นกฎหมายลูกมาออกเป็นคำสั่ง โดยยึดหลักเกณฎ์ตามกรธ.
รองนายกฯ กล่าวว่า ในคำสั่งดังกล่าวมีการระบุถึง 2 องค์กรคือ ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งจะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะครบวาระในพฤษภาคม 60 เราจึงให้รักษาการต่อ และให้มีการสรรหาระหว่างนั้น โดยยึดคุณสมบัติตามกฎหมายลูกที่กรธ.แจ้งมา ส่วนคตง.ที่จะครบวาระในกันยายน 60 จะให้ทำเช่นเดียวกัน รวมถึงตัวผู้ว่าฯสตง. ที่จะมีอายุครบ 65 ปี ที่ต้องพ้นวาระตามกฎหมาย ให้ทำหน้าที่ต่อไปจนถึงกันยายน 60 เช่นกัน และให้ยึดวาระการดำรงตำแหน่งตามคำสั่งนี้ ส่วนกรณีนพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลาออกนั้น เรื่องเพิ่งเกิดขึ้น ยังไม่ได้คิด คงต้องดูว่าเท่าที่มีอยู่ยังสามารถทำงานได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้อาจจะต้องสรรหา โดยต้องคุยกับกรธ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image