‘ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์’ ปรับโฉม รพ. จุฬาภรณ์ สู่ผู้ป่วยทั่วไป

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

 

 

หมายเหตุ: เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์มติชน สัมภาษณ์ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ถึงการก่อตั้งศูนย์การแพทย์แห่งใหม่ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจาก ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ 90 ปีรัชกาลที่ 9

Advertisement

()ที่มาของศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

สืบเนื่องจาก ศ.ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 400 เตียง ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ 90 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปี 2560 ว่า “ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์” โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งมีความหมายว่า ศูนย์การแพทย์ที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง เพื่อถวายสดุดี และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อประชาชนไทยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ โดยศูนย์แห่งนี้จะเป็นโรงพยาบาล400 เตียง จากเดิมโรงพยาบาลจุฬาภรณ์มีขนาด 100 เตียง รับเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ก็จะเป็นผู้ป่วยทั่วไป และเป็นระดับตติยภูมิ มีความสามารถรับรักษาผู้ป่วยจากที่อื่นๆได้ โดยศูนย์แห่งนี้จะแล้วเสร็จประมาณปี 2564 แต่ก่อนหน้านั้นเราจะเปิดบางส่วนก่อน ซึ่งเป็นอาคารที่อยู่แยกกัน มี 30 เตียง แต่อยู่ใกล้เคียงกัน เป็นอาคารผู้ป่วยทั่วไป เป็นศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน ที่รับผู้ป่วยทั่วไปด้วย อยู่ในบริเวณศูนย์ราชการฯเฉลิมพระเกียรติเช่นกัน โดยศูนย์นี้จะเปิดปลายปี 2560

()เพราะเหตุใดจึงเปิดรักษาผู้ป่วยทั่วไป นอกเหนือจากมะเร็ง

Advertisement

ผู้ป่วยมะเร็งรักษาไปเรื่อยๆ ก็รอดชีวิต แต่มีความเจ็บป่วยอื่นๆ ร่วมด้วย พระองค์ทรงเป็นห่วง อยากให้ดูแลอย่างครบถ้วน มีพระประสงค์ที่จะขยายการดูแลไปยังผู้ป่วยทั่วไปได้ด้วย ประกอบกับพระองค์ท่านเสด็จถิ่นทุรกันดาร มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว. พระองค์ทอดพระเนตร ชาวบ้านมีความเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ต้องส่งคนไข้เหล่านี้ไปโรงพยาบาลอื่นๆ จึงพระประสงค์รับไว้ในพระอนุเคราะห์ที่เดียวเลย จึงเป็นสองเหตุผลในการขยายเป็นรพ.ผู้ป่วยทั่วไป

จากนั้นพระองค์ยังมีพระประสงค์ในการผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่ขาดแคลน เพื่อนำมาดูแลผู้ป่วย จึงมีวิทยาลัยแพทย์และการสาธารณสุขเกิดขึ้น มีการเรียนการสอน ทั้งพยาบาล รังสีเทคนิค และหลักสูตรแพทย์ ซึ่งช่วงแรกเราฝากไว้ที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลก่อน ซึ่งในการผลิตบุคลากรนั้น คาดว่าจะรวมแล้วประมาณ 2-3 พันคน จากปัจจุบันมีประมาณ 8-9 ร้อยคน อันนี้เฉพาะส่วนให้บริการเท่านั้นไม่ได้รวมส่วนการเรียนการสอน โดยงบประมาณที่รัฐบาลเห็นชอบโดยให้งบฯสนับสนุนการก่อสร้าง ครุภัณฑ์บางส่วน ระยะเวลา 5 ปีจำนวนหมื่นกว่าล้านบาท แต่เราก็ต้องหางบฯในส่วนของเราด้วย ตามที่พระองค์ตั้งพระทัยว่า แม้รพ.จะให้บริการผู้ป่วยยากไร้ ด้อยโอกาสก็จริง แต่พระองค์มีพระประสงค์ให้พวกเขาได้รับบริการที่ดีเหมือนคนมีฐานะ ดังนั้น รพ.ก็ต้องมีบรรยากาศ มีมาตรฐานการให้บริการ เครื่องมือเครื่องใช้เหมือนรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งในอนาคตเรียกได้ว่า เป็นรพ.รัฐในระดับพรีเมี่ยม

()ผู้ป่วยสิทธิไหนสามารถเข้ารับรพ.จุฬาภรณ์ และรพ.แห่งใหม่

ตอนนี้เรารับทุกสิทธิสุขภาพภาครัฐ ทั้งข้าราชการ บัตรทองและประกันสังคม ซึ่งประกันสังคมไม่ได้รับโดยตรง แต่หากส่งมาเราก็รับ อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันเหมือนระบบการดูแลสุขภาพของไทยจะครอบคลุมทั้งหมด แต่ก็ยังมีบางส่วน อย่างระบบการส่งต่อยังไม่ถึง ก็ยังมีผู้ป่วยในพระอนุเคราะห์ เพราะไม่สามารถรอขั้นตอนในการส่งต่อของระบบได้

()ระหว่างรอการเปิดให้บริการของรพ.ระดับ 30 เตียง และ400 เตียงในอนาคต สามารถเข้ารับบริการรักษาโรคทั่วไปเบื้องต้นได้หรือไม่

เรามีการบริการหลายด้านแล้ว ทั้งด้านตา กระดูก หัวใจ โรคติดเชื้อ ศัลยกรรม ผิวหนัง หูคอจมูก นรีเวชมีครบทั้งมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งมีผู้มารับบริการมาก หากภาพรวมจะพบว่ามีผู้ป่วยนอกเข้ารับประมาณ 300-500 รายต่อวัน และผู้ป่วยในมีประมาณ 60-80 รายต่อวัน โดยส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ป่วยมะเร็ง เพราะคนรู้จักในฐานะรพ.มะเร็ง

() ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยด้อยโอกาสหรืออยู่ถิ่นทุรกันดารอย่างไร

ที่ผ่านมา รพ.จุฬาภรณ์ให้การบริการโดยไม่คำนึงว่าสิทธิสุขภาพของชาวบ้านเป็นสิทธิใด ยกตัวอย่าง มีโครงการหนึ่งที่พระองค์ เสด็จยังจ.น่าน ทรงทราบจากคนในท้องถิ่นว่า มีอำเภอบ้านหลวง มีปัญหาเรื่องมะเร็งตับและท่อน้ำดีมาก ซึ่งจ.น่าน เป็นจังหวัดทางเหนือ ปกติมะเร็งตับและท่อน้ำดีจะพบมากในภาคอีสาน ต่อมาพระองค์พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่บ้านนั้น ซึ่งอยู่ห่างไกล และเมื่อพระองค์เสด็จกลับมากรุงเทพฯ ได้ให้ทางรพ.ไปดูว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งทางรพ.ก็ลงพื้นที่ไป และสำรวจทำการวิจัยคนทั้งหมู่บ้าน โดยพบสารพิษจากสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย แต่ไม่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เราก็ไปติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเอาทีมรพ.จุฬาภรณ์ไปตรวจอัลตราซาวน์ หรือคลื่นสะท้อนเสียง ตรวจคนในหมู่บ้านเป็นเวลา 1-2 ปี และตรวจมากกว่าปกติ มีการตรวจทุก 3 เดือน มีการตรวจเลือด ตรวจอื่นๆ จนพบว่าคนไข้ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีในระยะต้นๆ ซึ่งได้นำมาผ่าตัดที่รพ.จุฬาภรณ์ โดยไม่ได้สนใจว่าคนไข้เป็นสิทธิอะไร ปรากฏว่ารอดชีวิตได้ดีกว่ามะเร็งตับและท่อน้ำดีที่อื่นๆ เพราะกว่าจะพบช้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องพฤติกรรมของดิบ แต่ยังมีความน่าสนใจพฤติกรรมอื่นๆอีก ซึ่งเมื่อทราบเร็วก็จะรักษาได้ตั้งแต่ต้นๆ

()นอกจากการบำบัดรักษาแล้ว ในเรื่องการป้องกัน

รพ.ให้ความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากการขึ้นไปตรวจสอบเพื่อศึกษาถึงปัญหาของโรค จะทำให้ทราบปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคนในพื้นที่นั้นๆได้ ซึ่งจะแตกต่างจากตำราในต่างประเทศ การวิจัยเฉพาะกลุ่มเฉพาะประชากร จึงเป็นเรื่องสำคัญในการแก้ปัญหาในท้องถิ่น เรียกว่าเป็นหลักการที่เราทำอยู่

() สถาบันนี้จะเป็นเรื่องครบวงจรได้หรือไม่

เรียกเช่นนั้นก็ได้ ซึ่งจะมีศูนย์ความเป็นเลิศต่างๆ แต่แน่นอนศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งต้องมี เพราะเราทำมานาน แต่ยังมีศูนย์อื่นๆอีก เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศระบบทางเดินอาหาร ก็เกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ ซึ่งพบได้บ่อย นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ความเป็นเลิศหัวใจ สมอง และหลอดเลือด ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสื่อมของร่างกาย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านกระดูก และข้อ ก็เกี่ยวข้องกับมะเร็ง และศูนย์ความเป็นเลิศในการตรวจสุขภาพด้วยเครื่องมือทันสมัย ทั้งการทำเอ็มอาร์ไป และเพทสแกน ซึ่งจริงๆศูนย์เพทสแกน ถือเป็นที่แรกๆของรพ.ใหญ่อื่นๆด้วยซ้ำไป โดย 5 ศูนย์ความเป็นเลิศทั้งหมดจะอยู่ในศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จะเกิดขึ้นในปี 2564

()การผลิตแพทย์จะดำเนินการอย่างไรควบคู่กับศูนย์การแพทย์ฯแห่งใหม่

จริงๆเราไม่ได้เน้นผลิตแพทย์จำนวนมาก เพราะอีกไม่กี่ปีแพทย์ ก็จะเพียงพอแล้ว ดังนั้น วิสัยทัศน์เรา คือ ผลิตแพทย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือเรียกว่า ผลิตนักวิทยาศาสตร์ที่มาจากแพทย์นั่นเอง เราต้องการแพทย์ที่ออกไปและมีความสามารถในการวิจัย แต่ไม่ใช่วิจัยทั่วไป แต่ต้องวิจัยที่สามารถนำกลับไปแก้ปัญหาให้ประชาชน ให้คนในท้องถิ่นได้ เรียกว่า บัณฑิตพึงประสงค์ จึงผลิตไม่มากปีละ 30-40 คนเท่านั้น โดยสาขาอื่นๆก็จะมีอยู่บ้าง แต่เน้นที่ขาดแคลน คือ พยาบาล รังสีเทคนิค ซึ่งทั้งหมดต้องมีพื้นฐานงานวิจัยแน่นกว่าที่อื่นๆ เบื้องต้นหลักสูตรแพทย์เราฝากเป็นสถาบันสมทบกับคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีดู แต่เนื่องจากพระองค์ท่านเสด็จไปต่างประเทศ เพื่อไปแนะนำ และติดต่อประสานงานให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆที่มีชื่อเสียงระดับโลก

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเรา คือ ในอนาคตจะมีหลักสูตรแพทย์นานาชาติ จะทำร่วมกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล(University College London :UCL) ที่อังกฤษ เขาก็จะมาช่วยในการพัฒนาหลักสูตร จัดการเรียนการสอน จัดและสรรหาผู้สอนร่วมกันกับเรา ซึ่งก็จะเป็นอีกระดับหนึ่งที่เราจะทำ โดยทุกหลักสูตรได้เริ่มแล้วในปีการศึกษา 2560 ยกเว้นหลักสูตรนานาชาติเริ่มอีก 2-3 ปี

โดยทุกสิ่งอย่างที่พระองค์ให้เริ่มดำเนินการในปี 2560 เนื่องจากเป็นปีที่ครบ 90 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image