คอลัมน์ People in Focus : ออสการ์ รามิเรซ เด็กชายผู้รอดชีวิตสู่สารคดีจอเงิน

ออสการ์ รามิเรซ

“ไฟน์ดิงออสการ์” ไม่ใช่เรื่องราวของการตามหารางวัลสูงสุดของวงการภาพยนตร์แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องราวสารคดีที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริง เรื่องราวของการตามหา “ออสการ์ รามิเรซ” เด็กชายชาวกัวเตมาลา ผู้รอดชีวิตจากเหตุ “สังหารหมู่” ในสงครามกลางเมืองเมื่อกว่า 35 ปีก่อน

เวลานั้น “ออสการ์” มีอายุเพียง 3 ปี เวลาที่หน่วยทหารหน่วยหนึ่งบุกเข้ามาในหมู่บ้าน “ดอส เออร์เรส” ก่อนสังหารแม่ พี่สาว 5 คน และสมาชิกหมู่บ้านในป่าของกัวเตมาลาแห่งนี้ไปอีก 200 คน

ออสการ์ ในวัย 3 ขวบ รอดชีวิตเหตุเพราะดวงตาคม “สีฟ้า” คู่นั้น และทหารหนึ่งในหน่วยมฤตยูดังกล่าวก็รับตัวออสการ์ ไปเลี้ยงเป็นลูกของตัวเอง

เมื่อ ออสการ์ รู้ความจริงเวลาก็ล่วงเลยมาจนออสการ์อายุมากกว่า 30 ปีไปแล้ว และช่วงเวลาระหว่างนั้นเองที่ “สตีเฟน สปีลเบิร์ก” และ “ไรอัน ซัฟเฟิร์น” นำมาเล่าในสารคดีที่เพิ่งเปิดตัวไปในสัปดาห์ที่ผ่านมา

Advertisement

ซัฟเฟิร์น ระบุว่า เรื่องราวการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารหมู่นั้นเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ

“ลองคิดดูว่า หากวันหนึ่งคุณได้รับโทรศัพท์และรู้ว่าชีวิตของคุณทั้งหมดคือเรื่องโกหก นั่นคือความจริงของออสการ์ และออสการ์ก็จัดการกับเรื่องนี้ได้อย่างไม่ธรรมดา” ซัฟเฟิร์น ระบุ

สารคดีเรื่องนี้ใช้การเล่าเรื่องด้วยการสัมภาษณ์หลายคนที่มีส่วนในการสืบสวนเหตุถึงเหตุการณ์ดังกล่าวที่ไม่มีใครพูดถึง เหตุการณ์ซึ่งทำให้หมู่บ้านแห่งนี้แทบจะถูกลบออกจากแผนที่ เหตุการณ์ซึ่งทำให้ครอบครัวของออสการ์ กลายเป็นเหยื่อจำนวนหนึ่งในจำนวนกว่า 200,000 คนที่เสียชีวิตหรือหายตัวไประหว่างสงครามกลางเมืองที่กินระยะเวลาระหว่างปี 2503 ถึง 2539

Advertisement

เหตุสังหารหมู่ดังกล่าวเป็นฝีมือของ “ไคบิลส์” หน่วยรบพิเศษที่ได้รับการฝึกโดยกองทัพสหรัฐเพื่อสู้รบกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ และหน่วยดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของการกวาดล้างกลุ่มกบฏนำโดย “อีเฟรน ริออส มอนต์” ประธานาธิบดีกัวเตมาลาในเวลานั้น

การเปิดตัวภาพยนต์สารคดีเรื่องนี้มีขึ้นหลังศาลในกัวเตมาลา ตัดสินให้มีการไต่สวนคดี “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” กับริออส มอนต์ อดีตประธานาธิบดีวัย 90 ปีด้วย

ริออส มอนต์ ถูกตัดสินให้ต้องถูกจำคุก 80 ปี ในปี 2556 แต่ศาลสูงกัวเตมาลา “กลับคำตัดสิน” โดยให้เหตุผลว่ามี “ขั้นตอนที่ผิดพลาด”

ด้านคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงที่ได้รับการสนับสนุนโดยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้บันทึกเหตุสังหารหมู่ไว้ได้ 669 ครั้ง ระหว่างสงครามกลางเมืองกัวเตมาลา ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ก่อการโดยเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างการปกครองของ ริออส มอนต์ รวมถึงผู้ที่รับตำแหน่งต่อมาอย่าง “ออสการ์ เมเจีย วิกตอร์” ด้วย

มีสมาชิก “ไคบิลส์” เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ถูกลงโทษจำคุกจากเหตุสังหารหมู่ดังกล่าว โดยในจำนวนนั้นต้องโทษจำคุกตามจำนวนกระทงความผิด มากถึง 6,000 ปี

เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ “ดอส เออร์เรส” ถูกปะติดปะต่อเข้าด้วยกันจากคำบอกเล่าของญาติ ผู้รอดชีวิต ผู้เชี่ยวชาญด้านการชันสูตร อัยการที่กล้าหาญ รวมไปถึงอดีตนายทหารจาก “ไคบิลส์” บางรายด้วย

หลังการค้นหาอยู่เป็นเวลาหลายปี ในปี 2554 อัยการสามารถตามรอยจนพบออสการ์ได้ที่ชานเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารถูกต้อง ก่อนจะเปิดเผยความจริงทั้งหมดให้ออสการ์ฟัง

หลังรู้ความจริง 1 ปี ออสการ์ ได้เดินทางกลับไปพบกับพ่อที่แท้จริงที่กัวเตมาลา ก่อนจะได้รับวีซ่าสหรัฐในฐานะผู้อพยพและเริ่มต้นชีวิตใหม่นับแต่นั้น

เรื่องราวในช่วงเวลา 30 ปีและการรับมือกับเรื่องโกหกของออสการ์จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามในโรงภาพยนตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image