ถนนดี คนไม่ตาย เหตุผลไม่ดี งงจนตาย โดย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

ข่าวเด่นวันสงกรานต์ไทยคือ สงกรานต์ประเดิม 33 ศพ เจ็บ 402 คน จากอุบัติเหตุทางถนน 409 ครั้ง

ชวนให้คิดถึงคำพูดทำนองว่า “ถนนดี คนขับรถประมาทจึงตาย” ซึ่งทำให้คิดต่อถึงเรื่องการเดินทางและเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะการคมนาคมเปลี่ยนโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมคือทางรถไฟ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คนอังกฤษสมัยวิคตอเรียระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เคยเกลียดกลัวรถจักรไอน้ำและทางรถไฟยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด

ไม่นานมานี้ เว็บไซต์ BBC History เสนอบทความเก่าปี 2010 ของเบคกี้ ฮอสกิน เรื่อง “Where History Happened: The Birth of the Railways” เล่าว่าก่อนทางการอังกฤษจะเปิดเส้นทางรถไฟสายหลักลิเวอร์พูล-แมนเชสเตอร์ในปี 1830 คนอังกฤษกลัวกันมากว่าหากนั่งรถไฟที่มีความเร็วสูงกว่ารถม้าหลายเท่า คงตายเพราะหายใจไม่ออก

Advertisement

หรืออย่างเบาๆ คือสายตาเสียเพราะต้องปรับให้เข้ากับการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของรถไฟ

ฮอสกินบอกว่า อีกประมาณ 20 ปีให้หลังกันเลยทีเดียว ก่อนที่ท่านเหล่านั้นซึ่งเป็นคนรุ่นคุณเทียดของคุณเทียดอีกหลายรุ่นจะเลิกกลัว และเข้าใจว่ารถจักรไอน้ำตลอดจนเส้นทางรถไฟนี่เอง ที่มีคุณูปการ เปลี่ยนโฉมหน้าอังกฤษให้ยิ่งใหญ่ กลายเป็นประเทศร่ำรวยมหาศาล

อันที่จริง มนุษย์ทุกยุคตั้งแต่ก่อนคริสต์สหัสวรรษที่ 1 จนถึงคริสต์สหัสวรรษที่ 3 ในปัจจุบัน ล้วนกลัวความเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นชิน

Advertisement

เพียงแต่ช่องทางการอธิบายเรื่องราวด้วยเหตุผลเพื่อสร้างความเข้าใจในยุคก่อนมีน้อยกว่ายุคปัจจุบัน

ความหวาดกลัวของผู้คนยุคก่อนจึงอาจยาวนานกว่า เพราะคำอธิบายอย่างสมเหตุสมผลเป็นที่รับรู้ช้ากว่า

แม้ความรู้สมัยใหม่เกี่ยวกับการทำงานของสมองจะบอกเราว่า ไม่จำเป็นที่ผู้ได้รับข้อมูลชุดเดียวกัน จะต้องคิดเหมือนกัน อีกทั้งบางครั้งมนุษย์ก็ไม่สนใจเหตุผลเท่ากับความเชื่อ แต่ความรู้ชุดเดียวกันก็บอกด้วยว่า หากมนุษย์ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีบรรยากาศของการถกเถียงแลกเปลี่ยน สมองของมนุษย์จะพร้อมเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ เพื่อทำความเข้าใจโดยเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเสมอ

ตัวอย่างล่าสุดคือเรื่องรถยนต์ไร้คนขับซึ่งริเริ่มและพัฒนาโดยกูเกิลตั้งแต่ปี 2009

เมื่อแรกเป็นข่าว คนทั่วไปกลัวรถยนต์ไร้คนขับมาก เพราะไม่แน่ใจในความปลอดภัย หรือกล่าวอีกอย่างคือไม่แน่ใจว่าเครื่องจักรจะเก่งกว่าคน (แม้ความจริงคนจะพลาดไม่น้อยกว่าเครื่องจักร) แต่ไม่กี่ปีผ่านไป ความหวาดกลัวก็ลดลงมากจนบริษัทรถยนต์รายใหญ่ๆ อีกหลายเจ้า กล้ากระโดดลงมาเล่นด้วย

เวลานี้หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาเช่น วอชิงตัน เนวาดา ฟลอริดา รวมถึงแคลิฟอร์เนีย ออกกฎหมายให้รถยนต์ไร้คนขับสามารถวิ่งเพื่อทดสอบบนท้องถนนได้แล้ว

สังคมไทยเป็นสังคมที่กลัวความเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ๆ ไม่น้อยไปกว่าสังคมอื่น แม้จะเหมือนเรากล้ามากหากได้วิ่งตามความทันสมัยของโลกซึ่งสะท้อนความหรูหราหน้าใหญ่ต่างๆ เช่นเรื่องของแฟชั่น แต่หาก “ความใหม่” นั้นเกี่ยวข้องกับ “หลักคิด” หรือ “ความเชื่อ” เรามักชะงักงัน

พูดขำๆ คือคนไทยหลายคนโดยเฉพาะบรรดาผู้นำที่มีผู้ติดสอยห้อยตามรับคำสั่งจนชิน ไปไม่เป็นเมื่อจำต้องคิดใหม่ ทำใหม่ จึงมักออกแนวงงๆ เช่น คิดว่าเพราะถนนดี คนจึงตายเพราะขับรถเร็ว แม้ว่าถนนโดยตัวของมันเองจะเป็นเพียงเส้นทางคมนาคม และถ้าขับรถประมาทไม่ว่าถนนจะดีหรือเลวก็อาจเกิดอุบัติเหตุถึงตายได้ทั้งนั้น เป็นต้น

เมื่อผู้นำงงๆ นำพาสังคมแบบงงๆ สังคมไทยเวลานี้จึงเหมือนเป็นสังคมถนนลูกรังในยุครถไฟความเร็วสูง คล้ายหลงทางอยู่ในคริสต์ศตวรรษที 19 ตั้งแต่สมัยที่อังกฤษเริ่มสร้างรถจักรไอน้ำและทางรถไฟ ไม่ตายก็ตกยุค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image