ผู้ว่าสตง.พร้อมคณะ เข้าพบ ผบ.ทร. เพื่อขอรายละเอียดสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ (คลิป)

ผู้ว่าสตง.” พบ “ผบ.ทร.” ข้อข้อมูลซื้อเรือดำน้ำ คาด 1 สัปดาห์ กระจ่าง หากพบข้อพิรุธ พร้อมยกข้อเสนอแนะ ให้ ทร.ยับยั้ง เน้นสอบจีทูจี หวั่นขายลมส่งลม เหมือนจำนำข้าว ยันไม่เกรงกลัวอิทธิพลการเมือง ขณะที่ เสธ.ทร.ยกคณะไปจีน จ่อเซ็นสัญญา

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 4 พฤษภาคม ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการระดับผู้ใหญ่ใน สตง.อีกจำนวน 5 คน เดินทางไปยังกองบัญชาการกองทัพเรือ (วังเดิม) เข้าพบ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ เพื่อขอรายละเอียดสัญญาการจัดซื้อโครงการเรือดำน้ำ ทั้งกระบวนการใช้งบประมาณ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำ TOR ขึ้นไป โดยการตรวจสอบเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งเป็นไปลักษณะของการทดสอบการใช้งบประมาณ บัญชีการจัดซื้อ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อจากนี้ในการดูแล โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
จากนั้นเวลา 09.30 น. นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สตง.ได้ขอพบ ผบ.ทร. เพื่อขอตรวจข้อมูลโครงการจัดหาเรือดำน้ำ อย่างเป็นทางการ โดยเรามีการจัดตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมา เพื่อตรวจโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้มีความรับผิดชอบในระดับสูง เทียบเท่าเป็นผู้อำนวยการสำนัก มีจำนวน 5 คน ที่รับผิดชอบในงานตรวจสอบทางด้านการจัดหาพัสดุ และบัญชีการเงิน และผู้ช่วยอีก 2 คน ส่วนให้เอกสารที่ตรวจสอบเป็นเอกสารลับ ที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ โดยตนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ1 สัปดาห์ในการตรวจสอบหลักฐาน ก็จะได้รับความกระจ่าง ตั้งแต่วันนี้ยอดหลังไป ตั้งแต่วันที่เอกสารเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทำตามระเบียบแบบแผนหรือไม่ และกฎหมายระเบียบข้อบังคับตามกฎเกณฑ์การจัดหา ตลอดจนการเปรียบเทียบข้อมูลคุณสมบัติเรือหลายประเทศ รวมทั้งเหตุผลที่เลือกเรือดำน้ำจีน

นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า การมาตรวจสอบครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก ทร.อย่างดี เนื่องจากเป็นเอกสารลับเราจะไม่นำเอกสารกลับไป แต่จะมาตรวจสอบที่ ทร.ทุกวันจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยยึดหลักตรวจสอบของ สตง. พร้อมทั้งนำประเด็นข้อสงสัยของสังคม เช่น นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ตั้งไว้ 7-8 ประเด็น ตลอดจนข้อชี้แจงของ ทร.ที่แถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ มาประกอบการพิจารณาด้วย

Advertisement

เมื่อถามว่า ระหว่างที่ตรวจสอบเอกสาร ทร.สามารถเซ็นสัญญากับจีน ได้หรือไม่ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ไม่มีข้อห้าม หาก สตง.มีข้อสังเกต เพื่อรักษาผลประโยชน์ จะให้ข้อแนะนำประกอบการตัดสินใจ ทร. เป็นระยะ เนื่องจาก ทร.รับผิดชอบการบริหาร

“ในฐานะที่ สตง.มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์เงินแผ่นดิน ถ้าระหว่างที่ ทร.กำลังเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำ ถ้าข้อสังเกตมีนัยสำคัญ ที่ควรนำไปประกอบการพิจารณาของ ทร. หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เราจะรีบแจ้งเตือน ทร.ทันที” นายพิศิษฐ์ กล่าว

นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ในอดีต สตง. เราเคยตรวจสอบการจัดซื้อโครงการต่างๆ ของ ทร. เช่น เรือฟริเกต เรือต.3 และโครงการการจัดซื้อเรือดำน้ำมือ 2 จากเยอรมัน 6 ลำ ซึ่งเราให้ข้อสังเกตไปสุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อ ดังนั้นเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าระหว่างการตรวจสอบมีเรื่องสำคัญที่จะตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด เราจะให้ข้อแนะนำประกอบการพิจารณา ส่วนจะระงับยับยั้งหรือไม่ ก็อยู่ในความรับผิดชอบของ ทร.

Advertisement

ผู้ว่าการ สตง. กล่าวอีกว่า เราจะดำเนินการตรวจสอบโครงการการจัดซื้อเรือดำน้ำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับการส่งมอบ เรื่องจากเป็นงบประมาณผูกพัน หากเซ็นสัญญาเมื่อไหร่เราจะไม่ละเลยการตรวจสอบ เช่นกระบวนการจัดซื้อได้ทำแล้ว การจ่ายเงินงวดเป็นไปตามเนื้องาน หรือไม่ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ไม่บรรลุตามข้อสัญญา ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ สตง.อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสาร พร้อมทั้งย้ำว่าเจ้าหน้าที่ สตง.ทุกคนมีประสบการณ์ เพราะผ่านการตรวจสอบโครงการต่างๆ ของ ทร.มาแล้ว โดยทราบว่ามีการจ่ายเงินไปงวดแรก 700 ล้านบาท และปีต่อไปจะเป็นงบผูกพันไม่เกิน 2 พันกว่าล้านบาท

“ผมยืนยันว่า สตง.มีอิสระในการตรวจสอบ จากผลงานที่ผ่านมา เห็นได้ว่าไม่มีเรื่องใดที่ สตง.จะกลัวอิทธิพลทางการเมือง ทุกอย่างเราดำเนินการตามหลักฐานข้อเท็จจริง ทั้งการเงิน การคลัง และงบประมาณ ตลอดจนการทำสัญญารัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาทั้ง การซื้อขายมันสำปะหลัง แบบจีทูจี โครงการรับจำนำข้าวซึ่งเป็นเท็จหมด ดังนั้น จึงต้องให้ความละเอียดรอบคอบ แต่โครงการนี้ไม่ใช่ขายลมส่งลมกัน ดังนั้นจะต้องมีตัวของที่เป็นเรือดำน้ำ” นายพิศิษฐ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image