คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน : ความงามกำเนิดจากความคิด

การมองเห็นความสวยงามของสิ่งต่างๆ รอบตัวฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องของความรู้สึกหรืออารมณ์ค่ะ มีวิทยานิพนธ์ชิ้นหนึ่งที่ต้องไปเป็นกรรมการสอบ หัวข้อว่าด้วยความรู้สึกของคนรอบข้างต่อผู้ป่วยโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่เป็นโรคติดต่อ แต่มีความไม่สวยงามโดยลักษณะของโรคอยู่ในตัว นั่นคือผิวหนังบางส่วนจะมีสีไม่สม่ำเสมอกัน ทำให้คนที่ไม่รู้จักโรคอาจจะไม่กล้าอยู่ใกล้หรือสัมผัสร่างกายของผู้ป่วย ผลการศึกษาน่าสนใจมาก เพราะพบว่าการให้ความรู้แก่คนรอบข้างเกี่ยวกับตัวโรคสัมพันธ์กับทัศนคติที่มีต่อผู้ป่วยโรคนี้ด้วย หมายถึงยิ่งมีความรู้เรื่องโรคนี้มากก็จะยิ่งมีทัศนคติที่ดีมากขึ้นต่อผู้ป่วย นี่คือกรณีใช้เหตุผลเพื่อเปลี่ยนร้ายเป็นดีในด้านทัศนคติ

นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเข้าสังคมไม่ค่อยเก่งนักมาปรึกษาด้วยอาการซึมเศร้าค่ะ สาเหตุที่เศร้าเพราะมีปัญหากับเพื่อนผู้หญิงที่แอบชอบอยู่ ในที่สุดนักศึกษาหนุ่มคนนั้นจึงตัดสินใจมองหาความรักกับสาว 2D หรือสาวในการ์ตูนแทนค่ะ ในเวลาเดียวกันนั้นก็เลือกที่จะถอยห่างจากสังคมมนุษย์ไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าสาวในการ์ตูนไม่มีปัญหาหรือปฏิเสธเขา กรณีนี้ดูเหมือนจะใช้เหตุผลเปลี่ยนจากดีเป็นแย่ลงในด้านการเข้าสังคม

ความชอบในความสวยงามที่ต่างกันอาจจะมาจากความเข้าใจนิยามความงามที่ต่างกันก็ได้ค่ะ ที่ฉุกคิดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะได้อ่านการ์ตูนเก่าพิมพ์ใหม่ “Mobile Police Patlabor” เรื่องนี้เขียนขึ้นเป็นหนังสือการ์ตูนในปี 1988 คือเกือบ 30 ปีมาแล้ว ในเรื่องกล่าวถึงอนาคตช่วงปีสองพันกว่า (ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านมาแล้ว) มีการใช้หุ่นยนต์ในงานก่อสร้างอย่างแพร่หลาย หุ่นยนต์เหล่านี้เรียกว่า “เลเบอร์” แต่ก็มีหลายคนที่นำไปใช่ก่อวินาศกรรมด้วย “โนอา” นางเอกของเรื่องเป็นตำรวจใหม่ที่ได้บรรจุเข้าหน่วยที่ปฏิบัติการด้วยหุ่นเลเบอร์รุ่นล่าสุด เธอชอบ “อินแกรม” เลเบอร์ของตัวเองมากถึงขนาดเห็นความงามในหุ่นยนต์แข็งๆ และรักเสียจนเวลาต่อสู้ก็จะพยายามระวังไม่ให้อินแกรมมีรอยขีดข่วน นิสัยนี้ทำให้เธอดูน่ารักค่ะ ผู้หญิงควรจะชอบของกระจุกกระจิกสวยงามหรือต่อให้เป็นทอมบอยอย่างเธอก็ไม่ควรจะไปรักชอบเครื่องจักรที่ไม่ได้ดูน่ารักใคร่เหมือนตุ๊กตา เวลามีคนถามว่าเธอรักอินแกรมเพราะอะไร เธอไม่ได้บอกตรงๆ ว่าเพราะมันดูสวยงาม แต่เป็นเพราะคุณสมบัติหลายอย่าง ทั้งน้ำหนักเบา ดูเหมือนคนมากกว่าเลเบอร์รุ่นอื่นๆ และสามารถใช้อาวุธอย่างปืนพกได้เหมือนคนจริงๆ เพราะมีข้อต่อนิ้วละเอียดถ้าเทียบกับเลเบอร์ในงานก่อสร้างรุ่นอื่นที่ดูเหมือนเอาปั้นจั่นกับรถไถมาติดขาเสียมากกว่า เธออธิบายความน่ารักของหุ่นยนต์ด้วยเหตุผลด้านคุณสมบัติเช่นกัน

เอาล่ะค่ะ นักอ่านการ์ตูนส่วนใหญ่ก็มีแนวคิดเรื่องความงามไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านอยู่แล้ว ถ้าชอบเหมือนคนทั่วไปอาจจะไม่ต้องพึ่งพาการ์ตูนแนวเปิดจินตนาการแบบนี้ นักปรัชญาเลื่องชื่อ “อิมมานูเอล คานต์” ได้เสนอทฤษฎีที่โด่งดังของเขาเกี่ยวกับความงามว่าความงามเป็นเรื่องของคนมอง พูดง่ายๆ คือไม่มีของสิ่งใดที่งามได้โดยกำเนิด แต่เมื่อคนรอบข้างดูแล้ว “คิด” ว่าสิ่งนี้งามเพราะอะไรก็จะ “รู้สึก” ได้ว่าสิ่งนี้งาม เป็นการมองเห็นความงามในระดับความคิด คือใช้เหตุและผลมากกว่าความรู้สึก ถ้าแนวคิดนี้เป็นจริงก็จะอธิบายว่าเพราะเหตุใดสาวไทยจึงอยากมีผิวขาว ทั้งที่บางคนขาวซีดจนดูเหมือนคนป่วยมากกว่า คำตอบตามทฤษฎีของคานต์ก็คือ เพราะคนรอบข้างมีความคิดว่าผิวขาวคือสวย ไม่ใช่เพราะรู้สึกว่าผิวขาวแบบนี้สวย ด้วยเหตุจากมุมมองและการตีความต่างกันจากอิทธิพลหลายอย่างซึ่งมักเป็นอิทธิพลทางสังคมเช่นค่านิยมในสังคมนั้น ความงามจึงเป็นเรื่องที่ไม่สากล อาจยกอีกตัวอย่างจากงานศิลปะเลื่องชื่อหลายงานที่บางคนเข้าใจความหมายอย่างลึกซึ้งก็จะเห็นว่างาม ในระหว่างที่บางคนซึ่งไม่เข้าใจก็อาจจะเห็นเป็นแค่สีเลอะๆ บนผืนผ้าใบเท่านั้น

Advertisement

งานวิจัยจากภาควิชาจิตวิทยา ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ต้องการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ว่าความงามมีที่มาจากความคิดจริงหรือไม่ การศึกษาทำในคน 62 คนโดยให้คะแนนความรู้สึกชอบภาพต่างๆ ที่ได้เห็น ทั้งภาพสวยงามกับภาพที่เป็นกลาง เช่น โต๊ะเก้าอี้ในแคตตาล็อก ให้อมลูกกวาด และให้จับตุ๊กตาหมี หลังจากนั้นจะให้อาสาสมัครใช้ความคิดอย่างหนักเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจซึ่งจะไปรบกวนระบบความคิดของอาสาสมัคร ผลพบว่าภาพในกลุ่ม “ไม่สวย” มีคะแนนคงเดิมขณะทำกิจกรรมความคิด ในระหว่างที่ภาพกลุ่ม “สวย” กลับได้คะแนนความสวยลดลงขณะที่กำลังใช้ความคิดเรื่องอื่นอยู่ การศึกษานี้จึงสนับสนุนทฤษฎีของคานต์ว่าความงามต้องอาศัยความคิดด้วย

งานวิจัยที่สองยิ่งน่าสนใจค่ะ การอมลูกกวาดถือเป็นความสวยงามได้หรือไม่  ผลพบว่าคนที่ตอบว่าการอมลูกกวาดจัดเป็นความสวยงาม เพราะการอมลูกกวาดทำให้ย้อนระลึกไปถึงประสบการณ์ดีๆ ในวัยเด็กที่มีความหมายกับเขา นี่คือการตีความในระดับความคิดค่ะ ถ้าเป็นความรู้สึกก็ควรเกิดขึ้นจากประสบการณ์ ณ ปัจจุบัน เช่น การอมลูกกวาดทำให้รู้สึกหวานหอมและอร่อยมากกว่าที่จะบอกว่าลูกกวาดมีความหมายพิเศษ

การเปลี่ยนความรู้สึกจึงทำได้ด้วยการให้ความรู้ค่ะ แต่ยังไม่มีงานวิจัยใดรองรับว่าความรู้สึกที่เปลี่ยนไปจะคงอยู่ได้นานขนาดไหน นักโฆษณาสามารถใช้ประโยชน์นี้ด้วยการบอกคุณประโยชน์มหาศาลของผลิตภัณฑ์ให้เกิดค่านิยมใหม่ได้ค่ะ เช่น รักแร้และขาวแปลว่าสวย การพาพ่อแม่ไปกินอาหารในร้านแห่งหนึ่ง หรือซื้อผลิตภัณฑ์บางอย่าง แปลว่ารักและห่วงใยพ่อแม่

Advertisement

ส่วนผู้บริโภคก็ต้องตั้งสติให้ดีค่ะว่าสิ่งที่คนอื่นบอกว่าสวยงามเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงการให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของเราให้ไปในทางดีหรือร้ายค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image