เปิดข้อเสนอเพิ่มคำสั่ง คสช. ยันอีอีซียังต้องทำ”อีไอเอ”

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม หลังจากมีกระแสข่าวระบุว่า เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกนำเสนอมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยให้งดการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอนั้น ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบเอกสารข้อเสนอดังกล่าวอีกครั้งพบว่า มีข้อเสนอให้ปรับเพิ่มคำสั่ง คสช. ที่2/2560 จำนวน 3 เรื่อง โดย 1 ใน 3 เรื่องดังกล่าวมีข้อเสนอให้เพิ่มเติมให้การพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นแบบเร่งรัด (fast track) กระบวนการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ออกแบบไว้ใช้กับโครงการทั่วไป จึงใช้เวลานานและเนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตมีน้อย รวมทั้งการให้ผลตอบแทบกับคณะกรรมการผู้ชำนาญการค่อนข้างต่ำทำให้ใช้เวลาค่อนข้างมากในการพิจารณา จึงเป็นกระบวนการที่ไม่เหมาะสมสำหรับโครงการเร่งด่วนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงจำเป็นต้องกำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมี “กระบวนการทำงานแบบเร่งรัด (fast track)” เฉพาะโครงการสำคัญและเร่งด่วนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยมีสาระสำคัญคือ1.ขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการสำคัญและเร่งด่วนของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นการเฉพาะ

2.ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การเรีรยกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติมจาก สกรศ.หรือผู้ขออนุญาต เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษแก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ 3. ขอให้ใช้เวลาพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลาไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงาน และ4.ในกรณีที่ไม่มีผู้ชำนาญการ หรือมีน้อย (กว่า 3 ราย) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีหน้าที่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่มีประสบการณ์ทำนองเดียวกับกิจการนั้น เป็นผู้ชำนาญการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อเสนอดังกล่าวจึงมีการเพิ่มเติมในข้อ 12/1 ความว่า การดำเนินโครงการหรือกิจการใดภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกบรรดาที่ต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชนให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เพื่อพิจารณารายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการนั้นเป็นการเฉพาะ กับให้มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บ ค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติมจาก สกรศ.หรือผู้ขออนุญาต แล้วแต่กรณีเพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนพิเศษแก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด

Advertisement

ในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับรายงานที่ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่ไม่มีผู้ชำนาญการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมใด หรือมีแต่น้อยกว่า 3 ราย (3 ราย) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีหน้าที่อนุญาตให้มีผู้ชำนาญการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นโดยเร็ว โดยมิให้นำความในมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาใช้บังคับ และในโครงการหรือกิจกรรมที่มีวงเงินดำเนินการเกิน 1000 ล้านบาท คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะอนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่มีประสบการณ์และผลงานด้านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะทำนองเดียวกับโครงการหรือกิจกรรมนั้นในต่างประเทศ เป็นผู้ชำนาญการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image