ที่ดินใกล้รถไฟฟ้าอ่วม คลังจ่อเก็บภาษีลาภลอย 5% กำหนดรัศมี 2-3 กิโลเมตรนับจากสถานี

แฟ้มภาพ


นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยความคืบหน้าของร่างกฎหมายเก็บภาษีบนผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการลงทุนของรัฐหรือภาษีลาภลอยว่า ขณะนี้ สศค.อยู่ระหว่างการศึกษาและใกล้จะแล้วเสร็จ โดยติดในบางประเด็นที่ยังหารือไม่ตกผลึก แต่คาดว่า จะหาข้อสรุปได้เร็วๆนี้ จากนั้น จะเสนอระดับนโยบายพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 


นายกฤษฎา กล่าวว่า ในเบื้องต้นกำหนดอัตราภาษีไว้ที่ 5% และหลักของการจัดเก็บภาษี คือ จัดเก็บจากมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่โครงการลงทุนของรัฐเกิดขึ้น ยกตัวอย่าง ราคาที่ดินหรือทรัพย์สินก่อนที่จะเกิดโครงการลงทุนอยู่ที่ 100 ล้านบาท เมื่อมีรถไฟฟ้าผ่านที่ดินขยับขึ้นไปที่ 150 ล้านบาท ส่วนที่เพิ่ม 50 ล้านบาทถูกเก็บภาษีหากมีการขายเปลี่ยนมือ ซึ่งการเปลี่ยนมือจะต้องไม่ใช่เป็นลักษณะการโอนมรดก ซึ่งกรณีการโอนมรดกนั้น จะเข้าข่ายการเสียภาษีมรดกแทน โดยการคิดภาษีเริ่มในโครงการลงทุนที่เกิดขึ้นหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้


นายกฤษฎา กล่าวว่า พื้นที่อยู่ข่ายการจัดเก็บภาษีนั้นกำหนดไว้เป็นรัศมี ยกตัวอย่าง กรณีรัฐลงทุนรถไฟฟ้า คิดจากสถานีจอดรถออกไป เบื้องต้น กำหนดระยะทางในรัศมี 2-3 กิโลเมตร จึงจะเสียภาษี ส่วนข้อศึกษาที่ยังไม่ตกผลึกยังมีหลายประเด็น อาทิ ทรัพย์สินหรือที่ดินที่อยู่ในรัศมีการลงทุน แต่ไม่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนนั้น หรือ การลงทุนนั้น ยังทำให้ทรัพย์สินที่มีอยู่เกิดการด้อยค่า กรณีนี้จะคิดอย่างไร เป็นต้น โดยเรื่องนี้ ทางสศค.จะต้องคิดอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ทรัพย์สินของคนเหล่านี้ ได้รับผลกระทบ


แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปัจจุบันรัฐบาลมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต 20 โครงการ มีมูลค่ารวม 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้บางโครงการได้เริ่มเดินหน้าแล้ว เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร ,ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงินโครงการ 2.02 หมื่นล้านบาท ลงนามในสัญญาแล้ว 5 ตอน จากทั้งหมด 13 ตอน เป็นต้น

Advertisement


แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการรถไฟฟ้านั้น ในปีนี้จะมีการลงนามในสัญญาและประมูลโครงการ สามสาย คือ สายสีส้ม,เหลืองและชมพู สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21 กิโลเมตร วงเงินโครงการ 1.10 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงินโครงการ 5.66 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กิโลเมตร วงเงิน 5.46 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า สำหรับราคาประเมินที่ดินบริเวณแนวรถไฟฟ้าที่กรมธนารักษ์ประกาศใช้ตั้งแต่ต้นปี2559-2562จำนวน 6 สายนั้น ราคาโดยรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 31.47% เมื่อเทียบกับราคาประเมินเฉลี่ยระหว่างปี 2555-2558 โดยราคาประเมินที่ปรับสูงสุดอยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวบริเวณถนนราชพฤกษ์ราคาประเมินเพิ่ม 122.22% จาก 9 หมื่นบาทต่อตารางวา เป็น 2 แสนบาทต่อตารางวา


QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image