สร้างประวัติศาสตร์ ‘เกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี’ คนไทยคนแรกนั่งผู้พิพากษายูเอ็น

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทย เมื่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ช1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea – UNCLOS 1982) หรืออันคลอส สมัยที่ 27 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้ลงคะแนนเลือกนายเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี เอกอัครราชทูตไทยประจำรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้สมัครในนามประเทศไทย ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (International Tribunal for the Law of the Sea: ITLOS) โดยมีวาระตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560-30 กันยายน 2569

การที่ท่านทูตเกรียงศักดิ์ได้รับเลือกในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะมาจากความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายทะเลอย่างหาตัวจับยากของเจ้าตัว แต่ในทางหนึ่งก็ถือเป็นความสำเร็จของการรณรงค์หาเสียงให้กับท่านทูตเกรียงศักดิ์ของไทย และยังทำให้ท่านทูตเกรียงศักดิ์กลายเป็นคนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เข้าไปนั่งเก้าอี้ผู้พิพากษาในกลไกตุลาการของยูเอ็น ทั้งยังเป็นคนแรกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ หรืออันคลอสอีกด้วย

จะว่าไปท่านทูตเกรียงศักดิ์ไม่ใช่คนหน้าใหม่ในเวทีการทูตระดับพหุภาคี เพราะเมื่อปี 2555-2557 ท่านทูตเกรียงศักดิ์ก็เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (International Law Commission : ILC) มาแล้ว โดยก่อนหน้าที่จะไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำรัสเซีย ท่านทูตเกรียงศักดิ์ยังเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำออสเตรเลีย และอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศอีกด้วย

สำหรับศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ถือเป็นกลไกตุลาการอิสระของสหประชาชาติที่มีอำนาจตัดสินข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับอันคลอส ประกอบด้วยผู้พิพากษาจากประเทศต่างๆ รวม 21 คน ในการเลือกตั้งผู้พิพากษาศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ วาระปี 2561-2569 คราวนี้มีตำแหน่งว่างทั้งหมด 7 ตำแหน่ง โดยเป็นตำแหน่งของกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก 2 ตำแหน่ง ขณะที่มีผู้สมัครในกลุ่มนี้จาก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย อินเดีย และเลบานอน โดยอินเดียได้รับการเลือกตั้งในรอบแรกด้วยคะแนนเสียง 120 คะแนน ขณะที่ไทยได้รับเลือกตั้งในรอบที่สองด้วยคะแนนเสียง 110 คะแนน ส่วนผู้สมัครจากภูมิภาคอื่นๆ ที่ได้รับเลือกตั้งในคราวเดียวกันได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกา 2 ตำแหน่ง คือ แอลจีเรียและการ์บูเวร์ดี ภูมิภาคยุโรปตะวันออก 1 ตำแหน่ง คือรัสเซีย ภูมิภาคละตินอเมริกา 1 ตำแหน่ง คือ ปารากวัย และภูมิภาคยุโรปตะวันตกและอื่นๆ 1 ตำแหน่ง คือเนเธอร์แลนด์

Advertisement

น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า การเข้ารับตำแหน่งของท่านทูตเกรียงศักดิ์นับเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร โดยเป็นครั้งแรกที่มีคนไทยดำรงตำแหน่งสำคัญในกลไกตุลาการระดับโลก แสดงให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมหลักนิติธรรมด้านกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับแนวโน้มของประชาคมระหว่างประเทศที่ให้ความสาคัญกับประเด็นทางทะเลมากขึ้น อาทิ การกำหนดอาณาเขตทางทะเล การทำประมงอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อมทางทะเล พาณิชย์นาวี การอนุรักษ์และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลนอกเขตพื้นที่ที่รัฐมีอำนาจอย่างยั่งยืน การทำเหมืองแร่ในทะเลลึก และมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ รวมทั้งการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายที่ 14 ของเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ทั้งยังจะเป็นประโยชน์ในการสั่งสมและถ่ายทอดองค์ความรู้รวมถึงประสบการณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรไทยในเวทีระหว่างประเทศต่อไปด้วย

ปัจจุบันมีคนไทยที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์การระหว่างประเทศอีก 6 ตำแหน่ง โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ได้ทูลเกล้าถวายตำแหน่งทูตพิเศษโครงการ Zero Hunger แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญาสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อดำเนินกิจกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม

Advertisement

ขณะที่นายมณเฑียร บุญตัน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ (ซีอาร์พีดี) วาระปี 2560-2563 ซึ่งนับเป็นการดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการดังกล่าวเป็นวาระที่ 2 ติดต่อกัน ด้าน ศ.วิทิต มันตาภรณ์ ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระของสหประชาชาติด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2559-2564 นอกจากนี้ ยังมี น.ส.อารีวรรณ ฮาวรังษี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การโทรคมนาคมแหง่เอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2561 และสุดท้ายคือนายวิโรจน์ สุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ติดต่อกันรวม 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 2553-2562

ยังไม่รวมถึงตำแหน่งในองค์การระหว่างประเทศอีกมากที่ไทยเป็นอยู่ในขณะนี้อีกราว 7 ตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในกรอบความร่วมมือต่างๆ หลากมิติ และนับเป็นการแสดงความรับผิดชอบของไทยต่อเวทีความร่วมมือพหุภาคีที่น่าภาคภูมิใจ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image