“บัวแก้วสัญจร” เยี่ยมเยือน ร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์ (จบ)

ในระหว่างการเดินทางเยือนจ.ร้อยเอ็ด ของคณะ”บัวแก้วสัญจร”ที่นำโดยท่านรัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมและพูดคุยกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของวิสาหกิจชุมชน 30 แห่งใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ มุกดาหาร สกลนคร ศรีสะเกษ และมหาสารคาม

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสานสามารถผลิตข้าวอินทรีย์ซึ่งได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลทั้งจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น มีทั้งข้าวหอมมะลิ ข้ามหอมนิล ข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยผลผลิตทั้งหมดผลิตเพื่อการส่งออกสูงถึงร้อยละ 90 สะท้อนให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของไทยเป็นที่ยอมรับและได้มาตรฐานระดับโลก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลจากความมุ่งมั่นตั้งใจของเกษตรกรที่รู้ว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของตนเองได้อย่างไรอีกด้วย

การเดินทางไปยังภาคอีสานของไทยของคณะบัวแก้วสัญจรครั้งนี้ยังรวมถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่ง นายชัยสิริ    อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นหัวหน้าคณะบัวแก้วสัญจรเปิดการบรรยายให้กับข้าราชการในท้องที่ ภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์

ท่านที่ปรึกษาชัยสิริกล่าวว่า บัวแก้วสัญจรเป็นโครงการที่สำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในประเด็นด้านต่างประเทศแก่สาธารณชนในทุกพื้นที่ของไทย โดยเฉพาะประเด็นที่อยู่ในความสนใจของหน่วยงานและชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะงานของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และการดำเนินชีวิตของทุกคน

Advertisement

การทูตยุคใหม่ของไทยเป็นการดำเนินการภายใต้นโยบาย 5เอส ประกอบด้วย Security โดยให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงทั้งที่เป็นภัยคุกคามแบบเดิมและภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ๆ Sustainability การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกด้านซึ่งรวมถึงการค้าและการลงทุน Standard ยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานต่างๆ สู่ระดับสากล อาทิ ด้านประมง การบินพลเรือน แรงงาน และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน Status ยกระดับสถานะของประเทศในเวทีโลกและศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก และ Synergy คือการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐเพื่อขับเคลื่อนการต่างประเทศ ซึ่งโครงการบัวแก้วสัญจรก็เป็นตัวอย่างหนึ่งภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ในระหว่างที่อยู่ในจ.กาฬสินธุ์ ท่านที่ปรึกษาชัยสิริยังได้เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนชุมชนนาจารย์วิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือโรงเรียนยุวทูตความดี โดยได้มีการทำกิจกรรมส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับอาเซียนและภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศให้กับเด็กนักเรียน นอกจากนี้ยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคเอกชนของจังหวัด ทำให้ได้ทราบว่ากาฬสินธุ์อยากจะผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนพิพิธภัณฑ์สิรินธร หรือพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ที่อ.สหัสขันธ์ เป็นมรดกโลก

Advertisement

เนื่องจากพิพิธภัณฑ์สิรินธรถือเป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ที่สมบูรณ์แบบและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ผู้คนทั่วไปยังอาจไม่ทราบข้อมูลดังกล่าวมากนัก ภาคเอกชนของกาฬสินธุ์หวังว่าหากสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ ก็จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องได้อีกมาก

นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เล่าให้ฟังว่า จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดขนาดกลางแต่มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะสิ่งที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของจังหวัดคืออาจจะพูดได้ว่ากาฬสินธุ์เป็นต้นกำเนิดของ”ศาสตร์พระราชา”ที่โดดเด่นที่อาจไม่เคยถูกนำเสนอมากนัก

สุวิทย์ คำดี

ในปี 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จมาประทับยังพระตำหนักภูพาน จ.สกลนคร ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ผ่านมาที่อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าข้าวที่ชาวบ้านปลูกรวงเหี่ยวหักลีบ เมื่อมองจากข้างบนเห็นว่ามีโขดหิน พระองค์จึงเสด็จมาที่อ.เขาวง ทรงพบกับผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านราว 6-7 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ จากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังโขดหินซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะสร้างแหล่งน้ำ ถนนเป็นดินลูกรังเต็มไปด้วยหลุมบ่อ รถยนต์พระที่นั่งโยกไปโยกมา ทรงตรัสว่าเหมือนเราอยู่ในดิสโก้ ถนนสายนี้จึงถูกเรียกว่า”ถนนดิสโก้”จนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินต่อไป เจอลวดหนามของชาวบ้านที่ทำล้อมที่ไว้ ทรงบอกกับทหารว่าไม่ต้องตัดลวดหนามดังกล่าว แต่เสด็จลอดผ่านลวดหนามนั้นไป อีกราว 100 เมตรเป็นทางตันเสด็จไปไหนต่อไม่ได้ ทรงประทับที่ใต้ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันทั้งต้นมะม่วงและรั้วลวดหนามนั้นยังคงอยู่

พระองค์ทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ จากนั้นทรงสั่งให้สร้าง “อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน” หลังก่อสรางอ่างเก็บน้ำซึ่งตั้งอยู่ชายเขา พบว่าไม่มีน้ำมาเติม พระองค์ทรงทอดพระเนตรจากแผนที่และพระราชทาน”อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์” ซึ่งเป็นระบบชลประทานวางท่อใต้ดินเหมือนในต่างประเทศเพื่อนำน้ำมาเติมในอ่างเก็บน้ำ

พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ซึ่งทำให้ อ.เขาวงมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถทำเกษตรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว และยังเป็นแหล่งผลิตข้าวเหนียวเขาวง ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ ของกาฬสินธุ์ เพราะดินในของอ.เขาวงมีธาตุอาหารจากเทือกเขาภูพาน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งมหามงคลซึ่งทางจังหวัดกำลังจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามรอยเสด็จฯ เพื่อการเรียนรู้ตามรอยศาสตร์พระราชา ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างเขื่อนลำปาว เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทำให้พื้นที่เกษตรในกาฬสินธุ์ไม่ขาดน้ำ ทั้งยังทำให้กาฬสินธุ์มีปริมาณน้ำมากพอที่จะทำนาปรังได้มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนได้ทำให้กาฬสินธุ์ได้ชื่อว่าเป็นเมือง”ดินดำ น้ำชุ่ม”อีกด้วย

ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงพระเมตตาพระราชทาน”สะพานเทพสุดา”ข้ามเขื่อนลำปาวเชื่อมอ.สหัสขันธ์กับอ.หนองกุงศรี ซึ่งเป็นสะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และกลายเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด เช่นเดียวกับหาดดอกเกด ในเขื่อนลำปาว ที่ในช่วงสงกรานต์มีผู้มาท่องเที่ยวมากถึงวันละเป็นหมื่นคน

นอกจากความอุดมสมบูรณ์และโดดเด่นในภาคการเกษตร เอกลักษณ์ของจ.กาฬสินธุ์ที่เป็นที่รู้จักคือวัฒนธรรมภูไท ผ้าไหมแพรวาที่บ้านโพน อ.คำม่วง ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมและจัดฝึกอบรมให้กับประชาชนในอ.คำม่วง และขณะนี้ผ้าไหมแพรวาก็ได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอของกาฬสินธุ์ด้วยเช่นกัน

ท่านผู้ว่าฯสุวิทย์มุ่งมั่นที่จะนำ”ศาสตร์พระราชา”ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดในทุกมิติ เริ่มต้นจากการที่ข้าราชการทุกคนต้องเป็นแบบอย่างในการใช้ศาสตร์พระราชาเป็นวิถีชีวิต ลดการใช้จ่ายเกินตัวและหนี้สินลง ให้รณรงค์วัฒนธรรมที่ดีงาม พร้อมกับรณรงค์ใส่เสื้อจากผ้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ของจังหวัด ที่สำคัญต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของสถานบันครอบครัว และสร้างวินัยให้คนตั้งแต่เด็กเพื่อให้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยต่อไป

สำหรับโครงการบัวแก้วสัญจรนั้น ท่านผู้ว่าฯสุวิทย์เห็นว่า เป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการสร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับภูมิภาค โดยเฉพาะส่วนราชการและพี่น้องประชาชน เพราะนอกจากจะเป็นการเผยแพร่บทบาทและภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาคด้วย เพราะพบว่าปัจจุบันประชาชนที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศทั้งเพื่อการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา และการท่องเที่ยว ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้บริการของกระทรวงการต่างประเทศ การที่กระทรวงการต่างประเทศได้นำโครงการบัวแก้วสัญจรมาที่จ.กาฬสินธุ์ จึงเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image