รัฐระดมสรรพกำลังกู้ชีพเอสเอ็มอี ระวังหนี้เน่าทำเศรษฐกิจไทยป่วย!!!

ภายในเดือนกรกฎาคมนี้น่าจะมีข่าวดีสำหรับ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก หรือกำลังต้องการส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศ เพราะรัฐบาลเตรียมออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมŽ ช่วยเหลือเอสเอ็มอี

๐รบ.เล็งขยายวงเงินค้ำประกัน บสย.เป็น 30%
เพราะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ได้มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับกระทรวงการคลัง ธปท. และสมาคมธนาคารไทย แก้ไขหลักเกณฑ์ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุนได้ 30% จากเดิม 23.75% ต่อปี ที่ธนาคารพาณิชย์มองว่าเสี่ยงเกินไป ให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคมนี้ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

เนื่องจากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559-มิถุนายน 2560 การดำเนินโครงการดังกล่าวล่าช้า มีการอนุมัติค้ำประกันได้เพียง 17,000 ล้านบาท จากวงเงินค้ำประกันทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท ประกอบกับอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี เป็นภาระต้นทุนของเอสเอ็มอีทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้คล่องตัว

ประเด็นนี้รัฐบาลจึงเตรียมพิจารณาว่าจะยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันได้อย่างไร หากเพิ่มหลักค้ำประกันเป็น 30% ส่วนต่าง 7% หรือคิดเป็นวงเงิน 7,000 ล้านบาท จากวงเงินโครงการ 1 แสนล้านบาทจะให้หน่วยงานใดเข้ามาอุดหนุนส่วนต่างที่เกิดขึ้น ซึ่งการขยายวงเงินค้ำประกันก็เพื่อเร่งระบายวงเงินค้ำประกันที่เหลือ 83,000 ล้านบาท ให้หมดภายในปีนี้

Advertisement

๐ช่วยเอสเอ็มอีทำเฮดจิ้ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมของรองนายกรัฐมนตรีสมคิดยังสั่งการให้หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมเร่งหาแนวทางให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) มากขึ้น เพราะอาจได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่มีการคาดการณ์ว่าจะผันผวนถึงสิ้นปี

๐รมว.เตรียมหารือผู้ว่าการแบงก์ชาติสัปดาห์นี้
ประเด็นดังกล่าว นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่าจะเร่งหาข้อสรุปในการจัดทำมาตรการ โดยสัปดาห์นี้จะหารือร่วมกับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะเร่งสรุปมาตรการภายใน 2 สัปดาห์ ต้องติดตามว่าหน่วยงานต่างๆ จะส่งการบ้านได้ทันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามว่ารัฐบาลเห็นสัญญาณอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์ของเอสเอ็มอี จึงรุกคืบเร่งออกมาตรการ

๐ส่งออกสวยหรู แต่เอสเอ็มอียังแย่
ทั้งที่ตัวเลขการส่งออกอย่างเป็นทางการของไทยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม-พฤษภาคม 2560) การส่งออกไทยขยายตัวถึง 7.2% สูงสุดในรอบ 6 ปี ทำให้กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้จะเติบโตได้ 5% ตามเป้าที่ตั้งไว้ ขณะที่ กกร.ก็มีมติเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมเห็นชอบให้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกปี 2560 เป็น 3.5-4.5% จากเดิมที่วางไว้ว่าจะขยายตัว 2-3.5% แต่หากจับอาการของเอสเอ็มอีที่ผลิตสินค้าส่งออก เมื่อมีการสอบถามหลายรายได้ข้อมูลตรงกันว่า ยอดขายหลักๆ เป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะการส่งออกของเอสเอ็มอีนั้นยังคงติดปัญหาด้านสินเชื่อในการประกอบธุรกิจ และยังเจอปัญหาเงินบาทผันผวน

Advertisement

๐เปิดมาตรการช่วยเอสเอ็มอีรบ.ประยุทธ์
อย่างไรก็ตาม บางฝ่ายมองว่าการดำเนินการควรมีความรอบคอบ เพราะหากปัญหาหนี้เสีย ไม่เพียงรัฐบาลที่รับภาระ แต่หมายถึงประเทศ เพราะหากนำมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ผ่านมามากางดู พบว่า จัดเต็มŽ และบางมาตรการก็มีความแคลงใจว่ามันสำเร็จจริงหรือไม่???

มาตรการใหญ่เริ่มดำเนินการช่วงปลายปี 2558 รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ครั้งนั้น ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินและสถาบันการเงินรวม 18 แห่ง จัดทำ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีŽ วงเงิน 100,000 ล้านบาท ลักษณะการปล่อยกู้ คือ เฟิร์สคัมเฟิร์สเสิร์ฟ หรือขอก่อนได้ก่อน

สินเชื่อนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี ปล่อยกู้โดยตรงให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่าง วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท สามารถรักษาสภาพการจ้างงานได้ประมาณ 240,000 ราย หรือเฉลี่ย 4 คนต่อ 1 รายธุรกิจ ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 1.94 ล้านล้านบาท

๐สินเชื่อแสนล้านหมดเร็ว เอกชนขอเพิ่ม
ใช้เวลาดำเนินการมาตรการไม่ถึง 3 เดือน สินเชื่อดังกล่าวก็หมดลงทันที จนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีร้องเรียนว่า เงินส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับธุรกิจขนาดกลางซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทขนาดใหญ่ กกร.จึงมีมติเรียกร้องให้รัฐบาลออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำรอบใหม่อีก 100,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 4% เพราะเอสเอ็มอีรายย่อยจำนวนมากไม่ได้รับสินเชื่อในรอบแรก จึงต้องการให้จำกัดวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10-15 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้รายละไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อกระจายสู่รายย่อย
มากขึ้นเป็นข้อเสนอต่อรัฐ ที่ชัดเจนว่าวงเงิน 100,000 ล้านบาท มีรูรั่วรูใหญ่มาก!!!

๐ปีž60ธุรกิจเล็กอาการร่อแร่
มาตรการช่วยเหลือก๊อกแรกผ่านไปแบบน่าปวดหัว ขณะที่อาการของเอสเอ็มอีก็ยังไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในประเทศ ผู้บริหารท่านหนึ่งใน ส.อ.ท. ยอมรับว่ายังลำบากโดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งตลาดในประเทศจะหนักมาก เนื่องจากแรงซื้อในประเทศไม่ดี การแข่งขันด้านราคาสูงเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด ขณะที่ต้นทุนเองเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าแรง

๐เปิดตัวกองทุนช่วยเอสเอ็มอีแบบตรงจุด 38,000 ล้านบาท
ด้วยสถานการณ์เอสเอ็มอีที่เริ่มแสดงผลในหลายธุรกิจ ทำให้รัฐบาลตัดสินใจออกมาตรการใหญ่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีอีกครั้ง ภายใต้ทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด โดยออกมาตรการภายใต้กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ใช้งบประมาณจากงบกลางปี 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบ เงื่อนไขการขอกู้เงินจากกองทุนฯ มีระยะเวลาให้กู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปีตลอดอายุสัญญา โดยกลไกของกองทุนนี้คือดึงจังหวัดเข้ามาเป็นผู้พิจารณาเอสเอ็มอีที่สมควรได้รับสินเชื่อ มีผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และ กกร. เพื่อให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็นระบบ ตรงจุด ไม่มีปัญหาหนี้เสีย และเกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อเสริมอื่นๆ ทั้งจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วงเงิน 3,000 ล้านบาท รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลาคืนเงิน 7-10 ปี และสินเชื่อเอสเอ็มอี ทรานฟอร์เมชั่น โลน อีก 15,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ดอกเบี้ย 3% ระยะเวลาคืนเงิน 7 ปี ปลอดเงินต้น 1 ปี รวมวงเงินสินเชื่อสำหรับการช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งระบบ 38,000 ล้านบาท

๐จัดวงเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้รับโอกาส
กองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีของ สสว. ยังมีการจัดสรรให้ไมโครเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กมาก อาทิ ร้านค้าประชารัฐ ร้านหนูณิชย์วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อกู้ยืมรายละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาคืนเงิน 10 ปี ปลอดเงินต้น 3 ปีแรก ซึ่งไมโครเอสเอ็มอีที่มีปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ก็สามารถกู้ได้ นอกจากนี้ ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ยังจัดสรรเงิน 3,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ไมโครเอสเอ็มอีอีกทาง คิดดอกเบี้ย 1% รายละไม่เกิน 600,000 บาท ระยะเวลาคืนเงิน 7 ปีปลอดเงินต้น 3 ปีแรก

๐เล็งออกกม.กองทุนช่วยถาวร
กองทุนเริ่มเดินหน้าปล่อยสินเชื่อตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงปัจจุบันภาพรวมทั่วประเทศมีการปล่อยสินเชื่อแล้วรวม 26,000 ล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการ 9,700 ราย และจากท่าทีของรัฐบาลล่าสุด อยู่ระหว่างจัดทำ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เพื่อให้เป็นกองทุนถาวรเครื่องมือหลักในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในต้นปีหน้า วงเงินอยู่ระหว่างพิจารณา แต่เบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

จนถึงตอนนี้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลมีความตั้งใจ ความปรารถนาดีในการกู้ชีพเอสเอ็มอีไปจนถึงการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจประเทศอย่างแท้จริง แต่คำเปรียบที่ว่า ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำŽ น่าจะเป็นคำเตือนสำคัญ ให้ทุกนโยบายดำเนินการอย่างรอบคอบทั้งในปัจจุบัน จนถึงอนาคตที่ต้องมีมาตรการรัดกุม ไม่เช่นนั้นเครื่องมือต่างๆ คงไม่ต่างกับสารพัดโรคที่รุมเร้าประเทศจากหนี้เน่าของเอสเอ็มอี…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image