กรมชลฯปรับปฏิทินทำนา ทุ่งบางระกำและทุ่งเจ้าพระยาเกี่ยวข้าวได้ก่อนน้ำหลาก

กรมชลประทานรุกป้องกันปัญหาก่อนฤดูน้ำหลาก  ทั้งระบายน้ำ พร่องน้ำ เตรียมความพร้อมในพื้นที่เต็มพิกัด  ระบุการปรับปฏิทินเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำได้ผลตรงเป้าหมาย  ทุ่งบางระกำและทุ่งเจ้าพระยาเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวได้ก่อนน้ำหลาก

นายสัญชัย  เกตุวรชัย  อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมชลประทานเร่งรัดบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนให้พร้อม ทั้งการระบายน้ำ การพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำฝน และเตรียมความพร้อมของพื้นที่รองรับน้ำหลาก ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น คลองโผงเผง คลองบางบาล ทุ่งบางระกำ ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งผักไห่ เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมชลประทานเองจะเร่งแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ พร้อมทั้งประสานงานกระทรวงมหาดไทย  และจังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือทันท่วงที โดยเน้นการเตรียมการด้านบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ แผนการปฏิบัติงาน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 แห่ง คือ ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก 2.65 แสนไร่ และในทุ่งเจ้าพระยา 12 แห่ง พื้นที่รวม 1.15 ล้านไร่ กรมชลประทานได้จัดการบริหารจัดการน้ำรองรับน้ำหลากโดยปรับปฏิทินการเพาะปลูกจากเดิมที่ปลูกตามสภาพมาเป็นวันที่ 1 เมษายน 2560 สำหรับทุ่งบางระกำ และ 1 พฤษภาคม 2560 สำหรับทุ่งเจ้าพระยา 12 แห่ง ตามรายชื่อข้างต้น เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ทันก่อนน้ำหลากท่วม

นายสัญชัยกล่าวว่า การปรับปฏิทินทำนาในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 แห่ง ดำเนินการเป็นปีแรก โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ และมีการบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกองทัพ ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่า โครงการนี้มีโอกาสสำเร็จสูง ขณะนี้เริ่มทะยอยเก็บเกี่ยวข้าวกันแล้ว

Advertisement

การบริหารน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ สร้างประโยชน์ด้านการเลี่ยงผลกระทบน้ำท่วมนาข้าวที่กำลังตั้งท้องรอเก็บเกี่ยวช่วงน้ำหลาก เกษตรกรได้รับผลผลิตเต็มที่  โดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ยังตัดลดยอดน้ำที่จะลงมาท่วมด้านล่าง โดยผลักเข้าทุ่งในลักษณะแก้มลิงรวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่สามารถใช้ทำนาครั้งที่สองหรือปลูกพืชใช้น้ำน้อย  การกำจัดหนูนา เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล การจับปลาในพื้นที่แก้มลิง

“ที่สำคัญในทุ่งเจ้าพระยา ยังลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนนอกคันกั้นน้ำกับในคันกั้นน้ำ พอปลูกเร็วขึ้นก็เก็บเกี่ยวเร็วขึ้น ได้เงินเร็วขึ้นด้วย ช่วงกลางถึงปลายเดือนกันยายนก็สามารถผลักน้ำหลากเข้าทุ่งที่เก็บเกี่ยวแล้วได้ทันที  คนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำก็ไม่ต้องทนน้ำท่วมนานเหมือนปีก่อนๆ” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image