คอลัมน์ไฮไลต์โลก: สังคมยังเครียด!ญี่ปุ่นตั้งธงลดฆ่าตัวตาย

เอเอฟพี

ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่มีความเคร่งเครียดสูง ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความเครียดสูงนั้นมาจากสภาพความกดดันในการทำงานและการแข่งขันในสถานศึกษา ที่เป็นแรงผลักสำคัญให้คนคิดสั้นฆ่าตัวตาย

ญี่ปุ่นจัดว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ (จี7) ด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็ยอมรับว่าปัญหาฆ่าตัวตายในประเทศอยู่ในขั้นวิกฤต โดยในแต่ละปีมีคนในญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากกว่า 20,000 ราย

หากเทียบเป็นอัตราส่วน ในปี 2558 ญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตาย 18.5 ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นมีความมุ่งหมายที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศลงให้ได้ หลังจากที่อัตราฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นพุ่งขึ้นสู่จุดพีคสุดที่ 34,427 รายในช่วงปี 2546 ก่อนที่ในปีที่แล้วอัตราการฆ่าตัวตายของญี่ปุ่นจะลดลงอยู่ที่ 21,897 ราย

ปัญหาการฆ่าตัวตายที่ยังเลวร้าย ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นกลับมากำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ที่มุ่งจะลดอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศลงให้ได้ 30% ภายในเวลา 10 ปีข้างหน้า หรือให้เหลือต่ำกว่า 13.0 ต่อประชากรแสนคนให้ได้ภายในปี 2568 ซึ่งนับเป็นการทบทวนแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายของรัฐบาลญี่ปุ่นในรอบ 5 ปี จากที่เริ่มดำเนินยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในปี 2550

Advertisement

แนวทางการแก้ปัญหาภายใต้แผนยุทธศาสตร์ใหม่นี้ของรัฐบาลนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี มีรวมถึงการลดชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานสุดโต่งลง หลังจากมีกรณีตัวอย่างของพนักงานหญิงวัย 24 ปีในบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในญี่ปุ่นฆ่าตัวตายเพราะทำงานมากเกินไป การให้ความใส่ใจดูแลด้านสุขภาพจิตของคนทำงานเพื่อป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน การหามาตรการป้องกันนายจ้างหรือหัวหน้างานข่มเหงรังแกลูกจ้างหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา นอกจากนี้ยังจะมีการเปิดสายฮอตไลน์ตลอด 24 ชม. เพื่อให้คำปรึกษาและส่งเสริมความเข้าใจอันดีในสถานที่ทำงาน และจากการที่อัตราการฆ่าตัวตายของเยาวชนในญี่ปุ่นที่มีอยู่สูง รัฐบาลยังมีแผนหามาตรการส่งเสริมให้ความรู้แก่เยาวชนในการรับมือกับปัญหาที่เผชิญในโรงเรียนและพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชนเหล่านั้นด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image