รัฐบาลไทยกลัวตกขบวน เส้นทางสายไหม : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “ปลุกไทยคิดไกลดีดตัวรับ วัน เบลท์ วัน โรด นำไทยสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์โลก” ว่า

วัน เบลท์ วัน โรด ของจีนซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นหัวใจและโลกทั้งโลกกำลังจับตาดูเพราะเป็นส่วนเชื่อมทั้งทางบก ทะเลพาดผ่านเชื่อมหลายประเทศและทวีปเข้าด้วยกัน ตั้งแต่อาเซียน เอเชีย แอฟริกา ไปจนถึงยุโรป เกี่ยวข้องกับ 64 ประเทศทั่วโลก เชื่อมผู้คน 4,500 ล้านคนเข้าด้วยกัน เส้นทางนี้มีอิทธิพลอย่างมากในโลก มีผลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นทางนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและสร้างประโยชน์โดยตรงกับธุรกิจบริการโลจิสติกส์ไทยอย่างแน่นอน

ดังนั้นไทยต้องใช้ประโยชน์จากตรงนี้ ที่มีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของอาเซียนและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลมีอยู่ 21,763 ราย ต้องเรียนรู้รับการเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงให้รับการแข่งขันโดยโลจิสติกส์คือปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ธุรกิจแข่งขันได้

“ในทางการเมืองมีคนโจมตีรัฐบาลเยอะเรื่องทำรถไฟความเร็วสูงหนองคาย-กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ถ้าไม่ใช่รัฐบาลนี้จะไม่เกิดรถไฟความเร็วสูง เพราะติดกฎหมายจำนวนมาก ถ้าไม่ใช่รัฐบาลนี้ที่จะทำรถไฟความเร็วสูง เราจะตกขบวนวันเบลท์วันโรด หากไทยเข้าเส้นทางนี้ไม่ได้ ลองหลับตาดูว่าเส้นทางเชื่อม 4-5 ภูมิภาคนี้เราจะอยู่ตรงไหนของโลก ทุกท่านต้องใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้และมองจะเชื่อมโยงธุรกิจอย่างไร”

Advertisement

นายสนธิรัตน์กล่าวอีกว่า รัฐบาลนี้กล้าลงทุนมหาศาลกับโลจิสติกส์โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ตั้งแต่รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง กำลังจะมีการเชื่อมโยงกรุงเทพฯ-ระยอง ไปจนถึงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งถือเป็นไข่แดงของไทยหากไม่มีอีอีซี ไทยจะไม่มีวันแข่งขันกับเวียดนามได้ โดยอีอีซี ไทยได้ประกาศให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนและยังนับเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทั้งทางอากาศ ทะเล และบก ในการเชื่อมภูมิภาคโยงไปถึงจีน และเส้นทางวันเบลท์วันโรด (อ้างอิงจาก นสพ.มติชน วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2560 หน้า 17)

 

ครับ ! ฟังท่านรัฐมนตรีสนธิรัตน์พูดแล้วรู้สึกตื้นตันอย่างบอกไม่ถูกเพราะว่าผู้เขียนได้ไปค้นโครงการวัน เบลท์ วัน โรด ของจีน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย เส้นทางสายไหมทางบก คือถนนและทางรถไฟจากจีนมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก และเส้นทางสายไหมทางทะเล คือเส้นทางทางทะเลจากจีนมุ่งหน้าลงใต้แล้วเข้าสู่ทิศตะวันตก เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการค้าใน 3 ทวีป คือเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

Advertisement

นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเริ่มประกาศแนวคิดเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) ตั้งแต่ พ.ศ.2556 และได้เชิญผู้นำชาติต่างๆ มาร่วมประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในกรุงปักกิ่งของจีน ระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคม พ.ศ.2560 นี้เอง (โดยไม่เชิญผู้นำไทยไปร่วมด้วย)

ในพื้นที่ที่เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 พาดผ่าน จะมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ ถนน ทางรถไฟ และท่อส่งก๊าซและน้ำมัน ซึ่งทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่าโครงการเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ของจีนเป็นนโยบายทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนในการขยายอิทธิพลในพื้นที่ 3 ทวีปนี้นั่นเอง

ประเทศที่ต่อต้านโครงการนี้อย่างหนักคืออินเดียซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ตั้งข้อสงสัยว่าจีนจะใช้โครงการนี้ในการควบคุมทางยุทธศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดียและบ่อนทำลายอธิปไตยประเทศอื่น และนายโมดีปฏิเสธคำเชิญร่วมประชุมในวันที่ 14-15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่กรุงปักกิ่ง

ส่วนผู้นำจากประเทศในกลุ่มประเทศอุตสาห กรรมชั้นนำ 7 แห่ง หรือจี 7 (ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา) มีเพียงนายกรัฐมนตรีเปาโล เจนติโลนี ของอิตาลีเท่านั้นที่ตอบรับเข้าร่วมประชุมในโครงการเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้

แต่ที่สำคัญที่สุดคือผู้เขียนเช็กดูแผนที่โครงการวัน เบลท์ วัน โรด ไม่เห็นมีเส้นทางไหนทั้งทางบกและทางทะเลผ่านประเทศไทยเลยนี่ครับ (ดูรูป)

ครับ ! ดังนั้นท่าทีของจีนที่ไม่ใส่ใจและไม่ยอมลดราวาศอกให้กับไทยเลยในโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทยจึงชัดแจ้งโปร่งใสยิ่งนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image