ในรุก ยังมีรับ กรณี วัฒนา เมืองสุข ในรับ ยังมีรุก

การต่อสู้ระหว่าง นายวัฒนา เมืองสุข กับ “แผนกรกฎ 52” อันมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อยู่ในมือ

กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น

เป็นความเข้มข้นในลักษณะผลัดกัน “รุก” ผลัดกัน “รับ” ไม่ว่าจะมองจาก “แผนกรกฎ 52” ไม่ว่าจะมองจาก นายวัฒนา เมืองสุข

การส่ง “ตำรวจ” ไปแจ้งความที่ บก.ป.เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ถือเป็นการรุก

Advertisement

ขณะเดียวกัน หลังจากไปร่วมให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริเวณหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 1 สิงหาคม นายวัฒนา เมืองสุข ก็เข้าพบพนักงานสอบสวนที่ บก.ปอท.

ผลก็คือ ได้รับการปล่อยตัวกลับโดยไม่ต้องประกันตัว

แทนที่ “แผนกรกฎ 52” จะรุกอย่างเป็นฝ่ายกระทำ กลับถูก นายวัฒนา เมืองสุข พลิกจากตั้งรับไปอยู่ในฐานะรุกกลับ

Advertisement

ในทางรูปคดี นายวัฒนา เมืองสุข ตกอยู่ในสถานะเป็นผู้ถูกกล่าวหาและมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การตกเป็น “จำเลย” หากมีการส่งฟ้องศาลโดยอัยการสูงสุด

แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า “อัยการ” จะส่งฟ้องหรือไม่

เพราะไม่มีใครรู้ว่า บก.ปอท.มีหลักฐานอะไรอีกหรือไม่ นอกเหนือจาก “ข้อความ” ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

และจริงๆ “ข้อความ” นั้นเข้าข่ายมาตรา 116 มากน้อยเพียงใด

ยังไม่ทันที่ข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จะมีความคืบหน้า แต่ก็มีข่าวปรากฏว่า บก.ปอท.จะพิจารณาความผิดของ นายวัฒนา เมืองสุข อีกคดีจากเฟซบุ๊กเหมือนกัน แต่คราวนี้เป็นมาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เมื่อตำรวจใช้ “ยุทธวิธี” เดิม นายวัฒนา เมืองสุข ก็ใช้ “ยุทธวิธี” เดิมเหมือนกัน

นั่นก็คือ ไม่ต้องรอ “หมายเรียก” หากแต่ประกาศเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนที่ บก.ปอท.เหมือนกับเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม และยืนยัน

“จะวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปไม่ว่าจะนำทุกโพสต์ของผมไปแจ้งความก็ตาม”

ไม่ว่าการเดินทางไปพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท.ไม่ว่าการประกาศที่จะโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปของ นายวัฒนา เมืองสุข

ผลก็คือ ก่อให้เกิดการพลิก “สถานการณ์”

แปรสถานะของตนเองจากการถูกกล่าวหา จากการเป็น “จำเลย” ด้วยการเข้าไปดำรงอยู่ในฐานะกล่าวหา และทำให้อีกฝ่ายต้องกลายเป็น “จำเลย”

เท่ากับ ด้าน 1 “แผนกรกฎ 52” รุกไล่

ขณะเดียวกัน ด้าน 1 การตอบโต้จาก นายวัฒนา เมืองสุข ก็เท่ากับเป็นการเปิดโปงและโจมตีไปยังแต่ละก้าวย่างของ “แผนกรกฎ 52”

ในทางคดีความ นายวัฒนา เมืองสุข อาจเป็น “จำเลย”

ในทางการเมือง จำเลยกลับเป็น “แผนกรกฎ 52” เพราะเท่ากับมีเจตนาต้องการปิดปากและสกัดกั้นมิให้ นายวัฒนา เมืองสุข ได้เคลื่อนไหว

เริ่มจากวันที่ 1 และตามไปยังวันที่ 25 สิงหาคม

หากถึงวันที่ 25 สิงหาคม นายวัฒนา เมืองสุข ยังสามารถแสดงบทบาทได้ตามคำประกาศ เท่ากับยืนยันว่า “แผนกรกฎ 52” ล้มเหลว

จากนี้จึงเห็นได้ว่า แต่ละสภาพของแต่ละสถานการณ์ในทางการเมืองไม่มีใครสามารถอยู่ในฐานะรุกได้อย่างด้านเดียว

ตรงกันข้าม ในรุกก็ยังมี “รับ”

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ถูกมองและประเมินว่าถูกรุกอย่างต่อเนื่องก็สามารถพลิกกลับไปดำรงอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายรุกได้

ในรับจึงมีรุก ในรุกจึงมีรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image